posttoday

"จ้างพี่เลี้ยงเด็ก"...เรื่องน่าปวดใจของพ่อแม่รุ่นใหม่

07 มีนาคม 2560

ทำอย่างไร? เมื่อพ่อแม่ผู้ปกครองต้องฝากชีวิตลูกน้อยไว้กับ"พี่เลี้ยงเด็ก"

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภาพพี่เลี้ยงแสดงพฤติกรรมดุด่า ทำร้ายทุบตีเด็กๆ ปรากฎเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งในสังคม สร้างความสะเทือนใจให้แก่คนเป็นพ่อแม่ยิ่งนัก

ในวันที่หลายครอบครัวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน จำเป็นต้องจ้างพี่เลี้ยงหรือฝากลูกไว้ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก คำถามที่ตามมาคือ จะไว้ใจคนที่มาทำหน้าที่เลี้ยงลูกของเราได้จริงหรือ

คิดให้ดีก่อนเลือก"พี่เลี้ยงเด็ก"

สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบัน ประกอบกับความเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น  ผลักดันให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และมักประสบปัญหาขาดแคลนคนเลี้ยงดูลูก จำเป็นต้องฝากเลี้ยงยังสถานรับเลี้ยงเด็กหรือจ้างพี่เลี้ยงมาดูแลถึงบ้าน 

ครูยุ่น-มนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก บอกว่า ในฐานะนายจ้าง พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องคัดกรอง ตรวจคุณสมบัติและข้อมูลประจำตัวเบื้องต้นของลูกจ้างอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของเด็ก

“คัดเลือกคนที่มีประสบการณ์ หรือได้รับการคอนเฟิร์มจากคนรู้จัก เราจะได้รับรู้นิสัยเบื้องต้นของเขา ไม่ใช่ไปประกาศเอาใครก็ไม่รู้มา ต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีหลักฐานส่วนบุคคลครบถ้วน ในด้านร่างกายต้องขอใบรับรองจากแพทย์ เช็คว่ามีประวัติเป็นโรคติดต่อไหม พยายามสังเกตตามร่างกาย มีความเสียหายจากโรคหรือความรุนแรงอื่นหรือไม่  เป็นไปได้เลือกคนที่เคยผ่านการอบรมการเลี้ยงดูเด็กเล็กจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนได้ยิ่งดี”

"จ้างพี่เลี้ยงเด็ก"...เรื่องน่าปวดใจของพ่อแม่รุ่นใหม่

นอกจากประสบการณ์ สิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญคือ ทักษะเฉพาะทางของพี่เลี้ยง การระมัดระวังในเครื่องความปลอดภัย เนื่องจากพี่เลี้ยงเป็นอาชีพที่ต้องให้เวลาอย่างเต็มที่กับเด็ก ละสายตาไม่ได้เด็ดขาด

ครูยุ่น บอกว่า ขณะสัมภาษณ์พูดคุยกับพี่เลี้ยง ผู้จ้างอาจทดลองให้เขาลองเล่นกับเด็ก และสังเกตเวลาที่เขาอยู่กับเด็กว่ามีทักษะด้านการพัฒนา ทักษะด้านความปลอดภัย และภาวะด้านจิตใจที่ดี ตลอดจนท่าทีในลักษณะระมัดระวังความปลอดภัยอยู่เสมอหรือไม่

“เรื่องเหล่านี้เป็นรายละเอียดสำคัญ อาจจะดูยากสักหน่อย แต่ต้องพยายามสอบถาม สังเกตให้ได้มากที่สุด ตอนสัมภาษณ์อาจลองโยนปัญหาให้เขาแก้ไข เช่น เด็กตัวร้อนไม่สบายคุณจะทำอย่างไร เด็กร้องไห้อยู่ มีโทรศัพท์ดังขึ้นจะทำอย่างไร ดูการพูดคุย การอุ้ม การหยอกล้อ การปลอบโยน และการควบคุมอารมณ์ตัวเอง อย่าเอาคนลักษณะบ้าพลัง ขี้หงุดหงิด หรือเป็นพวกที่คิดแต่จะบังคับเด็กมาทำงาน พี่เลี้ยงที่ดีควรจะเป็นคนรักเด็ก ชอบอยู่กับเด็ก ทนเสียงร้องได้  มีความคิดสร้างสรรค์หากิจกรรมทำกับเด็กได้ เช่น เล่านิทาน ร้องเพลง"

ครูยุ่นบอกว่า การกำหนดกฎระเบียบและบทบาทการทำงานให้ชัดเจน ก็นับเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย

“อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ต้องบอกลูกจ้างให้ชัด เช่น ห้ามพาเด็กออกนอกบ้าน บางคนเอาไปเล่นข้างนอก ไปพูดคุยกับเพื่อนบ้านนานๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี หรือเรื่องบทบาทการทำงาน ทุกอย่างต้องชัดเจน จ้างเขามาเลี้ยงลูก อย่าไปสั่งให้เขาทำอย่างอื่นเยอะแยะ ล้างจาน ล้างรถ ซักผ้า ทำกับข้าว กดดันเขาเกินไปมันเสี่ยงต่อความเครียดและอารมณ์ในแง่ลบที่อาจลามไปถึงการแสดงในลักษณะรุนแรงต่อเด็กได้"

เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ให้คำแนะนำว่า เมื่อจ้างพี่เลี้ยงเด็กแล้ว พ่อแม่ต้องยอมรับว่า เขาคือส่วนหนึ่งของครอบครัวเรา ถึงแม้จะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแต่ละวันเขาอยู่กับลูกเราหลายชั่วโมง ฉะนั้นจำเป็นต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศและความรู้สึกที่ดี อย่ามองเขาเป็นคนอื่นคนไกล หรือเหยียดอาชีพคิดเพียงแค่ว่าเป็นคนใช้ เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกจ้างรู้สึกดี ผลกระทบแง่บวกก็ส่งต่อไปถึงลูกเรา

หลีกเลี่ยงคนขี้หงุดหงิด-บ้าอำนาจ-ชอบใช้ความรุนแรง

นอกจากจ้างพี่เลี้ยงมาดูเเลลูกที่บ้าน อีกวิธีที่พ่อแม่หลายคนนิยมคือ นำเด็กไปฝากไว้ตามสถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีอยู่สองประเภทด้วยกัน ประเภทแรก ตามกฎหมายกำหนดคือ ถ้าเลี้ยงดูเด็กมากกว่า 6 คนขึ้นไป ต้องไปลงทะเบียนเพื่อได้รับการตรวจสอบ ถ้าเป็นของเอกชนจะขึ้นกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ถ้าเป็นของภาครัฐจะขึ้นกับองค์กรท้องถิ่นในการดูแลและควบคุม กลุ่มพี่เลี้ยงที่อยู่ในสถานเลี้ยงเด็กทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องผ่านการฝึกอบรม ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานเป็นพนักงานประจำ

อีกประเภทคือ บ้านที่รับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กน้อยกว่า 6 คน อยู่นอกเหนือการควบคุมของรัฐและไม่ต้องผ่านการควบคุมใดๆ แต่สามารถรับเลี้ยงเด็กได้ ซึ่งจะส่งผลในเรื่องคุณภาพของพี่เลี้ยง พ่อ แม่ที่นำลูกไปฝากเลี้ยงต้องเข้าใจด้วยว่า พี่เลี้ยงอาจจะไม่มีความรู้ ความเข้าใจในการเลี้ยงเด็กมากนัก แต่ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดควรพิจารณาอย่างรอบคอบ ศึกษาหาข้อมูลให้มากพอก่อนตัดสินใจ"

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี วิเคราะห์ว่า ความรุนแรงที่พี่เลี้ยงเด็กแสดงออกเกิดจากสองสาเหตุหลักสำคัญคือ ซึมซับความรุนแรงผ่านการเลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเด็ก และมีความเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงถึงจะสามารถควบคุมเด็กได้

“บางคนอาจมีพื้นฐานอารมณ์ที่ใจร้อน หงุดหงิดง่าย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก บางส่วนเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อว่าต้องใช้อำนาจ อารมณ์รุนแรงกับเด็กจึงจะสามารถควบคุมพวกเขาได้ ขณะที่บางกลุ่มอาจถูกกระตุ้นอารมณ์จากพฤติกรรมของเด็กๆที่อาจเลี้ยงยาก บางคนถูกหยิกแขน ผลักหัว ใช้น้ำเสียงรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก พอโตมาเป็นผู้ใหญ่ก็ไปใช้วิธีการเดียวกัน ซึ่งมันเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ได้ช่วยอะไรเด็กเลย”

พญ.จิราภรณ์ บอกว่า เด็กจะซึมซับสิ่งแวดล้อมทุกอย่างที่พวกเขาเผชิญ หากใช้เวลาอยู่กับใครมาก ก็จะซึมซับรับรู้สิ่งเหล่านั้นไปมากเช่นกัน

“ผลกระทบจากความรุนแรง ส่วนหนึ่งอาจส่งผลให้เด็กๆ เกิดความก้าวร้าวมากขึ้นและเริ่มใช้ความรุนแรงตอบโต้ หลายคนมีพฤติกรรมหวาดกลัว วิตกกังวล งอเเง หลบเลี่ยง ไม่ร่าเริง และเริ่มไม่อยากมาโรงเรียน หรืออีกรูปแบบหนึ่ง เด็กอาจจะรู้สึกว่าตัวเองแย่ เป็นคนไม่ได้เรื่อง ใช้ไม่ได้ ความรู้สึกเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย”

คุณหมอยอมรับว่า เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ปกครองที่จะใช้เวลาสั้นๆประเมินบุคคลที่จะเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่จะลดความเสี่ยงต่ออันตรายได้ก็คือ การหมั่นตรวจเช็กสภาพความคิดความอ่าน และร่างกายของลูกน้อยอย่างสม่ำเสมอ

“หน้าที่ของเราคือคอยสำรวจลูก คุยกับลูกและบอกกับลูกว่า ถ้ามีใครใช้คำพูดไม่ดี รุนแรงให้มาบอกแม่นะ สำรวจตามเนื้อตัวร่างกายลูกว่า มีบาดแผลร่องรอยช้ำจ้ำเขียวหรือเปล่า ที่สำคัญฟังลูกเยอะๆ เช็คสภาพความคิดความอ่านเขา ขณะเดียวกันก็อาจจะลองพูดคุยกับเพื่อนผู้ปกครองคนอื่นๆ ถ้าได้ยินเรื่องราวของใครก็นำมาเป็นแนวคิดหรือระมัดระวังลูกตัวเองมากขึ้น”   

"จ้างพี่เลี้ยงเด็ก"...เรื่องน่าปวดใจของพ่อแม่รุ่นใหม่

เช็คสภาพร่างกาย-จิตใจลูกทุกวัน

ณิชารัศม์ ลีลาสันติ คุณแม่ลูกอ่อนวัย 8 เดือน บอกว่า ด้วยภาระหน้าที่การงานทำให้เธอไม่สามารถอยู่เลี้ยงลูกที่บ้านได้ตลอดเวลา หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก โดยกลั่นกรองเบื้องต้นจากคำแนะนำของญาติพี่น้อง

“โชคยังดีที่มีคนรู้จักแนะนำพี่เลี้ยงให้ ทำให้เรามั่นใจในระดับหนึ่ง แต่ก็ติดกล้องวงจรปิดภายในบ้านไว้เพื่อความมั่นใจเหมือนกัน เราจ้างเขาให้มากินอยู่นอนที่บ้านเราเลย ผ่านมา 5 เดือนแล้ว ทุกอย่างปกติ ลูกร่าเริงแจ่มใส พี่เลี้ยงก็ดูสบายอกสบายใจ”

ณิชารัศม์กำหนดบทบาทและหน้าที่ของพี่เลี้ยงอย่างชัดเจนว่า ให้เลี้ยงเด็กเพียงอย่างเดียว เรื่องอื่นไม่ต้องลำบาก ขอให้โฟกัสกับเด็กเท่านั้น

ธาริกา ภัทราตระการกุล คุณแม่ยังสาว บอกว่า นับตั้งแต่ได้เป็นแม่คนเมื่อ 1 ปีก่อนทุกครั้งที่เห็นข่าวพี่เลี้ยงทำร้ายร่างกายใช้ความรุนแรงกับเด็กแล้วรู้สึกสะเทือนใจ โดยขณะนี้เธออยู่ระหว่างค้นหาพี่เลี้ยงที่น่าไว้ใจมาดูแลลูกของตัวเอง

