posttoday

ท่ามกลางซากปรักหักพัง ไม่คิดแข่งมีอำนาจ

03 กรกฎาคม 2559

"วันนี้เราจะทำอะไรต้องเกรงใจประชาชน คิดแย่งอำนาจกันวันที่ประชาชนยากลำบาก สู้กันจนบ้านเมืองพังทลาย แล้วยังคิดแย่งอำนาจต่อ คิดแบบนี้ในมิตินี้ดิฉันไม่เอา ไม่คิดจะทำ ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเมืองไม่คิดแข่งมีอำนาจวาสนา ควรคิดสร้างบ้านสร้างเมือง"

โดย....ฐายิกา จันทร์เทพ, ธนพล บางยี่ขัน

สปอตไลต์การเมืองจับมาที่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย หลังจากเปิดหน้าเตรียมเดินสายพูดคุยหารือกับนักการเมืองแต่ละพรรคเพื่อร่วมกันหาทางออกให้ประเทศ

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดักคอว่าอาจเป็นเพียงแค่การต่อรองเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง จนห่วงกันไปอีกว่านี่อาจบานปลายเป็นชนวนไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรง ทำให้เส้นทางการพูดคุยที่จะเกิดขึ้นมีอันต้องสะดุดลงไป

สอดรับไปกับกระแสข่าวมีสัญญาณจากแดนไกลวางตัวเธอเป็น “แคนดิเดต” ลงสนามชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปกับการเลือกตั้งรอบใหม่ที่จะมีขึ้นในปี 2560

ท่ามกลางความคลุมเครือ คุณหญิงสุดารัตน์ ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ในทุกประเด็น เริ่มจากเรื่องการเจรจาหาทางออกประเทศ ซึ่งเธอออกตัวว่าไม่ใช่ต้นคิด แต่เกิดขึ้นในวงเสวนาวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล

วันนั้นคณาจารย์ได้เสนอขึ้นมาว่านักการเมืองน่าจะพูดคุยกันบ้าง จึงบอกว่าได้มีการคุยกันอยู่ เพราะที่ผ่านมาแทนที่จะคุยกัน กลับปล่อยให้เกิดปฏิวัติรัฐประหารจนเสียประชาธิปไตยไป ซึ่งเป็นมุมมองจากคนภายนอก จึงได้ตอบรับเพราะส่วนตัวเองก็มีความรู้สึกเห็นด้วยกับแนวคิดนี้อยู่แล้ว

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาจากที่เราขัดแย้งกัน เอาชนะคะคานโดยไม่รักษากติกาประชาธิปไตย จนในที่สุดก็สูญเสียประชาธิปไตยไป อย่างน้อยเราก็ควรแสดงความรับผิดชอบร่วมกันในการหาทางออก อำนาจในการหาทางออกตรงนี้อาจไม่ใช่ของนักการเมืองในปัจจุบัน แต่อย่างน้อยอย่าเพิ่มปัญหา ทำยังไงถึงจะลดปัญหาได้”

ส่วนตัวคิดว่าการทำอะไรควรจะต้องเริ่มจากตัวพวกเราเอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดเกิดความเสียหาย มีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเราก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น การแก้ไขก็ควรเริ่มจากตัวเราเองเหมือนกับที่บอกว่าปฏิรูปประเทศ เพราะหากแต่ละฝ่ายไม่ปฏิรูปตัวเอง แล้วจะปฏิรูปประเทศได้อย่างไร

“ถ้านักการเมืองคุยกันแล้วผ่อนภาระขณะนี้ได้ก็ไม่น่ามีผลเสียอะไร ไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่โตอะไรที่สนับสนุนแนวคิดนี้ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นการมาต่อรองกับผู้มีอำนาจ สร้างเงื่อนไขให้เกิดความวุ่นวาย เป็นการคิดด้วยใจบริสุทธิ์ที่จะไม่เพิ่มปัญหาให้ประเทศ แต่ถ้ามีส่วนทำให้ลดปัญหาได้ก็จะดี”

คุณหญิงหน่อย ยืนยันว่าไม่ใช่การไปตั้งกลุ่มต่อรองกับผู้มีอำนาจ และยังงงว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เพราะวันนี้สังคมเริ่มเดินมาถึงจุดที่คนที่เห็นต่างคุยกันไม่ได้เลย หรือมันคืออะไร หลักประชาธิปไตยคือการจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันให้เกิดความสงบสุข การอยู่ร่วมกันในสังคมหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือนกันชอบเหมือนกัน แต่ทำให้คนที่เห็นไม่เหมือนกันชอบไม่เหมือนกันอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

