posttoday

'ปตท.สผ.'แทงกั๊กบุกบ่อก๊าซเชฟรอน

02 มิถุนายน 2559

ซีอีโอ ปตท.สผ. ปัดไม่ตอบร่วมประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณกับเชฟรอนหรือไม่ ชี้เจ้าของเดิมเหมาะผลิตต่อ

ซีอีโอ ปตท.สผ. ปัดไม่ตอบร่วมประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณกับเชฟรอนหรือไม่ ชี้เจ้าของเดิมเหมาะผลิตต่อ

นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เปิดเผยกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้เปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566  ได้แก่ แหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต และแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สผ. ว่า ปตท.สผ.อยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูล เพื่อ เข้าประมูลแหล่งก๊าซฯ บงกช ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมอยู่ เนื่องจากให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการผลิต และทำให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงาน

"ในส่วนแหล่งเอราวัณของเชฟรอน ปตท.สผ.จะเข้าไปร่วมประมูลด้วยหรือไม่นั้น ยังไม่ขอตอบในเรื่องนี้ แต่คิดว่าในหลักการการดำเนินการของผู้รับสัมปทานรายเดิมดีที่สุด ส่วนที่มีกระแสข่าว ปตท.สผ.สนใจจะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มของแหล่งอาทิตย์ ซึ่งมีเชฟรอนเป็นผู้รับสัมปทานนั้น ปัจจุบันมีแหล่งปิโตรเลียมหลายประเทศที่มีการเสนอขาย ซึ่ง ปตท.สผ.สนใจ ทั้งหมด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียและศักยภาพการลงทุนว่าคุ้มค่าหรือไม่" นายสมพร กล่าว

นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในช่วงรอยต่อของการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุสัมปทานนั้น อาจทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) มาใช้ในการผลิต ไฟฟ้ามากกว่าแผนที่กำหนดไว้ และจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จะมีส่วนสำคัญ ในการลดผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

"จำเป็นต้องเร่งให้โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา เกิดให้ได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2558-2579 (พีดีพี  2015) เพราะจะช่วยสร้างความสมดุล ของเชื้อเพลิงที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าได้ เนื่องจากในช่วงรอยต่อของการประมูลแหล่งสัมปทานฯ ปริมาณก๊าซฯ จะเริ่มลดลงหรือขาดตอน จนต้องมีการนำเข้าแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณการในช่วงปลายแผน  ที่คาดว่าจะต้องนำเข้า 22 ล้านตัน/ปี" นายสุนชัย ระบุ

นายสุนชัย กล่าวว่า ยังมีความมั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่จะเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย แม้ว่าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะล่าช้าไปกว่าแผน 1 ปีแล้วก็ตาม ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา ได้จัดส่งรายงานผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้กับคณะกรรมการชานาญการสิ่งแวดล้อมแล้ว หากอนุมัติได้ภายในเดือน มี.ค. 2560 การก่อสร้างจะเริ่มได้ตามแผนที่กำหนดไว้

สำหรับโครงการสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำรองรับการนำเข้า (เอฟเอสอาร์ยู) 5 ล้านตัน/ปี ที่กพช.เห็นชอบแล้วนั้น เบื้องต้นจะสร้างบริเวณปากน้ำบางปะกง เพื่อจัดส่งก๊าซฯ ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยจะใช้เวลาเตรียมการ 4 ปี