posttoday

กสทช.เผยระดับการแข่งขันไอซีทีไทยเพิ่มต่อเนื่อง

30 พฤศจิกายน 2558

กสทช.เผยระดับการแข่งขันไอซีทีของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจการประมูล 4 จี ช่วยให้เกิดการก้าวกระโดดในอนาคต

กสทช.เผยระดับการแข่งขันไอซีทีของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มั่นใจการประมูล 4 จี ช่วยให้เกิดการก้าวกระโดดในอนาคต

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธาน กสทช.แถลงว่า ในที่ประชุม ICT Indicators Symposium Hiroshima , Japan กำลังจะประกาศว่า ระดับการแข่งขันของ ICT ของไทยก้าวหน้า ลำดับสูงขึ้นติดต่อกัน 2 ปีแล้ว และปีนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี ICT Dynamic ที่สูงมากที่สุดในโลก

ผลการวิเคราะห์ได้ชี้ว่า การประมูลคลื่น 3G 2100MHz ยังมีผลบวกต่อประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และคาดว่า การประมูล 4G จะมีผลให้ไทยก้าวกระโดดในอนาคตอันใกล้

ขณะเดียวกัน มีการเจรจาความร่วมมือ กทค.กับกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร (MIC - Ministry of internal Affairs and Communications) โดยสืบเนื่องจากการประชุมระหว่าง รมว.กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารกับคณะกรรมการ กสทช.เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยหัวข้อความร่วมมือเรื่อง IOT (Inter - Operator Tariff) ที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองฝั่งมีการเจรจาทางธุรกิจร่วมกันโดยตรง เพื่อปรับลดค่าบริการ Roaming ทั้งบริการเสียงและข้อมูลลดลง

ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์แก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศ เนื่องด้วย กสทช.ได้เข้าร่วมงานประชุม The 13th World Telecommunication/ICT Indicators Symposium (WTIS - 2015) ที่กรุงฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม จึงได้มีการประชุมติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้ ผลปรากฏว่าผู้ประกอบการฝั่งไทย AIS , DTAC และ ทรูมูฟ กับผู้ประกอบการฝั่งญี่ปุ่น NTT Docomo , SoftBank และ KDDI โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยในบางรายได้มีการเจรจาปรับลดค่าบริการRoaming ลงไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคมและกำลังจะทยอยปรับภายในต้นปีหน้าต่อไป โดยการเจรจาในบางรายการกำลังเจรจาขอลดตั้งแต่ 10 - 72%

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันที่จะผลักดันความร่วมมือด้านต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ในหัวข้อเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ที่ทางประธาน กทค.ได้หยิบยกให้ทาง กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาให้ประสบการณ์ การจัดทำแผนการดูแลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริง รวมทั้งความร่วมมือป้องกัน โดยทั้งนี้ ประธาน กทค.ได้ให้ความสำคัญของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างยิ่งยวด (Critical Infrastructure) โดยปัจจุบันการเชื่อมต่อโทรคมนาคมได้แทรกเข้าไปอยู่ในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศหลายอย่าง เช่น โครงข่ายภาคการเงินการธนาคาร โครงข่ายการควบคุมสาธารณูปโภคต่างๆ โครงข่ายระบบสาธารณสุข โครงข่ายคมนาคมต่างๆ

ดังนั้น ถ้ามีการโจมตีไซเบอร์เข้าที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งยวดเหล่านี้ และไม่มีการป้องกันอย่างแข็งแรงพอ จะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้ นอกเหนือจากนี้ หัวข้อ IoT(Internet of Thing) ที่ทางญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทางประธาน กทค.อยากแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งทางด้านเทคโนโลยี การกำกับดูแล แนวทางการจัดสรรคลื่น เพื่อกระตุ้นให้มีการเกิดขึ้นของอุตสาหกรรม IoT ในประเทศไทย โดยคาดว่าหลังการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900MHz ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นจะมีการเร่งลงทุนโครงข่าย 4G ที่จะเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญให้มีการพัฒนาต่อยอดสำหรับอุตสาหกรรม IoT ต่อไปได้