“ไม่เหมือนบรรยากาศสมัยเคยเป็น สส.รุ่นแรกๆ กับพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเพื่อนกันคุยกัน ไปกินข้าวด้วยกัน ตอนนั้นต้องอภิปรายผู้ใหญท่านหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ คุณพ่อก็แนะนำว่าอภิปรายเสร็จให้ไปขอโทษ เราต้องทำหน้าที่ของเราในสภา อภิปรายด้วยหลักการเหตุผลไม่พูดความเท็จ เสร็จแล้วก็ไปขอโทษตามที่คุณพ่อแนะนำ เป็นวัฒนธรรมของผู้เจริญ เราอาจไม่ได้เป็นพวกเดียวกัน เราอาจเห็นต่าง แต่เราสามารถทำงานหาจุดร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ วันนี้เป็นแนวคิดนี้เท่านั้นเอง

“หลายสื่อไปบอกว่าสุดารัตน์จะเป็นแกนนำเดินพูดคุย ไม่เคยพูดเลย ไม่เคยคิดว่าจะเป็นแกนนำเดินพูดกับใครได้หรอก เพียงแต่มีแนวคิดในเวที อาจารย์ท่านบอกว่าทำไมไม่ทำอย่างนี้บ้าง อย่างอาจารย์โคทม อารียา ก็เสนออาจให้มี Code of conduct เป็นสัญญาประชาคมนักการเมืองด้วยกัน อันนี้นักวิชาการก็เสนอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาแล้วเราจะไม่ตอบสนองเขาเลยหรือ

“มันไม่ใช่ภาพอย่างที่นำเสนอกัน อยู่ๆ สุดารัตน์จะลุกขึ้นไปพูดกับทุกฝ่ายเพื่อหาทางออกประเทศ ดิฉันไม่มีอำนาจใดๆ เลย เป็นเพียงประชาชนคนไทยเท่านั้นเอง ดังนั้นไม่อาจหาญจะเรียกใครหรือไปพูดกับใครได้หรอก มันทำไม่ได้แน่นอน เพียงแต่เมื่อเขามีเวทีและแนวคิดแบบนี้ดิฉันสนับสนุน ยืนยันว่าตัวเองไม่ได้มีอำนาจอะไร และประมาณตัวเองดีว่าไม่ได้มีกำลังอำนาจไปเดินคุยกับใคร” 


แม้แนวคิดเรื่องการหารือระหว่างนักการเมืองจะถูกปฏิเสธจากหลายฝ่าย แต่คุณหญิงสุดารัตน์มองว่า ด้วยสำนึกของคนที่อดีตเคยเป็นนักการเมือง เมื่อสังคมคิดว่านักการเมืองเป็นจำเลย ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเอง การมีวิธีการคุยอย่างสร้างสรรค์ไม่น่าจะเป็นผลเสียอะไรกับประเทศชาติ มันคงไม่สามารถทะลุทะลวงได้ แต่อย่างน้อยได้นิดได้หน่อยในการแก้ปัญหาประเทศ

“เกิดความเข้าใจว่าไปคุยกันเดี๋ยวจะไปสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหา ต้องเรียนว่าเราไม่มีโอกาสสื่อสาร แต่เรียนว่าวัตถุประสงค์ความต้องใจวันนั้นคือการคุยกันแล้วไม่สร้างปัญหา ไม่คิดต่อรองอะไร เพื่อใคร ทำไม่ได้อยู่แล้วต่อรองให้พรรคใดพรรคหนึ่ง เพราะถ้าคุยกันก็ต้องมาจากหลายพรรค มีนักวิชาการร่วมคุยด้วย จะต่อรองกันได้ไง แต่เป็นแนวคิดที่จะหาทางออกประเทศ ขอให้ผู้นำสบายใจได้ว่าเป็นเจตนาบริสุทธิ์”

