posttoday

กระแสเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อเมียนมา

04 ธันวาคม 2564

คอลัมน์ เปิดประตูค้าชายแดน

ช่วงที่ผ่านมาเกือบสองปี ทางประเทศเมียนมาได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID-19 อย่างรุนแรง รวมทั้งต้นปีนี้ ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำให้มีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสมากๆ 

จนถึงวันนี้ปัญหาก็ยังไม่ได้คลี่คลายลงไป ยังคงมีผลกระทบจากการที่ประเทศในฝั่งตะวันตกพยายามอย่างยิ่ง ที่จะทำให้ประเทศเมียนมากลับมาเป็นประชาธิปไตยให้ได้ จึงลงดาบมาตรการต่างๆออกมา

แม้จะยังไม่ถึงขั้นสูงสุดก็ตาม แต่ก็เพียงพอที่จะทำให้ประเทศเล็กๆอย่างประเทศเมียนมา รวมถึงผู้ประกอบการต่างประเทศที่ทำมาหากินอยู่ในประเทศเมียนมา  จากหลายๆประเทศได้เริ่มมีการถอนการลงทุน เดินทางออกจากประเทศเมียนมาไปแล้วหลายราย 

แต่อย่างไรก็ตาม กระแสของเศรษฐกิจโลก ทำให้ประเทศเมียนมาเอง แม้จะถูกมองในด้านลบหลายอย่าง ก็ยังคงต้องเดินหน้าไปตามกระแสโลกอยู่ดีครับ

ในช่วงนี้ปัญหาความสงบเรียบร้อยในประเทศเมียนมา แม้จะยังคงมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ประเทศรอบข้างอย่างประเทศไทยเรา ที่ทางเขาก็ได้จับตามองด้วยความชื่นชมและนำเอาไปดำเนินการเป็นแบบอย่างในหลายๆเรื่อง ที่ไม่เฉพาะมาตรการในนโยบายรัฐบาลนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในยุคไหน เขาก็นำเอามาตรการไปดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลของทั้งสองประเทศ 

เนื่องจากเรามีพรมแดนติดกันยาวมาก และเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกันมาก ประชาชนทั้งสองประเทศก็มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งการพึ่งพาอาศัยกันในด้านเศรษฐกิจการค้า-การลงทุนต่อกันมาช้านาน ทำให้เขาต้องมีการดำเนินนโยบายที่ต้องสอดคล้องกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ

ปัจจุบันนี้ประเทศไทยเราเองก็ประสบปัญหาทางด้านโรคร้าย COVID-19 เหมือนๆกัน แต่เราก็ได้ตัดสินใจเปิดประเทศแบบมีการควบคุมไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

และในเดือนนี้เราก็ได้เปิดให้แรงงานต่างชาติ ที่หมายรวมถึงแรงงานจากประเทศเมียนมา สามารถยื่นแบบขออนุญาตเข้ามาทำงานได้แล้ว การเดินทางเข้ามากำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ การเปิดอนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปในประเทศเมียนมา แม้จะอยู่ระหว่างการรอดูผลลัพธ์ที่ประเทศไทยเราจะได้รับ แต่รัฐบาลเมียนมาก็เริ่มมีแผนที่จะเปิดแล้วเช่นกัน 

ผมเชื่อว่าหากเจ้าวายร้ายกลายพันธุ์ โอ-ไมคอน ที่กำลังเผ่นพล่านไปทั่วโลกนี้ ประเทศไทยเราสามารถควบคุมได้อยู่อยู่หมัด ประเทศเมียนมาเองก็คงต้องขอนำเอาวิธีการของเราไปใช้ เพื่อเปิดประเทศอย่างไม่ต้องสงสัยเลยครับ เพื่อนๆผู้ประกอบการในประเทศเมียนมา คงต้องอดใจรออีกสักนิดนะครับ 

