posttoday

ค้ามนุษย์ "โรฮิงยา" มหาศาลพันล้าน

06 พฤษภาคม 2558

ถือเป็นอาชญากรรมค้าคนข้ามชาติมีเครือข่ายขนาดใหญ่และไทยเป็นแหล่งค้ามนุษย์ผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของโลก

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เรื่องราวของ “ชาวโรฮิงยา” ในฐานะเหยื่อค้ามนุษย์ หลายชีวิตต้องจบลงในเขตชายแดนประเทศไทย ล่าสุดร่างไร้วิญญาณของชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 26 ศพ บนเทือกเขาแก้ว ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ถูกฝังดินอย่างเหี้ยมโหด จนมีการออกหมายจับขบวนการค้ามนุษย์ โดยพบว่าเบื้องต้นมีผู้ร่วมแก๊ง 8 ราย รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ให้ภาพผ่านโพสต์ทูเดย์ว่า จุดกำเนิดที่ชาวโรฮิงยาพักอาศัยในรัฐยะไข่ ประเทศพม่า มีความแออัด ยากจน และมีภัยธรรมชาติมากที่สุดในโลก ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการอาศัยอยู่ จึงเกิดขบวนการชักนำหลอกลวงให้คนเหล่านี้ไปทำงานที่มาเลเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเงินทองที่ได้กลับสู่บ้านเกิดตัวเอง โดยมีคนไทยชักนำ

สำหรับรูปแบบนั้นจะส่งเรือขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่สัญชาติไทยบรรทุกคนได้ประมาณ 100-500 คน ล่องจาก จ.ระยอง ข้ามน้ำข้ามทะเลผ่านน่านน้ำไทยไปรับชาวโรฮิงยาจากท่าเรือในบังกลาเทศและพม่า ก่อนจะถูกนำไปขึ้นเรือใหญ่สัญชาติไทยที่จอดรออยู่กลางทะเล จากนั้นเรือที่บรรทุกชาวโรฮิงยามาจะเข้าจอดเทียบท่าใน จ.ระนอง ก่อนจะมีรถยนต์มารับช่วงต่อและส่งไปพักยังแคมป์ใหญ่กลางป่าในพื้นที่ภาคใต้อย่างน้อย 10-14 วัน ที่ชาวโรฮิงยาลักลอบเดินทางมา

การเดินทางเข้ามาประเทศไทยของกลุ่มโรฮิงยา จะเข้ามาทาง จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง และสตูล ส่วนการเดินทางไปประเทศมาเลเซียนั้น พบว่าออกทาง จ.สงขลา นราธิวาส และยะลา

ขณะเดียวกัน มีการนำชาวโรฮิงยา เดินเท้าจากพม่าเข้าสู่ไทยตามแนวตะเข็บชายแดน จ.กาญจนบุรี ก่อนจะมีรถตู้มารับเพื่อส่งชาวโรฮิงยาไปตามสถานีรถไฟ โดยมีปลายทางอยู่ที่แคมป์ใหญ่กลางป่าในภาคใต้

สุรพงษ์ ระบุว่า ในส่วนของแคมป์หรือที่พักในป่าเชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 10 แคมป์ ส่วนใหญ่เป็นแคมป์ ลักษณะชั่วคราวกึ่งถาวร พบสร้างกระจัดกระจายตั้งแต่ จ.สตูล สงขลา จนถึงนราธิวาส โดยมักตั้งแคมป์อยู่ใกล้กับชายแดนประเทศมาเลเซีย

“ในอดีตชาวโรฮิงยาแอบลักลอบเข้ามาในไทยอย่างน้อย 1 หมื่นคน/ปี ทั้งหมดมีนายหน้าค้ามนุษย์โยงใยเป็นขบวนการ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐและชาวโรฮิงยาที่ผันตัวเป็นเอเยนต์รวมกันทำความผิดด้วยจุดประสงค์เพื่อเงิน”

