posttoday

เปลี่ยนใช้บัตรเอทีเอ็มติดชิป ต้นเหตุบัตรขาดตลาด

25 เมษายน 2559

อัตราการร้องเรียนของผู้บริโภคในทำนองว่า ธนาคารพาณิชย์ยัดเยียดบัตรเอทีเอ็มที่พ่วงประกันให้ลูกค้าเริ่มสูงขึ้นมาก

โดย...ชลลดา อิงศรีสว่าง

อัตราการร้องเรียนของผู้บริโภคในเรื่องบัตรเอทีเอ็มในช่วงนี้เริ่มมีสูงขึ้นมาก โดยการร้องเรียนหนักไปในทางกล่าวหาว่า ธนาคารพาณิชย์ยัดเยียดบัตรเอทีเอ็มที่พ่วงประกัน หรือพ่วงผลิตภัณฑ์การเงินอื่นให้กับลูกค้า โดยอ้างว่าบัตรเอทีเอ็มหมด หากต้องการได้บัตรเลยก็จะต้องเลือกบัตรเอทีเอ็มที่ปัจจุบันมักจะเป็นบัตรเดบิตประเภทอื่น

ลูกค้าเจอคำตอบบัตรหมดมักจะอ้ำอึ้งและส่วนใหญ่ที่ไปเปิดบัญชีมักจะต้องการใช้เงินด่วน เช่น ทำบัตรเพื่อรับโอนเงินมาจากบุคคลอื่นและต้องการใช้เงินทันทีก็รู้สึกไม่มีทางเลือก อาจทำบัตรเอทีเอ็มพ่วงผลิตภัณฑ์อื่นที่มักจะมีค่าธรรมเนียมสูงกว่าบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตเพียงอย่างเดียวไปก่อนและมาร้องเรียนในภายหลัง

แหล่งข่าวจากสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ปัญหาบัตรเอทีเอ็มหมดในช่วงนี้เป็นปัญหาของหลายธนาคารพาณิชย์จริง เกิดจากการเป็นรอยต่อในช่วงของการเปลี่ยนระบบเอทีเอ็มในประเทศไทยใหม่ทั้งหมด เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยจากระบบแถบแม่เหล็กเป็นระบบชิป เพื่อแก้ไขปัญหาการสกิมมิ่งข้อมูลบนแถบแม่เหล็กของมิจฉาชีพต่างชาติที่มักจะเข้ามาติดตั้งเครื่องคัดลอกข้อมูลบนบัตร และนำไปเบิกเงินสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในวงกว้าง เดิม ธปท.กำหนดให้เริ่มใช้ทั้งหมดในวันที่ 1 ม.ค. 2559 แต่เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบมากจึงเลื่อนมาให้มีผลบังคับใช้ใน
วันที่ 16 พ.ค.นี้

ฉะนั้น หลังจากวันที่ 16 พ.ค. 2559 เป็นต้นไป บัตรเอทีเอ็มที่ทำใหม่จะต้องเป็นบัตรติดชิปเท่านั้น ส่วนบัตรเก่าที่ลูกค้าถืออยู่ธนาคารจะทยอยเปลี่ยนจนกว่าจะครบ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จะไม่สั่งบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็กมาสต๊อกไว้ จึงทำให้ช่วงนี้บัตรเอทีเอ็มของธนาคารพาณิชย์บางแห่งหมด ทำให้ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ

ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2559 จำนวนบัตรเอทีเอ็มในระบบมีจำนวน 13,090,380 ใบ ส่วนบัตรเดบิตมีจำนวน 47,347,794 ใบ ดังนั้น บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตที่จะต้องถูกเปลี่ยนใหม่จะไม่ต่ำกว่า 40 ล้านใบ ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนบัตรสักช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ธนาคารทุกแห่งควรจะกำชับพนักงานให้แจ้งข้อมูลที่แท้จริงต่อลูกค้า ไม่ใช่ฉวยโอกาสขายผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้าต้องการแต่แรกจนทำให้เกิดการร้องเรียน หากลูกค้าสามารถรอได้ก็ควรจะให้รอ ไม่ใช่ให้ลูกค้าเสียค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า สมาคมธนาคารไทยได้ประชุมร่วมกับ ธปท.เป็นประจำในเรื่องการเตรียมการเพื่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด โดยเฉพาะตู้เอทีเอ็มที่มีอยู่ทั้งหมด ถ้าไม่เปลี่ยนตู้ใหม่ก็จะต้องติดเครื่องอ่านชิปในตู้เพิ่มเติม ซึ่งขณะนี้ได้ปรับปรุงตู้เอทีเอ็มพร้อมรับบัตรติดชิปแล้วประมาณ 80% และคาดว่าจะครบ 100% ในปลายปีนี้

“ช่วงนี้จะเห็นธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐปิดระบบเพื่อปรับปรุงถี่มาก นั่นคือการเตรียมการเพื่อการปรับระบบใหม่ พยายามให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากกดเงินแล้วเงินไม่ออกลูกค้าเดือดร้อน ธนาคารก็ไม่สบายใจ” แหล่งข่าวเปิดเผย

ทั้งนี้ ตู้เอทีเอ็มในประเทศไทยจะแบ่งเป็นสองระบบ คือ รับทั้งบัตรติดชิปและแถบแม่เหล็ก เพราะในบางประเทศไม่ได้ใช้บัตรเอทีเอ็มติดชิป ก็ต้องมีระบบแถบแม่เหล็กไว้รองรับการใช้บริการจากนักท่องเที่ยวด้วย ซึ่งปัจจุบันการใช้บริการจากต่างชาติก็มีจำนวนมากขึ้น และจะต้องไปเข้ากับระบบชำระเงินแห่งชาติของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ด้วย

สำหรับการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มของลูกค้านั้น ธนาคารพาณิชย์จะไม่คิดค่าเปลี่ยนบัตรเหมือนการทำบัตรหายหรือเปลี่ยนบัตรตามความต้องการของลูกค้า และกำลังพิจารณาว่าจะเปลี่ยนบัตรให้ลูกค้าอย่างไรที่จะให้ลูกค้าได้รับความสะดวกมากที่สุด