posttoday

พร้อมหรือไม่? ลงทุนไอซีโอ

05 กุมภาพันธ์ 2561

สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องรู้ไว้เวลานี้คือไอซีโอยังไม่ใช่การลงทุนที่มีหน่วยงานกำกับใดเข้ามาดูแล แต่ก็ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ

โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

ช่วงนี้เรามักจะได้ยินกันหนาหูขึ้นเกี่ยวกับการประกาศระดมทุนในรูปแบบเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้คนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ ไอซีโอ

ฟังเผินๆ อาจรู้สึกว่า ไอซีโอ เป็นญาติกับการขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก(ไอพีโอ) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น...แต่ไม่ใช่เลย

เพราะการระดมทุนแบบไอซีโอไม่ได้ให้หุ้นที่มีสิทธิมีเสียงอะไรในบริษัทกับผู้ที่ลงทุน แต่เสนอผลตอบแทนให้เป็นเหรียญดิจิทัลที่สร้างขึ้นมาไว้ใช้งานหรือรับผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ผู้ระดมทุนระบุ หรืออาจนำเหรียญดิจิทัลไปขายในตลาดที่รองรับแลกปลี่ยนเหรียญดิจิทัลอยู่ ซึ่งก็ไม่ใช่ตลาดหุ้นที่มีหน่วยงานใดกำกับอยู่ดี

สรุปแล้ว สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องรู้ไว้เวลานี้คือไอซีโอยังไม่ใช่การลงทุนที่มีหน่วยงานกำกับใดเข้ามาดูแล แต่ก็ไม่ได้ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ

อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านไอซีโอถือเป็นรูปแบบการระดมทุนที่มาแรงมากในโลก ส่วนหนึ่งเพราะช่วยเปิดโอกาสให้คนที่ยังไม่เคยทำธุรกิจ เพียงแค่มีแนวคิดสามารถลองเสี่ยงขายฝันของตัวเองผ่านการนำเสนอไวท์เปเปอร์ เล่ารายละเอียดโครงการที่จะทำเพื่อระดมทุนก็ได้ ขณะที่บริษัทที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว อยากจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ นำเทคโนโลยีมาสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ แต่ไม่อยากไปกู้สถาบันการเงินก็ใช้วิธีนี้ได้

เมื่อไอซีโอคือกระแสของโลก กระแสนี้ก็ต้องมาถึงเมืองไทยสักวัน ซึ่งปีที่ผ่านมาก็มีการระดมทุนผ่านไอซีโอไปแล้วในต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้เรียกเสียงฮือฮา หรือสร้างกระแสสนใจได้มากเท่ากับในปีนี้ โดยเมื่อไม่นานมานี้ บริษัทในกลุ่มเจมาร์ทประกาศขายเหรียญดิจิทัลชื่อ “เจฟินคอยน์” 100 ล้านเหรียญ เพื่อระดมทุน 660 ล้านบาท หรือเหรียญละ 6.6 บาท เพื่อนำเงินไปพัฒนาระบบกู้ยืมเงินแบบดิจิทัลบนบล็อกเชนไม่ต้องอาศัยคนกลาง และปัจจุบันบริษัทออกเอกสารรายละเอียดการระดมทุน หรือไวท์เปเปอร์มาแล้ว

มาถึงตรงนี้อาจมีนักลงทุนสนใจไอซีโอแต่ก่อนจะเริ่มลงทุน อยากให้ทุกคนเริ่มต้นจากการถามตัวเองก่อนว่า “เรารู้จักไอซีโอดีแค่ไหน” และ “เราเหมาะกับการลงทุนไอซีโอหรือไม่”

ถ้ายังไม่แน่ใจว่าตัวเองควรลงทุนในไอซีโอที่ยังไม่มีกฎหมายใดๆ รองรับ ไม่มีหน่วยงานกำกับหรือไม่ ลองอ่านคำแนะนำต่อจากนี้

การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโคราผู้ให้คำปรึกษาการออกไอซีโอให้คำแนะนำว่า ไอซีโอถูกสร้างเพื่อนักลงทุนทั่วไป โดยธรรมชาติผู้ลงทุนในไอซีโอคือ นักลงทุนรายย่อย แต่หากมามองกันถึงความเหมาะสมของคนที่จะลงทุนในไอซีโอก็มีข้อแม้เพิ่มขึ้นมาอีกว่า ผู้ลงทุนต้องศึกษาโครงสร้างธุรกิจของผู้ที่ระดมทุนในรูปแบบไอซีโอให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน

เมื่อผ่านการศึกษาประเด็นนี้ไปแล้ว ลำดับถัดไปก็คือ ผู้ลงทุนต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจเรื่องของการแบ่งผลประโยชน์ของการลงทุนไอซีโอนั้นๆ

หลายคนอาจจะมองว่า คนที่จะลงทุนไอซีโอต้องมีเงินสกุลดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี)อยู่ในมือก่อน ซึ่งก็อาจจะถูกส่วนหนึ่ง เพราะการลงทุนไอซีโอไม่ได้ใช้เงินตราปกติไปแลก แต่ใช้คริปโตเคอเรนซีไปแลกเหรียญดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนอาจจะไม่มีคริปโตเคอเรนซีอยู่ในมือก็ได้ เนื่องจากสามารถนำเงินจริงๆ  ไปแลกเปลี่ยนเป็นคริปโตเคอเรนซีได้จากตลาดแลกเปลี่ยนออนไลน์ เพื่อนำไปซื้อไอซีโออีกทอด

จากขั้นตอนนี้เอง อีกสิ่งที่ผู้ที่เหมาะลงทุนในไอซีโอต้องเข้าใจคือ ความเสี่ยงของการแลกเปลี่ยนเงินปกติไปเป็นคริปโตเคอเรนซี

หากเข้าใจสิ่งที่กล่าวมาแล้ว สุดท้ายที่อยากให้ประเมินก็คือ ธุรกิจที่ระดมทุนไอซีโอไปมีเงื่อนไขแบ่งผลกำไร หรือประโยชน์คืนกลับมาสอดคล้องกับที่ตัวเราต้องการหรือไม่

เพราะนักลงทุนแต่ละคนต้องการผลตอบแทนในระยะเวลาไม่ต่างกัน บางคนรอนานได้ บางคนต้องการคืนกลับในเวลาสั้นๆ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วไอซีโอก็จะคืนผลตอบแทนมากที่สุดในช่วงเวลา 18 เดือนถึง 2 ปี

สุดท้ายนี้ต้องทำความเข้าใจเรื่องการทำกำไรจากไอซีโอ ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ 1.รอแบ่งผลประโยชน์จากธุรกิจที่ระดมทุนตามช่วงเวลาและรูปแบบผลประโยชน์ที่กำหนด และ 2.นำเหรียญดิจิทัลที่ได้มาจากการทำไอซีโอไปซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ผู้ลงทุนได้ผลตอบแทนกลับคืนมาในระยะเวลาที่สั้นลง

การดี กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในไทยยังไม่มีไอซีโอ พอร์ทัล หรือถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือผู้ที่จะมาทำหน้าที่คล้ายๆ กับ ก.ล.ต. เพื่อมาคัดกรองผู้ที่จะออกไอซีโอคอยดูความเป็นไปได้ของธุรกิจก่อนว่ามีกระบวนการที่ดีหรือไม่ เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับ เมื่อไหร่ก็ตามมีไอซีโอ พอร์ทัลแล้วก็จะช่วยคัดกรองได้ระดับหนึ่ง

ใครที่คิดว่า ตัวเองยังไม่มั่นใจมากพอว่า จะประเมินโครงการระดมทุนที่ออกมาได้ดีและครอบคลุมทุกประเด็นเพียงพอเวลานี้ จะรอให้ประเทศไทยมีไอซีโอ พอร์ทัล ก่อน แล้วค่อยเริ่มลงทุนไอซีโอก็ยังไม่สาย ซึ่งไอโคราคือหนึ่งในบริษัทที่แสดงตัวแล้วว่าต้องการจะเป็นไอซีโอ พอร์ทัล

