posttoday

คลอดกม.ปิโตรเลียม

23 มิถุนายน 2560

รัฐบาลคลอดกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คาดเปิดทีโออาร์ดึงเอกชนสำรวจได้ ก.ค.-ส.ค.นี้รู้ผล ก.พ. 2561

รัฐบาลคลอดกฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ คาดเปิดทีโออาร์ดึงเอกชนสำรวจได้ ก.ค.-ส.ค.นี้รู้ผล ก.พ. 2561

นายวีระศักดิ์  พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  เปิดเผยว่า  ขณะนี้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ...และ พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม พ.ศ. ... มีผลบังคับใช้แล้วตามที่ได้ประกาศลงใน พระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะเร่งทำกฎหมายลูก 5 ฉบับและกฎกระทรวง 1 ฉบับ เรื่อง การใช้รูปแบบระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) โดยเร็วที่สุด หลังจากนั้นจะ เร่งกำหนดเงื่อนไขร่างสัญญาประมูล (ทีโออาร์) การคัดเลือกผู้ประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 คือแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนที่จะประกาศทีโออาร์ต่อไป

ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินงานทุกอย่างยังเป็นไปตามกรอบเวลาที่ พล.อ. อนันตพร กาญจนรัตน์  รมว.พลังงานกำหนด คือเปิดทีโออาร์ได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้ และคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือน ก.พ. 2561

ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอประกาศจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 อย่างเป็นทางการเพื่อแก้ไขการให้อำนาจแก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ในกิจการปิโตรเลียม  ซึ่งหลังจากนี้จะทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ 7 รายที่หยุดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไปตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้กลับมาดำเนินการได้ปกติ โดยคาดอัตรากำลังการผลิตจะกลับมาเหมือนเดิมภายใน 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 วันที่ ผู้ประกอบการ 7 ราย ต้องหยุดการ ผลิตปิโตรเลียมส่งผลกระทบต่อความเสียหายที่ต้องหยุดดำเนินการผลิตไป คิดเป็นมูลค่าประมาณ 950 ล้านบาท เมื่อคำนวณกับอัตรากำลังผลิตที่ต้องใช้เวลาทยอยกลับมาผลิตใน 1 เดือนทำให้ เกิดความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่ค่าภาคหลวงที่รัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 125 ล้านบาท และองค์กร ส่วนท้องถิ่นเสียรายได้ 75 ล้านบาท

ด้านกิจการปิโตรเลียมที่จะใช้พื้นที่ ส.ป.ก.รวมถึงกิจการพลังงานทดแทนและกิจการเหมืองแร่ เมื่อมีคำสั่งมาตรา 44 จะเป็นการปลดล็อกให้กับรายเดิม ที่ติดปัญหาทันทีแต่สำหรับรายใหม่นั้น ส.ป.ก.จะต้องไปออกหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่ชัดเจนภายใน 90 วัน หลังมีคำสั่งมาตรา 44  โดยหากมีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย กรมจะได้ทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทผู้รับสัมปทานปฏิบัติ ตามกรอบของกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

นายปริญญา เพ็งสมบัติ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเชิญ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานแจกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 36/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตร กรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในปี 2560 ส.ป.ก. มีพื้นที่เป้าหมายแจกเอกสารสิทธิ 1 แสนไร่ แต่ในเบื้องต้นสามารถแจกได้  1.6 หมื่นไร่

นายสมปอง  อินทร์ทอง เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กล่าวว่า ส.ป.ก.เตรียมจัดที่ดินและมอบเอกสารสิทธิให้แก่เกษตรกร ในรูปแบบสหกรณ์ได้ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.สุราษฎร์ธานี สระแก้ว เชียงใหม่ กาญจนบุรี นครราชสีมาและชลบุรีจำนวน 24 แปลง เนื้อที่ 16,742 ไร่ สามารถรองรับเกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินได้ จำนวน 1,384 ราย  เพื่อนำที่ดินเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน โดยในระยะแรก ส.ป.ก. ดำเนินการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่แล้ว เนื้อที่ 3 หมื่นไร่ จำนวน 33 แปลง ในพื้นที่ 9 จังหวัด และระยะที่สอง ในพื้นที่ส่วนที่เหลือเนื้อที่ประมาณ 7 หมื่นไร่ จำนวน 71 แปลง ในพื้นที่ 14 จังหวัด จะดำเนินการให้แล้วเสร็จครบ 1 แสนไร่ ในปี 2560

"จะเสนอ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ให้เชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการมอบหนังสือเข้าทำประโยชน์ ในเขตปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรใน รูปแบบสหกรณ์ ที่ จ.สระแก้ว ซึ่ง ส.ป.ก. มีการพัฒนาพื้นที่พร้อมทั้งส่งเสริมการ ปลูกหญ้าเนเปียร์ เป็นต้น" นายสมปอง กล่าว