posttoday

เปิดไทม์ไลน์บอร์ด AI แห่งชาติ ตั้งเป้า 3 ปี ปั้นบุคลากรแสนคน

14 พฤษภาคม 2568

"ประเสริฐ" เผยแผน 3 ปี บอร์ด AI แห่งชาติ ตั้งเป้า 3 ปี ปั้นบุคลากร 1 แสนคน ต้องนำหลักสูตรบรรจุตั้งแต่ชั้นประถม หวังเปลี่ยนจากผู้ใช้ เป็นผู้สร้าง

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ บอร์ด AI แห่งชาติ นัดแรก เมื่อวันที่ 1 พ.ค.2568 มีการพูดถึงกรอบเป้าหมายในระยะสั้น กลาง และยาว 

ในระยะสั้นเน้นสร้างการเรียนรู้และการประยุกต์ใช้งาน AI ให้เกิดขึ้นในประเทศภายในปีนี้ 

เปิดไทม์ไลน์บอร์ด AI แห่งชาติ ตั้งเป้า 3 ปี ปั้นบุคลากรแสนคน

ส่วนเป้าหมายระยะกลางถึงยาว คือภายใน 3 ปี ประเทศไทยจะต้องผลิตบุคลากรด้าน AI อย่างน้อย 100,000 คน

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังอยู่ระหว่างจัดทำตัวเลขการลงทุนของรัฐในด้าน AI ซึ่งยังไม่ประกาศชัด แต่คาดว่าจะอยู่ในระดับหมื่นล้านบาทขึ้นไป และหากนับรวมการลงทุนในระบบนิเวศ เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ การพัฒนาแพลตฟอร์ม และการเชื่อมโยงข้อมูล อาจสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท

นายประเสริฐ กล่าวว่า สำหรับบอร์ด AI แห่งชาติ มีการเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ โดยไม่มีการจำกัดจำนวนสมาชิกอย่างเป็นทางการ แต่ยืนยันว่า จะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายด้าน 

ทั้งจากฝั่งภาครัฐ เช่น กระทรวงดีอี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมถึงมีตัวแทนจากสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มภาคเอกชนที่จัดตั้งตามกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามว่า แม้จะมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมในฐานะสภาดิจิทัลฯ แต่ยังไม่ชัดเจนว่า เอกชนในฐานะผู้ใช้งานและนักพัฒนานวัตกรรมจะมีบทบาทมากน้อยเพียงใด ท่ามกลางความกังวลว่า สัดส่วนคณะกรรมการจะเอียงไปทางฝั่งราชการมากเกินไป

นายประเสริฐ เน้นว่า ในการประชุมมีหารือถึงการปรับหลักสูตรการศึกษา เพื่อปูพื้นฐานด้าน AI ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เช่น ประเทศจีนที่เริ่มสอน AI ในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นต้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องเร่งอัปเกรด การศึกษาทั้งระบบเพื่อรองรับอนาคต ขณะเดียวกันก็ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันสมองไหล โดยเฉพาะกลุ่มคนเก่งด้าน AI ที่อาจถูกดึงตัวโดยต่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ประเทศไทยไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี แต่จะเน้นการใช้งานที่เหมาะสมในภาคธุรกิจและบริการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญ จึงมีเงื่อนไขว่า หากต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีควบคู่ไปด้วย หวังว่าจะเป็นก้าวใหญ่ของประเทศในการขึ้นเป็นผู้พัฒนา AI ไม่ใช่เพียงผู้ใช้เท่านั้น