รูปแบบการเรียกค่าไถ่ สุรพงษ์แจกแจงว่า จะมีนายหน้าซึ่งอยู่ในขบวนการค้ามนุษย์โทรศัพท์ติดต่อไปหาญาติชาวโรฮิงยา เพื่อข่มขู่เรียกรับเงินค่าไถ่ในราคาที่แตกต่างกัน ทั้ง 6 หมื่นบาท 7 หมื่นบาท จนถึง 2 แสนบาท ให้โอนเข้าบัญชีเพื่อแลกกับอิสรภาพ ญาติเหยื่อค้ามนุษย์ยินยอมหาเงินหวังแลกชีวิตลูกหลานให้อยู่รอดปลอดภัย สุดท้ายญาติอาจหลงกลเชื่อโอนเงินให้แต่ไม่ได้รับการปล่อยตัว บางรายถูกขบวนการค้ามนุษย์อ้างว่ายังไม่ได้เงินให้โอนมาใหม่ หากไม่ทำตามญาติเหยื่อที่ถูกจับไว้จะถูกทำร้ายร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิต บางรายถูกส่งไปใช้แรงงานบนเรือประมง ถูกทารุณ ถูกอดอาหาร

“ธุรกิจค้าชาวโรฮิงยาขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต่อปีประเทศไทยมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจค้ามนุษย์โรฮิงยาหลายพันล้านบาท ถือเป็นอาชญากรรมค้าคนข้ามชาติมีเครือข่ายขนาดใหญ่ร่วมกันกระทำความผิด และประเทศไทยเป็นแหล่งค้ามนุษย์ผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของโลก”

สุรพงษ์ กล่าวว่า หากประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายตรงไปตรงมา เชื่อว่าจะสามารถลดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ ที่ผ่านมามีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มรายย่อยรายใหญ่ร่วมทำความผิด หวังว่าจากเหตุการณ์ครั้งนี้จะมีการสอบสวนเอาผิดอย่างจริงจัง

“กฎหมายทุกวันนี้สามารถบังคับใช้แก้ปัญหาได้ โดยไม่ต้องไปออกกฎหมายใหม่เพิ่มเติม เพียงแต่เราไม่ได้แก้ปัญหาอย่างตรงจุด ไม่มีการจับกุมที่ต่อเนื่อง เราหวังว่าการเจอผู้เสียชีวิตครั้งนี้จะนำไปสู่การจับกุมขบวนการใหญ่ได้ โดยมีเรือขนส่งจากไทยร่วมด้วย เชื่อว่ารัฐจะขยายผลจับกุมได้ ถ้าปล่อยให้มีขบวนการเหล่านี้อยู่ก็จะมีเงินหมุนเวียนมากขึ้นและมีเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นอีก” สุรพงษ์ กล่าว

ค้ามนุษย์ "โรฮิงยา" มหาศาลพันล้าน

ชีวิตใหม่และความตายในแคมป์

นอกจากชาวโรฮิงยาจากพม่ามีเป้าหมายอยู่ที่ประเทศมุสลิมเช่น มาเลเซีย แล้วยังรวมถึงที่ออสเตรเลีย สิงคโปร์ บรูไน และอินโดนีเซียด้วย

“พวกเขาคือต้องการให้ UNHCR ในประเทศมาเลเซียเข้ามาดูแลและออกใบรับรองและเป้าหมายต่อไปคือออสเตรเลียเพราะเป็นประเทศที่เปิดกว้างและมีงานทำ รายได้ดี อีกทั้งเป้าหมายถัดไปจะได้พบกับเครือญาติที่ได้มาก่อนแล้ว”แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคงระบุ

ตัวเลขชาวโรฮิงยาที่เดินทางเข้าสู่มาเลเซียในปี 2556 ตามรายงานของสายลับอยู่ที่ 1.5 หมื่นคน ถัดจากนั้นปี 2557-2558 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อหัวจากต้นทางสู่ปลายทางรวมเบ็ดเสร็จ1.4-1.5 แสนบาท/ราย

“อาชีพที่ทำ คือ เกษตรกรไร่อ้อย สวนยางพารา และสวนปาล์มแรงงานหนักก่อสร้างทั่วไป โดยจะมีมากที่รัฐกลันตัน ตรังกานู รองลงมา เคดาห์ เปอร์ลิส ซึ่งเป็นรัฐทางภาคเหนือของมาเลเซีย ที่มีรอยต่อกับจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกนั้นจะมีไปทั่วทุกรัฐ โดยพวกเขาจะมีรายได้ขั้นต่ำ ประมาณ500 บาท/วัน จนทำให้ชาวโรฮิงยามีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น”

