posttoday

ปมทะเลสาบสงขลา

23 ธันวาคม 2558

ทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ติดต่อกัน 3 จังหวัด  คือ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช  มีเนื้อที่ 1,000  ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ทั้งประมงและเกษตรพื้นบ้าน หรือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น ทะเลน้อย ใน จ.พัทลุง เป็นแหล่งรวมของสัตว์น้ำและนกชนิดต่างๆ

ทะเลสาบสงขลามีพื้นที่ติดต่อกัน 3 จังหวัด  คือ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช  มีเนื้อที่ 1,000  ตารางกิโลเมตร เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ทั้งประมงและเกษตรพื้นบ้าน หรือแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น ทะเลน้อย ใน จ.พัทลุง เป็นแหล่งรวมของสัตว์น้ำและนกชนิดต่างๆ

แต่ปัจจุบันรอบๆ ชายฝั่งทะเลสาบสงขลาบางส่วนถูกน้ำกัดเซาะเข้ามาชายฝั่งจนกินพื้นที่บริเวณชายฝั่งไปมาก หากไม่ดำเนินการแก้ไขจะถูกกัดเซาะอีกประมาณ 70 เมตร ตั้งแต่บริเวณหาดสมิหลาถึงหาดชลาทัศน์  สาเหตุเกิดจากลมเปลี่ยนทิศและที่สำคัญการสร้างโครงสร้างแข็งรุกล้ำชายหาด เช่น สร้างเขื่อนกั้นทรายและคลื่น สถานีสูบน้ำเสียบริเวณชายฝั่งทะเล การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก อนาคตข้างหน้าอาจได้เห็นทะเลติดกับถนน หากไม่แก้ไขอย่างเร่งด่วน

ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งบริเวณทะเลสาบสงขลาเกิดขึ้นมาเป็น 10 กว่าปี แต่ที่ผ่านมาชาวบ้านในพื้นที่พยายามเสนอผู้ที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาด้วยวิธีที่สมดุลตามธรรมชาติที่สุด เช่น ใช้วิธีเติมทรายเสริมชายหาด และรื้อโครงสร้างแข็งที่รุกล้ำออกไป เพราะงานวิชาการทางวิศวกรรม ระบุว่า หาดทรายที่ใกล้กับสิ่งก่อสร้างชายฝั่งจะเกิดการสะสมของทรายด้านต้นเขื่อน ส่วนด้านท้ายเขื่อนชายหาดจะถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง

เกี่ยวกับปัญหานี้ ทางเครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดสงขลาได้ฟ้องศาลปกครองสงขลาเพื่อเอาผิดผู้ว่าราชการจังหวัดพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้อหาทำโครงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณหาดสมิหลาถึงหาดชลาทัศน์ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อระงับการสร้างเขื่อนกั้นทราย และการสร้างแนวคอนกรีตกั้นคลื่น มีการตัดถนนลงไปบนชายหาดเพื่อให้รถบรรทุกและเครื่องยนต์เข้าไปทำงานในพื้นที่ได้  พร้อมขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว รวมถึงให้ศาลปกครองลงพื้นที่ดูสถานที่จริงด้วย

ต่อมาศาลปกครองก็ได้นัดให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ยตกลงกันในประเด็นข้อพิพาท เพราะเพียงเห็นต่างกันในวิธีการแก้ปัญหาแต่จุดหมายเดียวกันคือการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

วิธีการแก้ปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งด้วยการเติมทรายเสริมชายหาด ที่ทางชาวบ้าน จ.สงขลา เสนอต่อหน่วยงานของรัฐนั้น ในต่างประเทศนิยมใช้กัน เช่น หาดท่องเที่ยวที่ไมอามี่  สหรัฐอเมริกา แต่หากช่วงฤดูมรสุมมีลมคลื่นแรงโอกาสที่จะถูกกัดเซาะก็ย่อมมีมากกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องเสริมทรายบ่อย

แต่วิธีการแก้ปัญหาของหน่วยงานของรัฐในปัจจุบันกับโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้บดบังทัศนียภาพอันสวยงามของหาดสมิหลาและหาดชลาทัศน์ และมิได้ลดการกัดเซาะชายฝั่งแต่อย่างใดไม่คุ้มกับงบประมาณที่เสียไป ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่รอการสินใจของภาครัฐแต่ฝ่ายเดียว

ประเทศไทยได้สูญเสียพื้นที่จากการกัดเซาะชายฝั่งทั้งทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยเป็นจำนวนหลานแสนไร่ แต่วิธีการแก้ปัญหาของภาครัฐบางครั้งไม่ค่อยจะคำนึงวิถีชีวิตของคนในพื้นที่เท่าที่ควร มีการกระทบกระทั่งกันบ่อยฟ้องร้องเป็นคดีกันมากมาย เช่น ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน อ.จะนะ จ.สงขลา ก็เคยฟ้องศาลปกครองเรียกค่าเสียหายจากกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีกับพวกให้ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน  200 ล้านบาท ฐานทำให้ชายหาดบริเวณตำบลสะกอมเสียหาย เพราะสร้างเขื่อนกั้นทรายและคลื่นบริเวณปากบางสะกอมและยังกระทบต่ออาชีพประมงการจับสัตว์น้ำบริเวณชายหาด

หนทางแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและดีที่สุด คือ ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันรักษาสมบัติของชาติเพื่อรุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป