posttoday

จับตาตลาดรถในประเทศ มองภาพบวกในปัจจัยลบ

13 มกราคม 2561

ตลาดรถยนต์ปี 2560 พลิกกลับเป็นบวกครั้งแรกรอบ 5 ปี คาดปีนี้ฟื้นต่อแตะ 8.8-9 แสนคัน หลังมีสัญญาณบวกให้เห็นท่ามกลางปัจจัยลบ

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์    

ย้อนกลับไปมองถึงตลาดรถยนต์ปี 2560 นับเป็นปีแรกที่ตลาดพลิกกลับมามีตัวเลขบวกครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังโครงการรถยนต์คันแรกสร้างผล กระทบต่อตลาดและทำให้ตลาดรถยนต์ไทยหดตัวหนักต่อเนื่องมาหลายปี

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปี 2560 ตลาดรถยนต์ในประเทศ ไทยจะอยู่ที่ 8.6 แสนคัน เติบโตขึ้นราว 11.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ถือได้ว่าเป็นตัวเลขที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวรวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่ม เช่น เกษตรกรที่ ดีขึ้น และการปลดล็อกรถในโครงการรถคันแรก รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ในช่วงปีที่ผ่านมา

ขณะที่รถยนต์นั่งกลับมาฟื้นตัว ดีขึ้นมากในปี 2560 จากรถยนต์นั่งขนาดเล็ก รถยนต์นั่งอเนกประสงค์ และรถยนต์นั่งหรู เนื่องจากมีรถรุ่นใหม่ๆ ในกลุ่มนี้ออกมาหลายรุ่น ประกอบกับมีการเสริมนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะนวัตกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าเฉพาะกลุ่ม จึงมีการคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์นั่งจะขยายตัว 18% และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์คาดว่า จะเติบโตอยู่ที่ 7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยรถปิกอัพ 4 ประตูเป็นกลุ่มที่มี ยอดขายเติบโตดีที่สุดในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นประเภทรถที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อนิยมซื้อทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องการขออนุมัติสินเชื่อ

ในปี 2561 คาดว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศอาจแตะระดับ 8.8-9 แสนคัน หรือว่าจะขยายตัว 2-5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยทิศทางการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2561 แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยลบจากราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มไม่ฟื้นตัวดีขึ้นหลังคาดว่าผลผลิตจะออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ขณะที่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มฐานรากยังคงมีแรงกดดันอยู่

ด้านปัจจัยบวก การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออกที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อน อีกทั้งการท่องเที่ยวในประเทศที่ยังคงขยายตัวจากทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศที่เดินทาง ท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น

ขณะที่ธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ มี แนวโน้มเติบโตสูงส่งผลให้รายได้ ภาคบริการเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้การบริการขนส่งที่มากขึ้น และระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มทรงตัวในปี 2561 เป็นผลเชิงบวกให้สถาบันการเงินไม่มีปัจจัยกดดันให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดเป็นพิเศษในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่ต้นทุนในการ ถือครองรถยนต์ของผู้ซื้อก็ไม่มีแรงผลักให้ต้องเพิ่มขึ้นจากปีก่อนด้วย

นอกจากนั้น ผู้ซื้อรถยนต์จำนวนมากในโครงการรถคันแรกที่ถือครองมาจนครบกำหนดมากกว่า 5 ปี ในปี 2561 นี้ มีโอกาสที่จะทยอยขาย รถยนต์ในโครงการเพื่อเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่มากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งถือครองรถยนต์มานานกว่า 7 ปีแล้ว เนื่องจากโครงการรถคันแรกเริ่มต้นตั้งแต่เดือน ก.ย. 2554 และทิศทางการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องตลอดปี โดยเฉพาะรถยนต์พลังงานทางเลือกรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะมีเปิดตัว ออกมาหลายรุ่น โดยเฉพาะประเภทรถยนต์นั่งหลากหลายขนาด รวมถึงรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ที่กำลังได้รับความนิยม ขณะที่ค่ายรถต่างยังคงมีแนวโน้มการใช้กิจกรรมส่งเสริมการตลาดออกมาต่อเนื่อง เช่น การปรับลดราคารถยนต์ในบางรุ่น ทำให้การแข่งขัน ในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง

จากทิศทางตลาดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ของไทยในปี 2561 มีแนวโน้มที่เอื้อประโยชน์ต่อการขยายตัวของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศมากกว่ารถเพื่อการพาณิชย์ที่ได้รับแรงกดดันจาก ระดับราคาสินค้าเกษตรที่จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น เป็นไปได้ที่ปีนี้การแข่งขันของตลาดจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง สอดคล้องกับการคาดการณ์ของเหล่าบรรดาผู้ประกอบการที่มองว่าตลาดรถยนต์ในปีนี้จะมีการฟื้นตัวดี แต่ทุกคนยังคงเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่คาดฝันและเหตุการณ์ ที่เกินควบคุม ซึ่งหลังจากนี้มีความ เป็นไปได้ว่าการปรับประมาณการ คาดการณ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เวลานั้น

วันนี้ทำให้ภาพที่ออกมาในการคาดการณ์ของตลาดจึงกลายเป็นภาพที่ทุกคนคาดการณ์แบบระมัดระวังด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นและมองเห็นในวันนี้ซึ่งก็มีทั้งบวกและลบในตลาดที่แตกต่างกันออกไป คงจะต้องภาวนาให้สถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นตามความเป็นไปของทิศทางที่สิ่งนั้นควรจะเป็น