จากชีวิตใหม่ในประเทศโลกที่ 3 ทำให้บรรดาญาติที่อยู่ในประเทศพม่าต่างหลั่งไหลตามหาญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ในประเทศที่ 3 ในที่สุดก็ได้มาทำงานกันเป็นทอดๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับแคมป์สำคัญๆ ถือว่า เป็นกลางทางที่จะเดินทางสู่ประเทศที่ 3 มีใน อ.สะเดา จ.สงขลา ถูกจัดตั้งว่าแคมป์ปาดังเบซาร์ แคมป์สำนักขาม แคมป์สำนักแต้ว แต่ละแคมป์จะอาศัยอยู่ตามพื้นที่ป่าสงวนสันเขาระหว่างไทย มาเลเซียเพื่อหลีกเลี่ยงผู้คนและเจ้าหน้าที่ขณะเดียวกันอีกส่วนมีแคมป์ในพื้นที่ จ.สตูล นราธิวาส เช่นกัน

“พวกเขาจะพักแรมในแคมป์ไม่ออกไปนอกแคมป์ หรือไปสวนยางพารา เพราะหลายครั้งที่ชาวสวนยางพาราเดินทางไปกรีดยาง แล้วพบโรฮิงยานั่งเป็นกลุ่มๆจนชาวสวนยางพาราไม่กล้ากรีดยาง เพราะเป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้าน

“ภายในแคมป์โรฮิงยาจะมีรูปแบบการจัดตั้ง มีหัวหน้า มีผู้ตรวจการ และฝ่ายรักษาความปลอดภัย ส่วนสตรีที่มีหน้าตาสวยก็จะได้เลื่อนขั้นอยู่สถานที่ที่ดี ถึงขั้นไปอยู่กลุ่มผู้คุมแคมป์”

สิ่งของที่จำเป็นในแคมป์ คือยาแก้ปวด ยาแก้ไข้ ยากันยุง รวมถึงยาสูบประเภทใบจาก ยาเส้น ที่ ชาวโรฮิงยาจะสูบจัด ส่วนอาหารหลัก คือ ซี่โครงไก่ คอไก่ ลูกขี้พร้าต้มจืด และข้าวสาร โดยเฉพาะข้าวสารวันละ 2 กระสอบป่าน

“ธุรกิจตรงนี้ค่อนข้างที่จะมีรายได้ดีให้กับคนในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่ได้ทำการค้า และมีงานทำ”

แหล่งข่าวยังเปิดเผยข้อมูล“กลุ่มทำการค้าเพื่อชีวิตใหม่ชาวโรฮิงยาในโลกที่ 3” มีจำนวนหลายกลุ่ม มีกลุ่มบอ กลุ่มสอ กลุ่มลอเฉพาะกลุ่มลอ มีถึง 3 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีขบวนการไม่ต่ำกว่า 10 คนทั้งที่อยู่ในประเทศพม่า จ.ระนอง สงขลา และในมาเลเซีย ส่วนกลุ่มชาวโรฮิงยามีกลุ่มออ กลุ่มชอ กลุ่มญอ กลุ่มซอ และกลุ่มฮอ

“แต่ละกลุ่มมีการชิงไหวชิงพริบต่อกัน โดยการแย่งชิงตัวและลักพาตัวชาวโรฮิงยาแต่ละแคมป์ด้วยกัน มีการดิสเครดิตกันเอง”

ประเด็นสังหารชาวโรฮิงยาข้อมูลลับรายงานว่า สาเหตุที่ถูกฆ่าคือเงินค่าไถ่ถอนตัว เพราะพวกเขารู้ว่าญาติพี่น้องในประเทศพม่ามีเงิน ถ้าไม่นำเงินมาไถ่ตัวก็จะมีปัญหา

อย่างไรก็ดี มีชาวโรฮิงยาไม่น้อยที่เดินทางมาแล้วแต่ไม่สามารถเข้าสู่ประเทศที่ 3 ได้ เนื่องจากเครือข่ายเส้นสายเข้าไม่ถึง อีกส่วนเมื่อได้อยู่ไปแล้ว กลับมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องหลบหนี ในที่สุดถูกส่งกลับมาทำงานที่เรือกลางทะเล ส่วนสตรีก็ไปทำร้านอาหาร ที่หน้าตาดีก็เป็นหญิงบริการ

“บางคนที่ทำงานเกี่ยวกับโรฮิงยา ยกฐานะจากศูนย์ มีเงินเป็น 10 ล้านบาท มีการสร้างห้องพักให้เช่า มีการซื้อสวนยางพาราไว้กรีด มีรถ 4 ประตูไว้ขับขี่”แหล่งข่าวระบุ