ส่วนกระแสที่จุดไม่ติด ไม่มีพรรคการเมืองออกมาขานรับนั้นก็ไม่เป็นไร วันนี้ใครเห็นด้วยก็มาตั้งวง วันนี้ยังไม่มีใครเป็นผู้นำ ใครคิดตรงกันก็มานั่งคุยกัน ส่วนตัวก็ไม่ใช่ผู้นำ นักวิชาการเขาคงจะสร้างเวทีให้ถ้าไม่ท้อซะก่อน สร้างเมื่อไหร่ไปร่วมแน่นอน ส่วนนักการเมือง ผู้นำพรรค วันนี้อยากให้ช่วยคิด อย่าไปคิดกรอบรูปแบบเก่าๆ ที่เอาเรื่องบ้านเมืองมาคิดเป็นเรื่องการเมือง วันนี้ไม่ใช่เวลามาคิดแบบนั้น

“ความยากลำบากของประชาชน และบ้านเมืองที่เสียหาย เราต้องคิดใหม่ ต้องคิดที่จะปฏิรูปความคิดตัวเอง การคุยกันได้ ไม่ใช่ฮั้วเจรจา เราต้องคุยกันได้บนผลประโยชน์ของประชาชนแบ่งไปคนละหนึ่งละสอง อำนาจแทบไม่มี อยากฝากว่าเราต้องคิดด้วยความจริงใจกับประเทศชาติประชาชน เลิกคิดเรื่องบ้านเมืองเป็นการเมือง”

มีเสียงสะท้อนออกมาว่า ถามว่าแนวคิดเรื่องการพูดคุยรอบนี้ที่จุดไม่ติดเพราะมีความระแวงจากคู่แข่งเกี่ยวกับอนาคตทางการเมือง คุณหญิงสุดารัตน์ชี้แจงว่า มันคือกรอบความคิดแบบการเมืองเก่าที่จะคิดแบบนี้ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นสิบกว่าปีมานี้

“บ้านเมืองเสียหายไปเยอะ ถ้าเราไม่คิดกันอย่างที่มีความจริงใจต่อประชาชน ยังคิดว่าคนนั้นเป็นคู่แข่ง คนนี้เป็นคู่แข่ง แข่งกันขัดแย้งกันจนบ้านเมืองพังทลาย ก็ยังใช้กรอบความคิดอย่างนี้คิดต่อไป ดิฉันไม่แข่งด้วยในเวทีนี้ วิธีนี้”

ประเด็นที่สอง การมองว่าจะเป็นคู่แข่งทางการเมืองจะได้รับนู่นนี่นั่น สำหรับเพื่อไทยเมื่อถึงเวลาต้องเข้าสู่การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็ต้องปรับในสิ่งที่ถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนและรักษาจุดแข็งตัวเอง คือ การที่ทำอะไรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่วนใครจะเป็นผู้นำต่อไป ต้องมาจากการตัดสินใจของพรรคเพื่อให้สามารถดำเนินการเมืองต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าตอนนี้จะตัดสินใจอะไรได้

“การทำครั้งนี้ไม่ได้หวังผลให้มีกระแสการเมือง ตัวดิฉันอยู่ในการเมือง 20 ปี ได้ความภาคภูมิใจสูงสุดหมดแล้ว ได้มีโอกาสทำงาน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเครื่องราชฯ เป็นความภาคภูมิใจสูงสุด ไม่ได้อยากได้อะไรเพิ่มเติมเพราะการเมืองในบรรยากาศแบบนี้

“เงื่อนไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ การที่จะอาสามารับใช้บ้านเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเราอาสาประชาชนมาทำงาน ภายใต้บรรยากาศแบบนี้ หากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านแทบจะทำอะไรให้ประชาชนไม่ได้ ประชาชนมีทุกข์ก็ทำได้อย่างมากแค่ไปร้องไห้ด้วยกัน บรรยากาศแบบนี้จะมีความสุขได้ไง แค่เวทีเสวนา พูดเรื่องการคุยกันสำนึกตัวเองลดปัญหาบ้านเมืองยังเป็นประเด็นขนาดนี้ ไม่เอื้อให้เกิดความรักสามัคคี อย่าไปคิดว่าดิฉันต้องออกมาสร้างข่าวสร้างเวที อย่าคิดไปไกล”

ถามว่าถูกคนแดนไกลวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรคคนต่อไปใช่หรือไม่ คุณหญิงสุดารัตน์ตอบว่า ไม่จริง พรรคเพื่อไทยต้องเดินหน้าต่อ สมาชิกก็ต้องเลือกผู้นำ พรรคเองก็ต้องปรับตัวเอง อะไรเป็นจุดอ่อนก็ปรับปรุงตัวเองเพื่อที่จะลดจุดอ่อนให้ได้มากสุด จุดแข็งคือคิดอะไรให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางยิ่งต้องแข็งแรง