ปัจจุบันมีบริษัทที่มาปรึกษากับบริษัท ไอโครา เพราะสนใจระดมทุนด้วยการออกไอซีโอช่วง 6 เดือนข้างหน้าแล้ว 6-8 บริษัท มูลค่าการระดมทุนรวมไม่ต่ำกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งหมดนี้เป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดกลางที่ต้องการขยายธุรกิจให้เติบโต แต่ไม่ต้องการระดมทุนด้วยการออกไอพีโอ รวมทั้งมีบริษัทที่ทำธุรกิจอยู่แล้วในต่างประเทศ ต้องการจะมาเปิดสำนักงานในไทยเพื่อเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการ

พร้อมหรือไม่? ลงทุนไอซีโอ

โกศล ทรัพย์ประเสริฐ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ยูนิคอร์น ออน เซ็น ผู้ดำเนินธุรกิจฟินสตรีทซึ่งเป็นเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ด้านการบริหารจัดการหนี้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ให้ข้อคิดสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในไอซีโอไว้อย่างน่าสนใจ โดยระบุว่า หากคิดจะลงทุนในไอซีโอหลักๆ อยากให้มองที่ความตั้งใจของบริษัทที่ออกไอซีโอมากกว่าว่าทำไปเพื่ออะไร เมื่อดำเนินการสำเร็จตามแผนงานที่จะทำแล้ว จะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้ธุรกิจได้หรือไม่ สร้างประโยชน์อะไรให้กับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ อย่ามองเพียงการซื้อไอซีโอ เพื่อนำเหรียญที่ได้ไปขายเก็งกำไรจากราคาที่สูงขึ้นอย่างเดียว

สรุปแล้ว หากทั้งหมดที่กล่าวมานักลงทุนเข้าใจดี และมีเงินมากพอจะไปเสี่ยงกับสิ่งที่ไม่มีหน่วยงานไหนมารับผิดชอบดูแลเมื่อเกิดความเสียหาย เชิญท่านไปทดลองได้ เพียงแต่เงินที่นำไปใช้ลงทุนในไอซีโอไม่ควรจะเป็นการนำเงินที่เก็บออมไว้สำหรับวัยเกษียณไปใช้ ควรจะเป็นเงินก้อนเล็กๆ ที่หากเสี่ยงสูญเสียไปแบบ 100% ก็ยังไม่สะเทือนกับบั้นปลายชีวิตของเรา

เราไม่ควรมองว่า เมื่อลงทุนไอซีโอไปแล้วจะนำเหรียญที่ได้ไปขายต่อเก็งกำไรได้ผลตอบแทนสูงๆ กลับมาอย่างเดียว แต่ควรมองถึงความเสี่ยงของไอซีโอด้วย เพราะเหรียญที่เราได้รับมาจากการซื้อไอซีโอจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ระดมทุนนำเงินไปเดินหน้าโครงการที่ขายฝันเราไว้ แล้วปรากฏว่าโครงการนั้นประสบความสำเร็จ เห็นเค้าลางมีอนาคต ในทางกลับกันหากนำเงินที่ได้ไปลงทุนจริง แล้วผลที่ได้ไม่เป็นอย่างที่คาด ประสบความล้มเหลว เหรียญที่ซื้อไป มูลค่าอาจกลายเป็นศูนย์ก็เป็นไปได้เช่นกัน

ใครพิจารณาแล้วรู้สึกว่าตัวเองยังเข้าใจไอซีโอไม่ 100% หรือไม่เข้าใจเลยแนะนำสั้นๆ อย่าเพิ่งไปลงทุน หารูปแบบการลงทุนอื่นที่ตัวเองเข้าใจดีลงทุนจะดีกว่า

เพราะคุณมีความเสี่ยงจะถูกหลอกลวงให้ลงทุนไอซีโอปลอมๆ ที่ออกโดยผู้ที่ไม่คิดทำธุรกิจจริง เสี่ยงถูกวงจรแชร์ลูกโซ่หลอกให้ร่วมลงขัน โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในไอซีโอ

เมื่อการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนก็ตั้งสติดีๆ มองให้รอบด้าน คิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเข้าไปลงทุน เพราะความเสี่ยงที่สำคัญมากๆ ของการลงทุนก็คือความไม่รู้ในสิ่งที่ลงทุนนั่นเอง