posttoday

เอกชนหนุนขยายกรอบอาเซียนบวก6

06 สิงหาคม 2555

เอกชนหนุนรัฐเร่งเจรจาเอฟทีเออาเซียนบวก6 และไทย-อียู ด้านพาณิชย์เผยเตรียมเจรจากรอบอาเซียนบวก 6 ปี 2556 และจะเร่งเจรจาเอฟทีเอที่เจรจาค้างไว้ 3 ฉบับให้เสร็จภายในปีนี้

เอกชนหนุนรัฐเร่งเจรจาเอฟทีเออาเซียนบวก6 และไทย-อียู ด้านพาณิชย์เผยเตรียมเจรจากรอบอาเซียนบวก 6 ปี 2556 และจะเร่งเจรจาเอฟทีเอที่เจรจาค้างไว้ 3 ฉบับให้เสร็จภายในปีนี้

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายในงานสัมมนา “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 : โอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม” ว่า เห็นด้วยกับการเจรจาข้อตกลงขยายการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค หรืออาเซียนบวก 6 เนื่องจากปัจจุบันจะมองตลาดอาเซียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ และหากเกิดข้อตกลงที่ขยายตัวมากขึ้นจะช่วยขยายการทำธุรกิจได้เช่นเดียวกัน เพราะธุรกิจบางประเภทไม่สามารถลงทุนได้แล้วในเมืองไทย เช่น การผลิตที่ใช้แรงงานมาก

ทั้งนี้ การขยายตลาดก็จะมาพร้อมกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องเตรียมพร้อม โดยการเสริมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตมากขึ้น รวมทั้งต้องรวมกลุ่มกันเป็นคลัสเตอร์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ซัพพลายเชนในประเทศ

นอกจากนี้ การเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยยังทำค้างไว้ ก็ควรเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู) เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าทุนจากอียูค่อนข้างมาก และสิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศด้วยพัฒนา (จีเอสพี) จากอียูก็กำลังจะถูกตัด จึงจำเป็นต้องเปิดเอฟทีเอ หากไทยไม่ทำประเทศอื่นๆ ก็จะทำ เช่น มาเลเซีย ที่การเจรจากับอียูคืบหน้าไปมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้การค้าขายจะขยายตัว แต่ไทยยังมีอุปสรรคปัญหาด้านกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการค้าเสรี เพราะยังใช้กฎหมายเดิมที่เน้นการควบคุม มากกว่าก่อให้เกิดการส่งเสริม ซึ่งประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ได้แก้ไขไปแล้ว โดยส.อ.ท.อยู่ระหว่างการรวบรวมอุปสรรคปัญหาทั้งหมดเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เร่งแก้ไข

นางศรีรัตน์  รัษฐปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาเซียนเตรียมเจรจาข้อตกลงขยายการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement : RCEP) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในต้นปี 2556  ซึ่งจะเป็นข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ยุคใหม่ที่พัฒนาจากข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจารายประเทศมาเป็นข้อตกลงร่วมกันทั้งหมด

ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กัมพูชาในเดือน พ.ย.2555 จะประกาศการเจรจาข้อตกลงดังกล่าว  ซึ่งเมื่อประกาศเสร็จแล้วแต่ละประเทศจะไปจัดทำรายละเอียดข้อเจรจาและกฎหมายภายในประเทศ โดยกรอบการเจรจาของไทยจะต้องผ่านขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190

สำหรับข้อตกลงเอฟทีเอฉบับที่ยังเจรจาค้างอยู่ จะเร่งเจรจาให้เสร็จภายในปีนี้ มี 3 ประเทศ คือ เอฟทีเอไทย-เปรู เอฟทีเอไทย-ชิลี และเอฟทีเอไทย-อินเดีย  ซึ่งคาดว่าภายในเดือน ก.ย.นี้น่าจะได้ข้อสรุป  ขณะเดียวกันจะมีการประชุมคณะกรรมการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐเดือน ต.ค.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจร่วมกัน เช่น ระบบศุลกากร สิทธิพิเศษทางศุลกากร (จีเอสพี)