ถามต่อว่าหากมีการเสนอชื่อชิงนายกรัฐมนตรีพร้อมรับตำแหน่งหรือไม่ คุณหญิงหน่อย บอกว่า อย่าเพิ่งคิดไปไกล สังคมมองการเมืองเป็นปัญหา เราเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองอยากมีส่วนร่วมคลี่คลายปัญหา แค่คิดยังลำบากเลย ดังนั้นเอาเรื่องบ้านเมือง เอากติกาบ้านเมืองรอดก่อนค่อยคิดทำนู่นนี่

“วันนี้เราจะทำอะไรต้องเกรงใจประชาชน คิดแย่งอำนาจกันวันที่ประชาชนยากลำบาก สู้กันจนบ้านเมืองพังทลาย แล้วยังคิดแย่งอำนาจต่อ คิดแบบนี้ในมิตินี้ดิฉันไม่เอา ไม่คิดจะทำ ท่ามกลางซากปรักหักพังของบ้านเมืองไม่คิดแข่งมีอำนาจวาสนา ควรคิดสร้างบ้านสร้างเมือง อย่าไปคิดการเมือง คิดการบ้านการเมืองให้มากหน่อย ถ้าทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข จะไปแข่งแย่งอำนาจไม่มีใครว่า แต่ถ้ายังคิดบน Paradigm เดิมแบบนี้ ขออนุญาตไม่ไปร่วมคิดร่วมแข่งด้วย”คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย

ท่ามกลางซากปรักหักพัง  ไม่คิดแข่งมีอำนาจ

ธรรมาธิปไตยทางออกของประเทศ

กลายเป็นงานหลักสำหรับงานบุญ สร้างวัด สร้างพระ ทั้งในและนอกประเทศที่เพียรทำมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่วงที่ติดล็อกทางการเมืองในฐานะสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งยังคงทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันที่ไร้พันธนาการทางการเมือง

อีกด้านหนึ่ง คุณหญิงสุดารัตน์ยังสมัครเรียนหลักสูตรปริญญาเอกด้านพุทธศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้สองปีและกำลังจะจบในปีหน้า โอกาสนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ได้ทำวิทยานิพนธ์ เรื่องการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ด้วยวิถีพุทธ ภายใต้หัวข้อ “ธรรมาธิปไตยคือทางออกของประเทศ”

ในฐานะที่ถูกมองว่านักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เราก็ต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่าเราจะลดปัญหาโดยเงื่อนไขตัวเราเองได้หรือไม่ แต่ถ้าฝ่ายเดียวลดก็จะหาทางออกไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างต้องลดเงื่อนไขส่วนที่จะเป็นปัญหา และแสวงหาจุดร่วมกัน ก็จะทำให้เดินไปข้างหน้าได้ ตรงนี้คือหัวใจวิทยานิพนธ์ ซึ่งกำลังศึกษาเรื่องนี้

“เช่น ตอนนี้คนมีความคิดสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งบอก นักการเมืองโกง ซื้อเสียง มาเป็นรัฐบาล แล้วก็ปฏิวัติ เป็นวงจร แสวงหาประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ อีกฝั่งก็บอกว่าวันนี้ถูกกระทำ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ที่มีระบบนิติธรรม นิติรัฐ จนเกิดสองมาตรฐาน ก็เป็นความคิดสู้กันตรงนี้ เกิดความร้าวฉานในทุกหน่วยในสังคมจนถึงครอบครัว แต่แท้จริงสองฝ่ายก็แสวงหาประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ แนวคิดแบบนี้เรียกว่าธรรมาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่ศัพท์ใหม่ใครเป็นเจ้าของแต่แรก แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติคำนี้มากว่า 2,500 ปี”

คุณหญิงสุดารัตน์ อธิบายว่า ธรรมาธิปไตย คือ การใช้หลักธรรมในการอยู่ร่วมกัน การแก้ไขวิกฤตขัดแย้ง โดยพิจารณาตัวเองเสียก่อน ลดเงื่อนไขอะไรได้ไม่เป็นภาระ ไม่เป็นปัญหา และหาจุดร่วมกันเหมือนกัน ฝ่ายการเมืองต้องไม่คิดถึงตัวเองและพรรคการเมืองตัวเองมากกว่าเรื่องของประชาชน

