posttoday

โต้งย้อนแบงก์ตัวการเพิ่มหนี้ครัวเรือน

16 กรกฎาคม 2556

กิตติรัตน์ย้อน “แบงก์” ตัวการเพิ่มหนี้ครัวเรือน คุยเลิกเก็บภาษีสรรพสามิต “อีโคคาร์”

กิตติรัตน์ย้อน “แบงก์” ตัวการเพิ่มหนี้ครัวเรือน คุยเลิกเก็บภาษีสรรพสามิต “อีโคคาร์”

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯและรมว.คลัง เปิดเผยกรณีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงเรื่องหนี้ครัวเรือน โดยระบุว่า ความเห็นส่วนตัวของตนเกี่ยวกับหนี้สินครัวเรือน จะเห็นได้ว่าคนที่ออกมาพูดเรื่องหนี้ครัวเรือน ล้วนแต่เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อหนี้ครัวเรือนทั้งนั้น หากเขากังวลเช่นนั้น ก็ควรจะควบคุมตัวเองให้ดี

“ภาคธุรกิจสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่ปล่อยสินเชื่อ ก็ควรควบคุมตัวเองให้ดี และถ้าท่านควบคุมตัวเองให้ดี ก็ไม่มีใครไปบังคับให้ปล่อยสินเชื่อ” นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินภาครัฐนั้น การที่มีการปล่อยสินเชื่อให้ผู้มีรายได้น้อย หรือเกษตรกรจำนวนหนึ่ง เพื่อไปทดแทนหนี้นอกระบบนั้น เป็นการทำให้หนี้นอกระบบที่ไม่เคยถูกรายงาน ถูกรายงานกลับมาในหนี้ระบบ และหนี้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ย 20% ต่อเดือน เหลือไม่ถึง 1% ต่อเดือน เป็นเรื่องที่ดีมาก

ส่วนกรณีที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ ระบุว่า รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจมาเป็นเวลา 12 เดือน แต่เศรษฐกิจกลับแผ่วลง นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในปี 2555 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 6.4% มากกว่าส่งออกที่ขยายตัว 3.1% ต้องถามว่าไม่ใช่เป็นเพราะวิธีการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้หรือ

“ฝากถามท่านโฆสิต ว่า ปี 2555 จีดีพีโตมากกว่าการส่งออก ไม่ใช่เพราะวิธีการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้หรือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็บอกว่าอย่ากระตุ้นเศรษฐกิจ แต่นักวิเคราะห์วิจารณ์ก็บอกว่าถ้าแผ่วแล้วไม่กระตุ้นเศรษฐกิจต่อหรือ ถ้ากลัวจะแผ่วก็ลดดอกเบี้ยอีกสิ บางทีก็มองเห็นแต่คนอื่น แต่ไม่มองเห็นตัว” นายกิตติรัตน์กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หากการลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่ง และการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามแผน เศรษฐกิจจะไม่แผ่ว และหากเอกชนกลัวว่าจะมีสินเชื่อในระบบจะเพิ่มขึ้นจากการปล่อยกู้สินเชื่อรถยนต์และบ้านใหม่ หากมีการควบคุมกันเอง หนี้ครัวเรือนก็อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้

นายกิตติรัตน์ ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เป็นสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด เนื่องจากมีการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพในต่างจังหวัด คนที่มีกำลังซื้ออยู่ก็เข้ามาซื้อ ซึ่งขอให้แยกแยะในส่วนนี้ด้วย และตนมั่นใจว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่เช่น การปล่อยสินเชื่อแก้ปัญหาหนี้สินนอกระบบอัตราดอกเบี้ยโหด รัฐบาลรู้ว่าทำอะไรอยู่ และมั่นใจว่าควบคุมได้

ส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อีโคคาร์ที่ทำให้หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า รถยนต์อีโคคาร์เครื่องยนต์ขนาดเล็ก และรัฐบาลไม่ได้นำงบมาอุดหนุนคนซื้อ แต่เป็นภาษีสรรพสามิตของเจ้าของรถเอง เมื่อถือครองรถยนต์เกิน 1 ปีก็คืนให้ผู้ซื้อรถยนต์ไป

“รถอีโคคาร์ความจริง ไม่อยากเก็บภาษีสรรพสามิตด้วยซ้ำไป เอาเป็นว่า หากฐานภาษีดีขึ้น รถเล็กๆไม่อยากเก็บภาษีสรรพสามิตเลย เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างเดียวก็ดีแล้ว แต่ถ้ารถแพงๆ ซีซีสูงๆ ใช้น้ำเปลือง ปล่อยคาร์บอนสูงๆ เรามาเก็บภาษีแพงขึ้นดีหรือไม่ ดังนั้น คนที่มีรถหรูๆดีๆอยู่แล้ว อย่าไปตำหนิคนที่ซื้อรถคันแรก 1,400 ซี.ซี.เลย”นายกิตติรัตน์ระบุ

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังการลงทุนโครงการน้ำและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งจะเบิกจ่ายได้ล่าช้ากว่ากำหนด นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จะพยายามทำให้ดีที่สุด ไม่ให้ช้ากว่ากำหนดมาก ประเทศนี้เป็นของทุกคน อะไรที่ไม่ควรจะช้าก็อย่าทำให้ช้าด้วยขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ส่วนขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดก็ช่วยกันทำอย่างจริงจัง

“อย่าไปกระตุ้นเดี๋ยว ดร.ประสาร (ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท.) เขาเสียใจ เขาเพิ่งห้าม”นายกิตติรัตน์กล่าว

ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการลดอัตราดอกเบี้ย นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า เงินที่ไหลออกตอนนี้ น้อยกว่าเงินที่ไหลเข้ามา และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบ 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 1.616 ล้านล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 8.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังยุคปัจจุบันไม่ได้มีความสุขที่เก็บภาษีเกินเป้ามาก

“การเก็บภาษีเกินเป้ามากๆ เป็นการดึงเงินจากระบบมาเก็บไว้ และปีนี้การเก็บภาษีก็เกินเป้าอยู่แล้ว ซึ่งผมไม่คิดว่ารัฐบาลอยากมีรายได้จากภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นเลย ยกเว้นเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งเราจะดูคำแนะนำของกระทรวงพลังงานเป็นหลัก เช่น กลุ่มเบนซินที่เป็นฟอสซิล และไบโอดีเซล” นายกิตติรัตน์กล่าว