posttoday

แฟรนไชส์ปี’59

20 ตุลาคม 2558

สัปดาห์ที่ผ่านมา ซัมซุง บิซิเนส ร่วมกับ Rakuten TARAD.com, ThaiFranchiseCenter.com และ Thaiware.com จัดสัมมนา “กลยุทธ์เพิ่มเม็ดเงินแบบติดปีกด้วยเทคโนโลยี” เปิดโอกาสนักธุรกิจรายย่อยที่สนใจมาร่วมรับฟังความรู้จากเหล่ากูรูในแวดวงการตลาดหลายสาขา รวมถึงกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่คนไทยยังให้ความสนใจในการลงทุน ทั้งเพื่อเป็นกิจการส่วนตัวและหารายได้เพิ่ม

สัปดาห์ที่ผ่านมา ซัมซุง บิซิเนส ร่วมกับ Rakuten TARAD.com, ThaiFranchiseCenter.com และ Thaiware.com จัดสัมมนา “กลยุทธ์เพิ่มเม็ดเงินแบบติดปีกด้วยเทคโนโลยี” เปิดโอกาสนักธุรกิจรายย่อยที่สนใจมาร่วมรับฟังความรู้จากเหล่ากูรูในแวดวงการตลาดหลายสาขา รวมถึงกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่คนไทยยังให้ความสนใจในการลงทุน ทั้งเพื่อเป็นกิจการส่วนตัวและหารายได้เพิ่ม

ชัยยุทธ วชิรโรจน์ไพศาล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ThaiFranchiseCenter.com ระบุแนวโน้มการเจริญเติบโตของธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในปัจจุบัน ถือว่าเป็นธุรกิจที่ง่ายสุดในการเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการของเอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันในไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 9 หมื่นราย เกิดใหม่วันละ 20 แห่ง และคาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มเป็น 850 บริษัท และตลาดแฟรนไชส์จะมีมูลค้าประมาณ 2 แสนล้านบาทในปี 2560

ขณะที่ในปัจจุบันกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีจำนวนมากที่สุดแบ่งออกเป็น 11 หมวดดังนี้ กลุ่มอาหาร 21.61% กลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีม 20.27% กลุ่มการศึกษา 16.63% กลุ่มโอกาสทางธุรกิจ 8.99% กลุ่มงานบริการ 8.03% กลุ่มความงาม 6.5% กลุ่มเบเกอรี่ 6.12% กลุ่มร้านค้าปลีก 5.35% กลุ่มสิ่งพิมพ์ 4.4% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 1.72% กลุ่มหนังสือและวิดีโอ 0.38%

ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในกลุ่มที่มีอัตราเติบโตสูงสุด คือ กลุ่มงานบริการ 32% เบเกอรี่ 31% กลุ่มโอกาสทางธุรกิจ 28% กลุ่มความงาม 26% กลุ่มค้าปลีก 26% กลุ่มการศึกษา 25% กลุ่มเครื่องดื่มและไอศกรีม 18% กลุ่มอาหาร 17% กลุ่มสิ่งพิมพ์ 16% กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 10% ส่วนกลุ่มหนังสือและวิดีโอ ไม่มีอัตราเติบโต

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ ระบุข้อมูลการสำรวจล่าสุดพบว่าในปัจจุบันมีมาสเตอร์แฟรนไชส์ในไทยทั้งสิ้น 1,500 ราย แบ่งเป็นกลุ่มค้าปลีก 46% อาหารและเครื่องดื่ม 28% บริการ 26% กลุ่มการศึกษา 6% และกลุ่มธุรกิจความงามและสปา 5%

สำหรับ 5 อันดับแฟรนไชส์ยอดนิยม คือ 1.ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น คิดค่าแฟรนไชส์ 1.5 ล้านบาท 2.ร้านปังสด ขนมปัง ค่าแฟรนไชส์ 2.5 หมื่นบาท 3.เอ็มมิลค์ นมสดแท้ 100% ค่าแฟรนไชส์ 1.5 หมื่นบาท 4.ไอซ์ เบบี้แฟรนไชส์ ค่าแฟรนไชส์ 1.1 แสนบาท และ 5.เชสเตอร์ ค่าแฟรนไชส์ (ค่าธรรมเนียมแรกเข้า) 7 แสนบาท จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์สนใจ ส่วนใหญ่แล้วจะยังเป็นธุรกิจด้านบริการอาหารและเครื่องดื่มที่มีขนาด (ไซส์) เล็ก หรือใช้งบลงทุนเริ่มต้นแฟรนไชส์ในหลักไม่เกินแสนบาทต่อแบรนด์ต่อจุด และแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2559 นี้ คาดว่าจะยังวนเวียนในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงไอศกรีมเช่นเดิม

โดยผู้ที่คิดจะทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้น มีคีย์เวิร์ดสั้นๆ ดังนี้ ห้ามหลอก ห้ามโกง และห้ามต้มตุ๋นใคร