“สภาพวันนี้เกิดความยากลำบาก ถ้าเรามองว่าอะไรเป็นประโยชน์ของประชาชน แล้วเอาจุดนั้นที่เห็นเป็นจุดร่วมก่อน สงวนจุดต่างไว้ก่อนก็พอคิดจะหาทางออกได้ สิ่งที่ตั้งใจมีเพียงเท่านั้น อย่าได้ระแวง”

คุณหญิงสุดารัตน์ ยังยืนยันว่าจะเดินหน้าพูดคุยกับพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อหาทางออกให้ประเทศต่อไป โดยรอเวทีที่ทางภาควิชาการหรือส่วนอื่นๆ จะจัดขึ้น ส่วนใครไม่เห็นด้วยก็ไม่เป็นไร แต่ก็ต้องถามตัวเองทุกฝ่าย ทั้งเทคโนแครต ผู้มีอำนาจว่าบ้านเมืองเราเสียหายจากวิกฤตความขัดแย้งครั้งนี้ บ้านเมืองยากลำบากขัดแย้งกันจนสูญเสียประชาธิปไตย ทำให้เกิดแรงกดดันต่างๆ กระทบธุรกิจการค้า

“โลกมันคือพื้นที่เดียวกัน มันต้องค้าขายกับต่างชาติ เราปฏิเสธไม่ได้ จะอยู่คนเดียวก็เป็นไปไม่ได้ ทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเดินไม่ได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเห็นปัญหาตรงนี้ ถึงเวลาหรือยังที่จะหาทางออกให้ประเทศอย่างสร้างสรรค์ด้วยสันติวิธี”

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวค่อนข้างตกใจที่ผู้นำการเมืองพรรคเก่าแก่ไม่เห็นด้วย เพราะแนวคิดนี้คือแนวคิดที่นักประชาธิปไตยควรคิด ควรจะแก้ คนมองนักการเมืองเป็นจำเลย แต่หากนักการเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยวิถีประชาธิปไตย ปล่อยให้เกิดการปฏิวัติและเขียนระเบียบให้เรา ก็เหมือนไม่รักษาเวทีประชาธิปไตย

“เราควรจะเป็นฝ่ายปฏิรูปตัวเอง ปรับปรุงตัวเองเหมือนรักษาประโยชน์ส่วนรวม แปลกใจและตกใจที่ผู้นำพรรคเก่าแก่ไม่เห็นด้วย ไม่แน่ใจว่าไม่เห็นด้วยเพราะข่าวนำเสนอว่าเป็นสิ่งที่ดิฉันนำเสนอหรือไม่ แต่จริงๆ ข้อเท็จจริงอย่างที่เรียนว่าเวทีเสนอ เราก็เป็นฝ่ายเสนอ แต่เสนอหลายคน และน่าจะเป็นทางออกตามวิถีประชาธิปไตยที่ดี

“หลักที่จะคุย คือ หลักธรรมาธิปไตยที่ดี หลักที่พระพุทธเจ้าสอน การพูดคุยต้องเริ่มจากคิดดี ทำดี พูดดี มีความบริสุทธิ์ใจต่อกัน มีความหวังดีต่อกัน หรือที่เรียกว่า สาราณียธรรม ซึ่งพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้หมด คือหลักที่ใช้ถึงปัจจุบันว่า คนที่ถูกมองว่าเป็นจำเลยควรแก้ไขปัญหา” คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว

กติกา กรงขัง แก้ปัญหาไม่ได้

ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ กำลังนับถอยหลังสู่วันชี้ชะตา 7 ส.ค.นี้ แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวการเมืองที่ถูกโฟกัสก็หนีไม่พ้นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นประเด็นต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญ ขณะนี้หลายฝ่ายกำลังจับจ้องไปที่ความเคลื่อนไหวของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะหนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เปิดประเด็นวิพากษ์และแสดงความเห็นต่างพร้อมกับแสดงความเป็นกังวลต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 อยู่หลากประเด็น เริ่มตั้งแต่ อารัมภบท ที่เห็นได้ชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ มองว่านักการเมืองเป็นโจทย์ใหญ่ จึงมีการเขียนควบคุมกำกับนักการเมือง กำกับรัฐบาลบนโจทย์ที่ว่านักการเมืองทุจริต นักการเมืองเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง และรัฐธรรมนูญสามารถปราบทุจริตได้จริง ก็พร้อมที่จะสนับสนุนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ

“แต่เท่าที่ปรึกษาเนื้อหารายละเอียด ก็ตั้งคำถามขึ้นมาว่ามันจะโปร่งใสได้จริงหรือเปล่า เพราะยังมีช่องว่างอยู่มาก และเมื่ออ่านๆ ไปก็พบรู้สึกและสัมผัสได้อีกว่า เรื่องของประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดินที่ต้องการแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้าน ทำยากมาก ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ตามหรือแม้แต่รัฐบาลปัจจุบันหากรัฐบาลนั้นต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ บอกได้เลยว่าทำงานยาก” คุณหญิงหน่อย แสดงความเห็น

พร้อมกับยกตัวอย่างกติกา หรือกลไกต่างๆ ที่สร้างไว้ที่ทำให้เคลื่อนตัวในการแก้ไขปัญหาประชาชนยาก เช่นในอดีตเหตุผลการทำปฏิวัติยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ด้วยการสร้างความบิดเบือน เพื่อให้เกิดภาพพจน์ที่เสียหายและเป็นข้ออ้างในการล้มรัฐบาล หนึ่งเรื่องนั้นคือ รัฐบาลไทยรักไทยสมัยนั้นขายชาติ ด้วยเรื่อง “การเจรจาเขตการค้าเสรี” (Free Trade Area) จนนำไปสู่การยึดอำนาจและการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมาตรา 190 ที่ได้ร่างขึ้นมานั้น กำกับรายละเอียดมากมาย ว่าใครจะเซ็นสัญญาการค้าระหว่างประเทศบ้าง ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้างเยอะแยะไปหมด

จนกระทั่งรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศขณะนั้น ซึ่งไม่ใช่พรรคไทยรักไทย ต้องกลับเข้ามาขอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 นั้น เพราะท้ายที่สุดมันไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ นี่คือสัจธรรม แล้วรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้นที่เขียนกำกับไว้มากมาย และไม่สามารถที่จะแก้ไขได้ด้วยแล้วถามว่าหากวันหนึ่งที่รัฐบาลเขามาบริหารแล้วเจอปัญหาที่อยู่ภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร

คุณหญิงสุดารัตน์ อธิบายต่อไปว่า ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เขียนเนื้อหาที่ต้องอาศัยการตีความ ให้อำนาจองค์กรกลาง องค์กรอิสระ และศาลต่างๆ ให้มากำกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลมาก ซึ่งเป็นการให้อำนาจโดยไม่มีการถ่วงดุล และในที่สุดก็จะก่อเกิดปัญหา เช่น 3 องค์กรอิสระที่มีองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านแตกต่างกัน ประชุมกันแล้วมีมติระงับยับยั้งเรื่องที่รัฐบาลกำลังจะทำในบางเรื่อง บางนโยบายได้

แต่ถามว่าหากนโยบายนั้นเป็นสิ่งจำเป็น ที่เราเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเจริญของประเทศ ประเทศต้องมีการพัฒนาแล้วจะไปห้ามได้หรือ มันก็ต้องทำ เช่น เรื่องรถไฟฟ้าความเร็วสูง ที่ในอดีต มีมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญระงับไม่ให้สร้าง ตุลาการบางคนบอกว่าไปทำถนนดินลูกรังก่อน ในที่สุดรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ก็ต้องพยายามเดินหน้าผลักดันให้เกิดขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงความจำเป็น

คุณหญิงหน่อย กล่าวย้ำว่า การเขียนรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจองค์กรอิสระมาก แต่สิ่งที่ยังไม่ได้ใส่ไปคือการตรวจสอบถ่วงดุล ถ้าองค์ความรู้พื้นฐานของแต่ละองค์กรอิสระต่างกัน มองกันคนละมุม แล้วจะเดินยังไง การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนให้ยาก สุดท้ายจะกลับมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เป็นอุปสรรคการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ นี่คือความห่วงใย มันจะทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นไม่ได้ หรือหากเกิดได้ ก็จะเกิดยากมาก

“ดิฉันห่วงประเทศตรงที่ว่าการสร้างกฎกติกาที่เป็นกรงขัง มันไม่ได้แก้ปัญหาได้”

