posttoday

สรท.ถกธปท.ปรับตัวสู้บาทแข็ง

12 มกราคม 2561

สรท.ลุยร่วมมือธปท. เตรียมพร้อมผู้ส่งออกเอสเอ็มอีบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมรับฟังคำแนะนำธปท. ปรับตัวสู้บาทแข็ง

สรท.ลุยร่วมมือธปท. เตรียมพร้อมผู้ส่งออกเอสเอ็มอีบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมรับฟังคำแนะนำธปท. ปรับตัวสู้บาทแข็ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) เปิดเผยก่อนเข้าพบนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่า ทีมงานของ สรท. นำโดย น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. มาพบผู้ว่าการ ธปท. ครั้งนี้ ตั้งใจมาขอรับฟังว่า ธปท. มีมาตรการอะไรจะนำมาใช้ในช่วงเวลานี้ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าบ้าง เนื่องจากเชื่อว่า ธปท.รู้ปัญหานี้ดีอยู่แล้ว

“ธปท. มีเครื่องมือเยอะ อยู่ที่จะนำเครื่องมือไหนมาใช้ในแต่ละช่วงเวลา โดยที่การดูแลนั้นถูกต้องตามระเบียบการเงินโลก” นายวิศิษฐ์ กล่าว

น.ส.กัญญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธาน สรท. กล่าวหลังเข้าพบผู้ว่าการ ธปท. ว่า จากการหารือได้ข้อสรุปถึงสาเหตุที่เงินบาทแข็งค่าว่าเป็นการแข็งค่าทิศทางเดียวกับภูมิภาค และส่วนหนึ่งเพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากตามการส่งออกดี ซึ่งปีนี้ส่งออกน่าจะโตได้ 5.5% น่าจะเกินดุลจากส่งออกเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่หลังจากนี้สรท.จะร่วมมือกับธปท. ในการช่วยอบรมให้ความรู้ผู้ส่งออกที่เป็นเอสเอ็มอี ให้มีความรู้เข้าใจการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น โดย ธปท. ได้ให้ข้อมูลว่าขณะนี้มีสิทธิล็อคเรตอัตราแลกเปลี่ยน ที่ธปท. ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้วงเงินทุกราย รายละ 3 หมื่นบาท เป็นเงินประกันซื้อการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นก็คงร่วมทำความเข้าใจให้ผู้ส่งออกเอสเอ็มอีมาใช้มากขึ้น

นอกจากนี้ ธปท. ยังแนะนำให้ผู้ส่งออกมีการค้าขายโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นโดยตรงมากขึ้น เช่น บาทกับริงกิต (มาเลเซีย) บาทกับ รูเปีย (อินโดนีเซีย) และบาทกับหยวน (จีน) และอนาคตก็คงจะมีบาทกับเยน (ญี่ปุ่น) ซึ่งปัจจุบันผู้ส่งออกยังค้าขายด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐสูงถึง 80% ของมูลค่ารวม ค้าขายด้วยสกุลเงินคู่ค้าโดยตรงแค่ 20% เท่านั้น หากเพิ่มได้ก็จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้

อีกประเด็นธปท. ยังแนะนำให้ใช้โอกาสที่บาทแข็งค่า ลงทุนนำเข้าวัตถุดิบ เครื่องจักร เพื่อมาพัฒนาประสิทธิภาพอีกด้วย

“เราเคยเห็นบาทแข็งค่าไป 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐมาแล้วเมื่อปี 2556 ก็ผ่านมาได้ โตได้ ตอนนี้ 31-32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็คงต้องรับให้ได้ เพียงแต่ผู้ส่งออกไม่ต้องการให้เงินบาทแข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นหรือคู่แข่งทางการค้า หากไม่แข็งค่าไปกว่าคู่ค้าก็รับได้” น.ส.กัญญภัค กล่าว