posttoday

ธปท.แนะรัฐลดประชานิยมสร้างหนี้ครัวเรือน

31 กรกฎาคม 2555

ประสารแนะรัฐลดนโยบายประชานิยม-สร้างหนี้ครัวเรือน ชี้ควรเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ย้ำจีดีพีโตไม่ใช่เครื่องยืนยันศก.แข็งแกร่ง

ประสารแนะรัฐลดนโยบายประชานิยม-สร้างหนี้ครัวเรือน ชี้ควรเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงปัจจัยพื้นฐาน ย้ำจีดีพีโตไม่ใช่เครื่องยืนยันศก.แข็งแกร่ง

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวปาฐกถาเรื่อง"จีดีพี ปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยแค่ไหน" ในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอย่างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี ถือว่าวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ระดับตามหลักสากล ซึ่งเอกชนเองก็ใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ และภาครัฐใช้ประกอบการวางนโยบายเพื่อพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศ

ธปท.แนะรัฐลดประชานิยมสร้างหนี้ครัวเรือน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล

ทั้งนี้จีดีพีไม่ใช่เครื่องยืนยันว่าเศรษฐกิจจะแข็งแกร่งได้ เพราะถ้าจะให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ 1.ความสมดุลของการเติบโต คือต้องไม่มาพร้อมกับแรงจูงใจให้มีการเก็งกำไร ไม่สร้างธุรกิจหรือครัวเรือนก่อหนี้จนเกินตัว หรือสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อหละหลวม รวมทั้งทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจต้องเติบโตอย่างเข้มแข็งไปพร้อมกัน เพราะถ้าปล่อยให้ด้านใดด้านหนึ่งโตเกินไปไม่สมดุลจะเกิดปัญหาเหมือนปี 2540 ที่โตสูงมากแล้วกลับมาติดลบและเข้าสู่วิกฤต ที่ไทยเคยเกิดมาแล้ว หรือในยุโรปที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

2.การมีพัฒนาการในการเติบโต มีประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของของประเทศ และ 3.ต้องมีการกระจายโอกาสให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ความเหลือมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมควรลดลงประชาชนได้ประโยชน์จากการเติบโตถ้วนหน้า พร้อมกับมีโอกาสเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างเท่าเทียม ทั้งโอกาสเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล ความคุ้มครองทางกฏหมายและแหล่งเงินทุน

"ในด้านที่ธปท.เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็ได้มีเริ่มเข้าไปทำบ้างแล้ว เช่น สนับสนุนคนทุกระดับโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น ดูแลไม่ให้เป็นเหยื่อมิจฉาชีพ และการลดค่าครองชีพทางอ้อมของประชาชนไม่ให้สูงขึ้นด้วยการดูแลเงินเฟ้อ สำหรับปีนี้จีดีพีที่เราประมาณไว้ว่าจะโต 5.7% ถือว่าค่อนข้างอยู่ในระดับสูง อยู่ในระดับที่ดี แต่โดยรวมไทยควรมีการลงทุนให้มากขึ้นเพื่อยกระดับการแข่งขันประเทศ เพราะการทำให้เศรษฐกิจโตแข่งขันได้เมื่อเปิดเออีซี ไม่ใช่แค่มีนโยบายใช้งบประมาณมากๆ หรือส่งเสริมครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้น เพราะตอนนี้ครัวเรือนที่รายได้ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นบาทต่อเดือนเริ่มมีระดับหนี้สูงในระดับน่าเป็นห่วงแล้ว"นายประสารกล่าว