ท่ามกลางซากปรักหักพัง  ไม่คิดแข่งมีอำนาจ

ส่วนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่คุณหญิงสุดารัตน์ เห็นว่าเป็นปัญหาและส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยได้ยกตัวอย่างเรื่องโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ว่า วันนี้หลักการของ 30 บาท เดิมรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 42 บอกว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และสิทธิที่เสมอกัน ทั่วถึง มีประสิทธิภาพ” มันเป็นหัวใจสำคัญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกทำให้เพี้ยนและผิดจากหลักการไปเยอะ มันไม่ใช่โครงการประชานิยมที่จะไปแข่งกันรักษาฟรี แต่เป็นโครงการที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ และให้โอกาสประชาชนในการเข้าถึงการรักษาอย่างทัดเทียมและมีประสิทธิภาพ

แต่วันนี้ในร่างรัฐธรรมปี 2559 ที่เขียนเรื่องรักษา 30 บาท โดยตัดคำว่า “สิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุข” ซึ่งสิ่งที่หายไปตรงนี้ จะทำให้เกิดปัญหา และในนัยส่วนหนึ่งคือเรื่องประสิทธิภาพ เพราะสิทธิที่เสมอกัน และประสิทธิภาพ

คุณหญิงหน่อย กล่าวอีกว่า ความเสมอกัน คือ ความทัดเทียม เพราะจริงๆ แล้วหลักการของการรักษาโรค 30 บาท คือเราไม่ได้ต้องการที่จะให้มีสิทธิ 2 ระดับ ไฮคลาส กับ โลว์คลาส แต่เราต้องการสิทธิทัดเทียม และเสมอภาค หลักการที่สำคัญคือคนไทยทุกคนต้องได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมกัน ถามว่าการเขียนแบบนี้จะทำให้กลับไปในอดีตหรือไม่ ที่จะมีบัตรที่เรียกว่า “บัตรอนาถา” และประชาชนต้องไปแสดงตัวเป็นผู้ยากไร้หรือไม่ นั่นแสดงให้เห็นคือความไม่ทัดเทียม

นอกจากนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ ยังได้พูดถึงเนื้อหาในส่วนของ “ศาสนา” ด้วยว่าศึกษาอย่างละเอียดพบว่า กระทบเยอะมากและต้องเกิดการตีความอยู่หลายข้อ เช่น ตามรัฐธรรมนูญเดิมปี 2540 และ 2550 ที่เขียนว่า “รัฐต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกของทุกศาสนา รวมการนำหลักธรรมของศาสนามาใช้เพื่อส่งเสริมคุณธรรมและคุณภาพชีวิต”

แต่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 เขียนว่า “ต้องส่งเสริมความเป็นรัฐพึงอุปถัมภ์คุ้มครองศาสนา และเขียนว่ารัฐพึงส่งเสริมการศึกษาและการเผยแพร่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท” ซึ่งยอมรับว่าตกใจมากเพราะเป็นครั้งแรกที่เขียนระบุเฉพาะ “เถรวาท” ซึ่งจะถูกตีความเพราะเดิมส่งเสริมทุกศาสนา วันนี้กลับมากำหนดแค่พุทธศาสนาเถรวาท มันก็จะมีปัญหา

“เแค่ศาสนาพุทธด้วยกันก็มีปัญหาแล้ว นอกจากนิกายเถรวาทก็ยังมีนิกายมหายานอีก เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ วัดญวน และวัดพุทธอื่นๆ ทั่วโลกอีกมากที่เป็นนิกายมหายาน อีกทั้งเรายังเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธ เราต้องรับทั้งพุทธมหายานและพุทธเถรวาท เวลาประชุมพระพุทธศาสนาในประเทศไทยก็มีทุกปี แต่รัฐธรรมนูญมาเขียนแบบนี้จะลำบาก”

คุณหญิงสุดารัตน์ สำทับปัญหาอีกว่า พุทธศาสนาในนิกายมหายานเมื่อไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งที่เป็นหลักธรรมที่ควรสนับสนุนเช่นกัน รวมถึงศาสนาอื่นด้วย ไม่ว่าจะศาสนาคริสต์ อิสลาม หรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ โรงเรียนสอนศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถ้าไม่ได้รับการส่งเสริมอย่างนี้มันจะเกิดผลเสีย ตามมาอีกมา

“สุดท้ายเราเข้าใจว่าหลักการเขียนแบบข้อกฎหมายคือรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะไม่ได้คำนึงถึงผลที่จะเกิดตามมา เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องประชารัฐ เรื่องเกษตรกร ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะต้องศึกษาและได้วิพากษ์เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อไป ไม่ควรจะถูกปิดกั้น”คุณหญิงหน่อย ระบุ