posttoday

เพลงเชียร์"ประชามติ"กกต. เปราะบางเหยียดภูมิภาค?

09 มิถุนายน 2559

กลายเป็นประเด็นสร้างกระแสดราม่าขึ้นมาทันที ภายหลัง กกต. ได้ปล่อยมิวสิควิดีโอรณรงค์ประชามติ

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

กลายเป็นประเด็นสร้างกระแสดราม่าขึ้นมาทันที ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ปล่อยมิวสิควิดีโอรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ วันที่ 7 ส.ค.

ทั้งนี้ เพลงดังกล่าวประพันธ์โดยศิลปินแห่งชาติ “ประยงค์ ชื่นเย็น” สาขาศิลปะการแสดง ซึ่งมีเนื้อหาเป็นไปตามสโลแกนของ กกต. “7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง”

โดยเป็นการประสานเนื้อร้องสไตล์ลูกทุ่ง 4 ภาค ประกอบด้วย เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ เพื่อสื่อสารกับประชาชนทุกกลุ่ม จากศิลปินชั้นนำอย่าง บ่าววี ก้อง ห้วยไร่ หลิว อาจารียา และ เปา เปาวลี 

สำหรับเนื้อเพลงมีดังนี้

7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง กกต. ขอรณรงค์ ขอเชิญพี่น้องทุกคนไปลงประชามติ พี่น้องทุกคนไปลงประชามติ รัฐธรรมนูญ เป็นกติกา นำมาซึ่งรากฐานแห่งการปรองดอง รักกันฉันพี่ฉันน้อง สังคมปรองดอง มั่นคงอบอุ่นบ้านเมืองจะก้าวรุกไป เราต้องร่วมมือ ร่วมใจค้ำจุน เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ คำตอบอยู่ที่คุณใช้วิจารณญาณ

“พี่น้องอีสานบ้านเฮา อย่าให้ใครเขาชี้ซ้ายชี้ขวา ใช้สติพิจารณา เนื้อหาถ้อยความ หลักการสำคัญ ออกไปใช้เสียงใช้สิทธิ ร่วมรับผิดชอบบ้านเมืองนำกัน ให้ฮู้เขาฮู้เฮาเท่าทัน เฮาคนอีสานอย่าให้ไผมาตั๊วได้”

7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง กกต. ขอรณรงค์ ขอเชิญพี่น้องทุกคนไปลงประชามติ พี่น้องทุกคนไปลงประชามติ

“ปักษ์ใต้คนใต้แหลงใต้ รักประชาธิปไตย รักความเสรี ไปลงประชามติ เป็นพลเมืองดี หน้าที่ของชาวไทย ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ ช่วยนำพาชาติ ให้เจริญก้าวไกล ดอกไม้ประชาธิปไตย หกสิบห้าล้านใจ คนไทยบานสะพรั่ง”

“ปี้น้องชาวเหนือหมู่เฮา อย่าฮือใครเขาชักจูงตี้นำ ต้องหมั่นเฮียนฮู้ติดตาม ศึกษาเนื้อความเฮื่อมันกระจ่าง บ้านเมืองจำก้ำจะจุน รัฐธรรมนูญต้องเป็นที่ตั้ง หนึ่งเสียง หนึ่งใจ หนึ่งพลัง สรรสร้างบ้านเฮาเมืองเฮา”

7 สิงหา ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง กกต. ขอรณรงค์ ขอเชิญพี่น้องทุกคนไปลงประชามติ พี่น้องทุกคนไปลงประชามติ พี่น้องทุกคนไปลงประชามติ

ฐิติพล ภักดีวานิช อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ให้ความเห็นว่า เนื้อเพลงสะท้อนความคิดเชิงชั้นปกครอง มีอำนาจ ก่อนช่วงรัฐประหาร โดยเฉพาะกลุ่มคนอีสานและเหนือไม่สามารถคิดเองได้ ซึ่งมันไม่ได้เป็นประโยชน์ ลดทอนความเป็นคน

“ผมเข้าใจพฤติกรรมคนใต้และคนอีสานพอสมควร เพราะผมเป็นคนใต้แต่มาสอนหนังสือในอีสานหลายปี ดังนั้น คนที่ถูกมองว่าไม่มีการศึกษา คิดไม่ได้ แต่เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวว่าเลือกใคร พรรคไหน แต่ปัจจุบันคนอีสานไม่พูดถึงทักษิณ แต่พูดถึงนโยบายพรค ดังนั้น ดูถูกศักยภาพความคิดเกินไป”

อย่างไรก็ตาม ผู้แต่งไม่ได้มองบริบทความเปลี่ยน แปลงสังคมไทยแท้จริง มองจากข้อสรุปเก่าๆ ว่าชนบทถูกนักการเมืองชี้นำ แต่จริงๆ แล้วคนมีการศึกษาอาจถูกชี้นำได้มากกว่าด้วยซ้ำ แม้คนมีการศึกษาก็ไม่ได้เปิดดูรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ต่างจากชาวบ้าน ต้องติดตามจากสื่อเท่านั้น

นอกจากนี้ เนื้อเพลงไม่ได้สร้างความปรองดอง นำเสนอประเด็นไม่ได้ตรงเสียทีเดียว แม้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ แต่ในเพลงขึ้นมาประโยคแรกการปรองดอง ก็ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ พยายามย้ำปรองดอง แต่เนื้อหารวมสร้างความแตกแยกมากขึ้น

ขณะที่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า น้ำหนักของการให้ การอธิบาย การสร้างเจตจำนงการลงประชามติในเนื้อเพลงแต่ละภาคไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน แต่ภาคอื่นรักประชาธิปไตย

แต่อีสานและเหนือเป็นภาพนิ่งแช่แข็ง ที่มีการรับรู้ว่าเหนือและอีสานเป็นพวกที่ถูกซื้อเสียงได้ ถูกล่อลวงได้ ซึ่งเนื้อเพลงสะท้อนแบบนั้น โดยคนชนชั้นกลางและคนชนชั้นนำประเทศมองชนบทอีสานและเหนือ ถามว่ามีนัยดูถูกดูแคลนหรือไม่ คำตอบคือมี

“เพลงที่ออกมาแบบนี้กลับเป็นผลเสียต่อการลงประชามติ หรืออาจส่งผลให้ประชาชนไม่มาใช้สิทธิ หรือไม่ลงก็แล้วแต่ แต่ถามว่าแปลกใหม่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่แปลก ทัศนะของคนกรุงเทพฯ หรือคนชนชั้นนำจะมองแบบนี้ ซึ่งน่าเสียดายที่พวกเขาไม่ฉลาดพอที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคม”