posttoday

เลือกตั้งท้องถิ่น วอร์มอัพก่อนถึงระดับชาติ

10 ธันวาคม 2560

"ข้อเสนอให้ลดสมาชิก อบต. จะทำให้ลดลงจากเดิมได้ประมาณ 5 หมื่นคน ประหยัดงบประมาณ ค่าจ้าง 4,700 ล้านบาท/ปี จะได้นำเงินค่าจ้างเงินเดือนที่ลดลงนี้​ไปพัฒนา เป็นงบลงทุนของ อบต.ที่จะได้ประโยชน์มากกว่า"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

เส้นทางสู่การเลือกตั้ง​เริ่มชัดเจนขึ้นตามคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งยืนยันว่าทุกอย่างจะเดินหน้าตามโรดแมป พร้อมส่งสัญญาณจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนการเลือกตั้งระดับชาติ

สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์พิเศษถึงทิศทางการจัดการเลือกตั้ง ว่า ที่ผ่านมา​ ​วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปลัดอธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อถามความเห็นว่าควรเลือกตั้งระดับชาติหรือท้องถิ่นก่อนกัน

โดยส่วนใหญ่เห็นว่าควรเลือกตั้งระดับท้องถิ่นก่อน เพราะ​ขณะนี้ อปท. 80-90% จาก 7,851 แห่ง หมดสมาชิกภาพแล้ว อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อเพราะคำสั่ง คสช. และช่วงเดือน พ.ค. 2561 สมาชิกท้องถิ่นจะครบวาระ 100% ทั้ง อบจ. อบต. เทศบาล เมืองพัทยา กทม.

"การเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นประโยชน์เหมือนการวอร์มอัพของการเลือกตั้งระดับชาติ ทั้งให้เจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน ทั้งผู้ที่จะมีสิทธิเลือกตั้งทั้งหลายแหล่ได้เคาะสนิม เมื่อรู้ว่ามีข้อผิดพลาดบกพร่องจะได้ปรับแก้ เราเลยบอกว่าอยากให้เลือกระดับท้องถิ่นก่อน"​

คำถามตามมาคือเมื่อเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนแล้วจะให้เลือกตั้งส่วนไหนก่อน หรือให้เลือกตั้งพร้อมกันหมด ซึ่งได้เสนอว่าเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางรูปแบบคลุมพื้นที่ทับซ้อนอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น อย่าง อบจ.​ที่คลุมพื้นที่เต็มจังหวัด

"​เราก็อยากให้เลือก อบจ.ก่อน เป็นอย่างแรก โดยสามารถเลือกพร้อมกับ กทม.ได้ หลังจากนั้นจะเลือกทุกรูปแบบ ทั้ง พัทยา เทศบาล อบต. พร้อมกันอีกที ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าเกิดเลือก อบจ.​พร้อมกับท้องถิ่นรูปแบบอื่น เช่น อบต. เทศบาล มันจะทำให้เกิดความสับสน เพราะบัตรเลือกตั้งต้องมีถึง 4 ใบ ​ในแต่ละประเภท มันก็จะซ้อนกันอยู่ที่จะทำให้ยุ่งวุ่นวายและอาจเกิดความผิดพลาดได้"

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ​​ประเด็นเหล่านี้ได้เสนอไปในวันนั้น และที่ประชุมก็เห็นด้วย แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องขึ้นกับรัฐบาลและ คสช​.​ รองนายกฯ ​วิษณุ พูดชัดว่าความคิดเห็นของเราก็เป็นข้อเสนอของผู้ปฏิบัติ คนที่เป็นฝ่ายประจำ ส่วนอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐบาลกับ คสช.

​ถามถึงกรอบเวลาที่จะสามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ สุทธิพงษ์ กล่าวว่า อยู่ที่กฎหมายว่าจะปรับแก้ได้เสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งในที่ประชุมวันนั้นบอกว่ามี 2 ลักษณะ คือ 1.ออกมาเป็นประมวลกฎหมาย ตามข้อเสนอของ สปท. ที่จะช้าและยุ่งยาก ซึ่งไม่เป็นไปตามที่นายกฯ ประกาศว่าจะเร่งรัดให้เลือกตั้งเร็ว  หากอยากให้เลือกตั้งเร็วต้องเลิกคุยเรื่องการออกประมวลกฎหมายท้องถิ่นที่จะใช้เวลาเป็นปี