“คุณสมบัติที่คาดหวังคือ ต้องการคนที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงเด็กระดับหนึ่ง บุคลิกภาพที่ดี พูดเพราะ ใจเย็น มีสถานที่พักสามารถเดินทางมาทำงานได้สะดวก และคิดราคาค่าตอบแทนที่เหมาะสม เราจะพยายามพูดคุยในเบื้องต้นให้ได้มากที่สุด แม้มันจะเป็นเรื่องยากในทางปฎิบัติแต่เราจะพยายามถามคำถาม รอดูคำตอบ สังเกตอารมณ์และการแสดงออกของเขา เชื่อว่าพอจะประเมินอะไรหลายๆ อย่างได้บ้าง”

ธาริกา บอกว่า การปล่อยลูกไว้กับคนอื่นนั้นหลีกหนีความกังวลไม่ได้อยู่แล้ว แต่จะพยายามเอาใจใส่ลูกจ้างอย่างเต็มที่ให้เขามีความสุขกับงานและเต็มที่ในการเลี้ยงดูลูกน้อยของเรา

ทรรศ์พร มุขวิชิต พนักงานรัฐวิสาหกิจ บอกว่า มีเนอสเซอรี่น้อยแห่งที่ปล่อยให้ใครก็ได้เข้าไปดูพื้นที่ภายในและเยี่ยมชมการดูแลของพี่เลี้ยงเด็กได้นานๆในระดับที่สามารถประเมินได้ว่า สถานที่แห่งนี้ดีหรือไม่ดี ฉะนั้นการตัดสินใจว่าจะให้ลูกไปอยู่ที่ไหนจึงขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจและการบอกปากต่อปาก

“ส่งลูกทั้งสองคนไปอยู่กับเนอสเซอรี่ตั้งแต่ 4 เดือน ยาวไปจนกระทั่งเข้าโรงเรียนอนุบาลเลย สิ่งที่ทำได้ในตอนแรกคือการสำรวจความสะอาดและปลอดภัยของสถานที่ ที่ให้น้ำหนักมากๆก็คือ เจ้าของสถานที่ ถ้าเขาไม่ใช่คนเลี้ยงเด็กเอง เราไม่ให้ลูกไปอยู่เด็ดขาด เพราะถือว่าละเลยความรับผิดชอบ อาจจะเปิดโรงเรียนเพื่อธุรกิจเพื่อหาเงินเท่านั้น ไม่ได้รักเด็กจริงๆ"

เธอบอกว่า ข้อดีของการส่งให้ลูกไปอยู่เนอสเซอรี่ ทำให้เด็กช่วยเหลือตัวเองได้เร็วกว่าเด็กๆ ทั่วไป แถมยังมีพัฒนาการในด้านร่างกายที่ดีด้วย

ไชยา ใจดี ผู้ปกครองอีกรายบอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะรับรู้อารมณ์และพฤติกรรมของคนเลี้ยงตั้งแต่แรกเห็น เบื้องต้นทำได้แค่ดูภาพรวมของสถานที่ ความสะอาดปลอดภัย จากนั้นค่อยสำรวจพฤติกรรมพี่เลี้ยงและลูกของเราในแต่ละวัน

“ตอนเอาลูกไปให้เขาเลี้ยงมันยากที่จะรู้ว่าพี่เลี้ยงคนนี้เป็นอย่างไร เวลาถามเขาก็ต้องบอกอยู่แล้วว่า เขารักเด็ก เป็นคนใจเย็น แต่ในความเป็นจริงมันก็ต้องดูจากพฤติกรรมเด็ก ถ้าพี่เลี้ยงดุ เครียด มีการใช้ความรุนแรงจริง ลูกเราก็จะบอกว่าวันนี้ถูกทำอะไรมาบ้าง และวันอื่นๆเขาก็คงไม่อยากไปอีกแล้ว” คุณพ่อลูกหนึ่งกล่าว

ความรุนเเรงต่อเด็กนั้นไม่ควรเกิดขึ้น ได้เวลาแล้วที่พ่อเเม่ผู้ปกครองที่จ้างพี่เลี้ยงเด็กต้องพยายามเอาใจใส่ ติดตามพฤติกรรมของลูกน้อยให้มากขึ้นในแต่ละวัน