posttoday

เถ้าแก่ต่างด้าว ยึดแผงค้าตลาดสดไทย

04 กันยายน 2559

ขณะนี้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากเริ่มเข้ามาประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย โดยเฉพาะอาชีพค้าขายรายย่อย

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

ช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศไม่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ดูเหมือนหลายปัจจัยยังคงเป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะแรงงานสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำติดต่อกันมาหลายปี ขณะที่ข้อจำกัดดังกล่าวบีบให้ไทยจำเป็นต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทำงานแทนแรงงานคนไทยที่หายาก โดยเฉพาะงานประเภทที่เป็นงานหนักและมีความเสี่ยง

รายงานการย้ายถิ่นของประเทศไทยฉบับปี 2557 ได้ประมาณการประชากรต่างด้าวในประเทศไทย พ.ศ. 2556 ทั้งสิ้น 3.68 ล้านคน เป็นผู้พํานักอาศัย 428,827 คน หรือ 11.6% พํานักและทํางาน 3.25 ล้านคน หรือ 88.4% หรือประมาณ 8% ของกําลังแรงงานในไทยในข้อมูลจํานวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทํางานคงเหลือทั่วประเทศล่าสุด ณ เดือน ก.ค. 2559 อยู่ที่ 1.56 ล้านคน เทียบกับ 1.44 ล้านคน ณ สิ้นปี 2558 โดยแยกเป็นแรงงานที่อยู่ในกรุงเทพฯ 45% ภูมิภาคอื่นๆ 55% ส่วนใหญ่เป็นแรงงานชั่วคราวรอการพิสูจน์สัญชาติ 989,374 คน และชั่วคราวนําเข้าตาม MOU 279,311 คน และจากทั้งหมดที่ได้รับอนุญาตนี้ 88.2% เป็นแรงงานไร้ฝีมือจากประเทศ เช่น เมียนมา กัมพูชา และ สปป.ลาว รวม 88.2% หรือส่วนใหญ่เป็นกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม)

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่แตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาต กับข้อมูลประมาณการจำนวนแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เป็นการชี้ให้เห็นว่ายังมีแรงงานต่างด้าวจํานวนมากที่ยังไม่ทราบสถานภาพของการทํางาน ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งเป็นลูกจ้างโดยไม่ถูกกฎหมาย การประกอบอาชีพผิดกฎหมาย

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจได้ดำเนินการสำรวจ “การประกอบอาชีพค้าขายรายย่อยของแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย” รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 4 พ.ค.-22 มิ.ย. 2559 ได้ชี้ให้เห็นประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งมีมาตรการป้องกันปัญหาที่จะตามมาในอนาคต

รายงานของ สศช. ระบุให้เห็นว่า ขณะนี้แรงงานต่างด้าวไม่เพียงแต่เข้ามาทำงานในขอบข่ายที่ทางการไทยอนุญาต แต่เริ่มมีการประกอบอาชีพอิสระที่หลากหลายและจำนวนมากที่เข้ามาประกอบอาชีพที่สงวนไว้สำหรับคนไทย โดยเฉพาะอาชีพค้าขายรายย่อย ซึ่งการรวบรวมข้อมูลจากพื้นที่ตัวอย่าง 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย ชลบุรี และสงขลา นั้น พบว่าแรงงานต่างด้าวมีการค้าขายในทุกระดับตั้งแต่ในศูนย์สรรพสินค้า ตลาดนัด ตลาดสด และตลาดชุมชน

เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบร้านค้าที่เปิดขายทั้งสิ้น 10,453 ร้าน/แผง อยู่ในศูนย์สรรพสินค้า 1,480 ร้าน ตลาดนัด 8,497 ร้าน/แผง ตลาดสด 321 ร้าน/แผง และตลาดชุมชน 155 ร้าน/แผง ในนี้พบว่ามีร้านค้าที่มีคนต่างด้าวเป็นเจ้าของ 102 ร้าน หรือ 6.9% 149 ร้าน/แผง หรือ 1.8% 67 ร้าน/แผง 20.9% และ 15 ร้าน/แผง 9.7% แต่จะพบมากในตลาดสดและตลาดชุมชน เนื่องจากความง่ายในการเข้าถึงสถานที่ และในผลสำรวจก็ระบุว่าผู้ค้าส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าการค้าขายเป็นอาชีพสงวนของคนไทย จากการสอบถามคนต่างด้าว 424 ราย มีเพียง 1 ใน 4 รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ผิดกฎหมาย และส่วนใหญ่ของคนที่รู้คือผู้ค้าต่างด้าวที่เป็นเจ้าของกิจการ

ด้าน สศช.ระบุถึงสิ่งที่ต้องปรับปรุงเพื่อควบคุมการประกอบอาชีพของคนต่างด้าว ได้แก่ 1.ข้อกำหนดงานอาชีพสำหรับคนต่างด้าวไม่สอดคล้องกับสภาพความต้องการใช้แรงงาน 2.การขาดการรับรู้ด้านกฎหมายของทั้งแรงงานต่างด้าวและพ่อค้าแม่ค้าไทยจํานวนไม่น้อยที่ขาดความตระหนักไปให้ความร่วมมือกับแรงงานต่างด้าว 3.ยังมีช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมายเห็นได้จากผู้ค้าต่างด้าวที่ถูกจับแต่ก็ยังสามารถกลับมาขายได้อีก ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงยังขาดการให้ความสําคัญกับนายหน้าหรือกลุ่มทุนที่เป็นแหล่งใหญ่ของการลักลอบนําเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

4.การมีข้อจำกัดในการใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานจนกลายเป็นมีช่องโหว่ เช่น ขาดการบันทึกข้อมูลประวัติการทําผิดของแรงงานต่างด้าว ทําให้ผู้ถูกส่งกลับประเทศสามารถกลับเข้ามาประกอบอาชีพค้าขายใหม่ในประเทศไทยได้อีก และที่สำคัญยังขาดข้อมูลความต้องการแรงงานต่างด้าวในเชิงปริมาณและอาชีพที่ชัดเจน ส่งผลต่อการกําหนดจํานวนแรงงานต่างด้าวและอาชีพที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความต้องการแรงงานต่างด้าวในประเทศและการบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้อง และ 5.ความซับซ้อนของขั้นตอนการบริหารจัดการต้องพึ่งพานายหน้าทําให้เสียค่าใช้จ่ายสูง เป็นสาเหตุให้แรงงานต่างด้าวบางส่วนไม่เลือกขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง

ทว่า แม้จากรายงานการสำรวจจะระบุว่าการมีผู้ค้ารายย่อยต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะยังไม่สร้างผลกระทบที่ชัดเจนเพราะผู้ค้ารายย่อยที่เป็นคนไทยเองก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือทำให้บรรยากาศการค้าขายคึกคัก ส่วนข้อเสียก็คือการแย่งอาชีพคนไทย

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจตลาดสด นฤมล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ เจ้าของตลาดยิ่งเจริญ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับภาครัฐจะต้องการแก้ไขปัญหาอย่างไร หากต้องการจัดระเบียบก็ต้องทำให้คนต่างด้าวมีที่ทำกินที่ถูกกฎหมาย ซึ่งก็ต้องอยู่กับ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เช่น หากมีแผงขายผักจะเข้าข่ายกฎหมายธุรกิจต่างด้าวหรือไม่ หากเปิดกว้างตลาดยิ่งเจริญมีแผงลอยรองรับอยู่แล้ว ปัจจุบันมี 2,000 แผง

แหล่งข่าวจากผู้ค้าในย่านตลาดบางแค ตลาดสดค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ที่สุดในย่านบางแค เปิดเผยว่า เดิมแรงงานเมียนมาเป็นเพียงลูกจ้างของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด จนเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่แล้วเริ่มเห็นว่ามีชาวเมียนมาจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเจ้าของแผงเอง ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนกว่า 30% ของผู้ค้าทั้งตลาดที่มีเจ้าของแผงเป็นชาวเมียนมา ส่วนใหญ่จะเป็นแผงด้านในตลาด ได้แก่ แผงปลา แผงผัก และแผงไก่สด ส่วนแผงหมูและแผงของชำยังเป็นคนไทย และมีลูกจ้างเป็นชาวเมียนมา ส่วนแผงด้านนอกบริเวณหน้าตลาดบางแคริมถนนเพชรเกษมเจ้าของแผงยังคงเป็นคนไทย

สำหรับชาวเมียนมาที่เป็นเจ้าของแผงในตลาด เดิมเป็นลูกจ้างตามแผงต่างๆ ทำงานเก็บเงินมายาวนานจนมีทุนที่จะเซ้งแผงเป็นของตัวเอง ส่วนคนไทยเจ้าของแผงเดิมก็มีทั้งปล่อยเช่าช่วงต่อให้ชาวเมียนมาทำต่อแล้วเก็บค่าเช่า หรือใช้วิธีรับเงินก้อนใหญ่ให้ชาวเมียนมาเซ้งแผงทำต่อไป ซึ่งปัจจัยสำคัญที่คนไทยไม่ทำต่อ เพราะลูกหลานพ่อค้าแม่ค้าไม่อยากทำต่อแล้ว เรียนหนังสือแล้วก็หางานประจำทำ และมีบางส่วนที่ชาวเมียนมาที่ทำงานในย่านนี้ ชวนเครือข่ายเพื่อนและญาติที่มหาชัยมาเช่าแผงแล้วนำปลาสดมาขาย

อารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐผู้ที่ทำงานคลุกคลีในด้านนี้มานาน อธิบายฉายภาพว่า การที่คนต่างด้าวเข้ามาในประเทศไทยมีมานานตั้งแต่โบราณ เนื่องจากประเทศไทยมีชายแดนติดกับประเทศอื่น ซึ่งการติดต่อเริ่มแรกมาจากการค้าขายบริเวณชายแดน จากนั้นกาลเวลาเปลี่ยนไปไทยเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2537

จากนั้นจึงมีการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา โดยเริ่มจากงานภาคประมง ต่อมารัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบอยู่เป็นระยะ จากนั้นจึงเกิดการขยายตัวจากแรงงานภาคประมงทะเล ได้แปรสภาพเป็นแรงงานกรรมกรให้กว้างขึ้น และมีข้อยกเว้นให้ทำงานได้ อาทิ กรรมกรประเภทต่างๆ งานรับใช้ในบ้าน อุตสาหกรรมเกษตร แปรรูปสัตว์น้ำ แต่ไม่สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่คนไทยไม่นิยมทำ เมื่อทำงานไปเรื่อยๆ ก็ผันตัวจากลูกจ้างมาเป็นผู้ประกอบกิจการ เป็นเจ้าของกิจการขนาดเล็กในตลาด ซึ่งตรงนี้นอกจากทำให้คนต่างด้าวมีชีวิตความเป็นอยู่ส่วนตัวที่ดีขึ้นแล้ว ก็ยังได้การยอมรับจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยกันอีก

อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่า การป้องกันแก้ปัญหาในเรื่องนี้ที่ผ่านมามีการติดตามตรวจสอบอยู่ตลอด ซึ่งจะลงไปดูทุกพื้นที่ที่มีปัญหาตามย่านการค้า แหล่งท่องเที่ยว กับมัคคุเทศก์เถื่อน ทัวร์ศูนย์เหรียญ รวมไปถึงการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ซึ่งมีการตรวจสอบจับกุมอยู่ตลอด เห็นได้จากช่วงหลังมา แขกชาวอินเดียที่ผิดกฎหมาย มีจำนวนปริมาณลดการกระทำผิดก็ลดลง แต่การทำงานในพื้นที่ต้อง บูรณาการกับทุกฝ่าย เพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทำงานลักษณะสืบสวนสอบสวนคงไม่ได้ ส่วนแผนการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะนี้ไทยกำลังวางแนวทางยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวปี 2560-2565 ซึ่งเชื่อว่าเมื่อนำมาปรับใช้จะทำให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการตามพื้นที่ต่างๆ ของไทย สามารถกำกับดูแลได้ดีมากยิ่งขึ้น