2.การปรับแก้เฉพาะส่วนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสองส่วนคือ เรื่องคุณสมบัติ ซึ่งผู้แทนกฤษฎีกา บอกว่า​คณะกรรมการพัฒนากฎหมายขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่างปรับแก้ พ.ร.บ.​6 ฉบับไว้แล้ว ส่งมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น

ในส่วนของกรมเสนอผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยว่า ประเด็นคุณสมบัติให้ยึดตามคุณสมบัติของ สส. เพราะไม่ต้องคิดมาก คุณสมบัติของ สส.ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 97-98 โดยคุณสมบัติผู้สมัครท้องถิ่นในมาตรา 252 ไม่มีรายละเอียด กำหนดคอนเซ็ปต์กว้าง ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน ทุจริต

เลือกตั้งท้องถิ่น วอร์มอัพก่อนถึงระดับชาติ

สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ทางกรมได้เสนอเพิ่มให้ปรับแก้ไขในส่วนของ อบต. คือ การลดจำนวนสมาชิก อบต. จากหมู่บ้านละ 2 คน เหลือ 1 คน และกรณีที่ อบต.ใดมีสมาชิกตามจำนวนหมู่บ้านไม่ครบ 6 คน ให้หมู่บ้านที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดมีสมาชิก อบต.ได้อีก 1 คน รวมแล้วให้มีสมาชิกไม่เกิน 6 คน ซึ่งตามกฎหมายต้องมีตำแหน่งต่างๆ อย่างน้อย​ 6 ตำแหน่ง

สาเหตุที่เสนอให้ปรับลดสมาชิกเพราะเห็นว่า อบต.บางแห่งใหญ่เกินไป มีความอุ้ยอ้ายเกินจำเป็น เช่น จ.อุบลราชธานี บาง ​อบต.มี 27 หมู่บ้าน มีสมาชิกสภา อบต. 54 คน สมุทรปราการ บาง อบต.มี 23 หมู่บ้าน มีสมาชิก 46 คน ซึ่งเยอะไป เราเห็นว่าหนึ่งหมู่บ้านมี 1,000 คน มีตัวแทน 1 คน กำลังดี ซึ่งจากที่คุยกับผู้นำท้องถิ่นก็เห็นด้วย แต่อยู่ที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเห็นด้วยหรือไม่

"​ตามข้อเสนอไม่ได้เสนอให้ยุบเลิก เพียงแค่ให้ลดสมาชิก ซึ่งจะทำให้ลดลงจากเดิมได้ประมาณ 5 หมื่นคน จากเดิมที่มีประมาณ 1 แสนคน ​ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดงบประมาณ ค่าจ้าง 4,700 ล้านบาท/ปี สมัยหนึ่ง 4 ปี เป็นเงิน 1.88 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะได้นำเงินค่าจ้างเงินเดือนที่ลดลงนี้​ไปพัฒนา เป็นงบลงทุนของ อบต.ที่จะได้ประโยชน์มากกว่า"

สุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากที่คุยกันคร่าวๆ ในที่ประชุมว่าจะเลือกตั้งได้เมื่อไหร่นั้น คาดการณ์กันว่าเมื่อกฎหมายแก้ไขได้เสร็จเมื่อไหร่ก็บวกไป 45 วัน ก็จะเลือกตั้งได้ เพราะอิงตามกฎหมายเมื่อสภาหมดอายุก็ให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน ​

คำนวณแล้วหากแก้ไขกฎหมายแบบน้อยๆ ​แก้เสร็จก็น่าจะตกเดือน มี.ค.-เม.ย. คร่าวๆ ก็น่าจะเลือกตั้งได้ในช่วงกลางปีหน้า ​แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องขีดเส้นใต้ว่านี่เราคิดกันเอง ในชีวิตจริงก็ขึ้นอยู่กับคนมีอำนาจหน้าที่ สภาก็ก้าวล่วงเขาไม่ได้ บอกให้ไปพิจารณา 3 วาระรวดก็ไม่ได้

แต่เมื่อรัฐบาลมีสัญญาณที่จะทำตามไทม์ไลน์​ ​กระทรวงมหาดไทยมีเดดไลน์ส่งข้อเสนอกลับไปยังรัฐบาลและกฤษฎีกาวันที่ 4 ธ.ค. กลางปีหน้าก็น่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น อบจ.-กทม.ได้ จากนั้นสัก 45 วัน ค่อยเลือกตั้งท้องถิ่นในส่วนที่เหลือ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกันในการหาเสียงเลือกตั้ง

"ที่เราคิดว่าต้องมีเลือกตั้งเร็วเพราะนายกฯ ประกาศ​ชัดเจนต่อสาธารณ​ะ อันนี้เราไม่ได้คิดเอง เราเชื่อสิ่งที่รัฐบาลประกาศ ดูสัญญาณรัฐบาลเร่งให้มีการปรับแก้กฎหมายอย่างง่าย หากแก้อย่างยากต้องออกเป็นประมวลกฎหมาย ซึ่งเวลานี้เริ่มมาประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว​​ ยกร่างมาแล้ว หลังรับฟังความคิดเห็นแล้วภายในสัปดาห์เดียวก็น่าจะนำเข้า ครม.ได้ ความเห็นที่เสนอไปก็ไม่ได้เห็นตรงข้าม เรื่องคุณสมบัติก็เห็นด้วย ส่วนข้อเสนอเรื่องจำนวน อบต.ก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยก็ตัดทิ้ง"

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ประเด็นเรื่องความพร้อมสู่การเลือกตั้งขณะนี้ในพื้นที่พร้อมมานานแล้ว เหลือแต่ก็หมาย เพราะกรณีที่คนไม่ชอบผู้บริหารก็อยากเปลี่ยน หรือคนแพ้รอบที่แล้วก็อยากลงสมัครรอบใหม่

ถามว่าประเมินสถานการณ์บรรยากาศการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นในยุค  คสช.​จะดุเดือดหรือไม่นั้น สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ​ที่ผ่านมาก็ไม่ดุเดือด ยิ่งปัจจุบันกฎหมายใหม่คุมเข้ม ทุกคนรู้อยู่แล้วว่า คสช.​เอาจริง ใครกระทำการผิดกฎหมายก็เสี่ยงที่จะถูกจับได้ ติดคุก ถูกตัดสิทธิตลอดชีวิตตามรัฐธรรมนูญใหม่ ดังนั้น เชื่อว่าเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ทุกคนคงจะเคารพกติกา เพราะโทษรุนแรงขึ้น น่าจะทำให้สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ​

ส่วนเงื่อนไขเรื่องที่ คสช.​ยังไม่ปลดล็อกให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มต่างดำเนินกิจกรรมได้ในช่วงนี้ จะเป็นปัญหาต่อการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ สุทธิพงษ์ กล่าวว่า ในพื้นที่เขาก็ยังใช้ชีวิตปกติ คนไทย ไปงานบุญ งานวัด กินเลี้ยง งานแต่ง ​ใช้ชีวิตเหมือนเดิม

"บ้านเราเป็นเมืองเสรีโดยธรรมชาติ ถึงมีคำพูดสุภาษิตว่าทำไอะไรได้ตามใจคือไทยแท้ ไม่ว่าจะมีกฎหมายหรือคำสั่งยังไง แต่ชีวิตคนก็ยังมีอิสระในระดับที่สูง ยกเว้นเรื่องกฎหมายที่ห้ามเรื่องการชุมนุมทางการเมือง ​เผลอๆ บอกเลือกตั้งพรุ่งนี้เขาก็ยังพร้อม เพราะเขาทำดีกับชาวบ้านตลอด"​

สำหรับเรื่อง กกต.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้งนั้น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า กระบวนการเลือก กกต.ชุดใหม่จะมีความชัดเจนในวันที่ 20 ธ.ค. ซึ่ง กกต.ชุดเก่าก็มีอำนาจอยู่แล้วในการจัดการเลือกตั้ง เมื่อได้ตัวจริงเสียงจริงดำเนินการก็มีความชัดเจนมากขึ้น

"แม้จะอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านแต่ไม่น่ามีปัญหา กกต.พร้อมตลอด เพราะ กกต.เองไม่ได้มีเฉพาะ 5 เสือ มีฝ่ายประจำที่เชี่ยวชาญ​ทำงานอยู่แล้ว ไม่น่าห่วง และถ้าได้ผู้บริหารสูงสุดขององค์กร มีตัวจริงก็จะดีกว่า" ​สุทธิพงษ์ กล่าว