ต้นปีหน้าเราคงได้จัดทริปไปเมืองย่างกุ้งกันให้สนุกไปเลยครับ

ส่วนการตื่นตัวของผู้ประกอบการในประเทศเมียนมา ก็เริ่มมีแววออกมานิดๆแล้วนะครับ แม้สิ่งที่เป็นปัจจัยที่จะทำให้มีการหยุดชะงักของเศรษฐกิจก็ยังคงมีอยู่ เช่นการไม่ยอมรับรัฐบาลทหารที่เกิดในหมู่ประชาชนบางส่วน ที่ยังคงมีความไม่สงบเกิดขึ้นตามหัวเมืองต่างๆอย่างปะปราย และปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่ง 

คือระบบการเงิน-การธนาคารที่ยังคงมีปัญหาการขาดกระแสเงินสด ในภาคการค้า-การลงทุน ยังคงเป็นอุปสรรคที่ทางรัฐบาลเมียนมาในยุคนี้ จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขให้สำเร็จให้ได้ เพราะมิเช่นนั้นจะเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ประเทศเมียนมาแก้ไขเศรษฐกิจไม่ได้ ก็เหมือนลิงติดแหนั่นเองครับ 

ปัญหาของโควิดที่ยังคงสร้างปัญหาให้กับประเทศเมียนมา ก็ยังคงต้องเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนให้ได้อย่างเร่งด่วน วันนี้ประชาชนที่ได้รับวัคซีนในประเทศเมียนมา ถ้ารวมผู้ที่ได้รับไม่ว่าจะเข็มเดียวหรือสองเข็ม มีทั้งหมดมีเพียง 16,849,172 คน ในขณะประชากรทั้งประเทศที่เป็นทางการมีทั้งหมดประมาณ 54 ล้านคน (ไม่เป็นทางการน่าจะอีกเยอะ) 

เพราะฉนั้นถ้าคิดเป็นเปอร์เซนต์คนที่ได้รับวัคซีนจะมีเพียง 30.73% เท่านั้น นี่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เป็นอุปสรรคของการเปิดประเทศและพัฒนาเศรษฐกิจเช่นกันครับ 

ในขณะที่ภาคเอกชนหลายๆภาคส่วน ตามที่ผมเข้าใจจากประสบการณ์ของผม คนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนหรือแม้กระทั้งคนที่เป็นชาวบ้านพื้นๆเลย ที่ไม่ได้รับการเข้าถึงทั้งระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษา ในประเทศเมียนมายังมีอีกเยอะมาก หากเราเดินทางไปต่างจังหวัด ที่ห่างไกลจริงๆ 

เราจะสัมผัสได้ชัดเจนตามที่ผมเล่านี่แหละครับ ดังนั้นการดูแลและควบคุมการแพร่กระจายยังยากมากๆ บางคนที่เสียชีวิตหากไม่ได้เข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาล ก็จะไม่รู้ว่าเกิดจากโรคอะไรเลย  บางคนยังอาจจะคิดว่าถูกไสยศาสตร์กระทำก็ยังมีอยู่เลยครับ ผมจึงคิดว่ายากจริงๆครับ

ในส่วนของด้านบวกบ้าง ปัจจุบันนี้ระบบการสื่อสารเช่น ระบบโซเชี่ยวมีเดียFacebook หรือ Viber รวมทั้งอินเตอร์เน็ตที่ประเทศเมียนมา ก็ค่อนข้างจะกระจายออกไปได้เยอะกว่าในอดีตมาก คนรุ่นใหม่จึงมีโอกาสเข้าถึงได้มาก 

ดังนั้นหากมองในแง่บวก แม้คนรุ่นวัยหนุ่มวัยสาวจะเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเสียก็ไม่น้อย แต่ก็ยังมีคนที่จำเป็นต้องระมัดระวังตัวเองอยู่อีกเยอะมาก ดังนั้นเศรษฐกิจสำหรับเขาเหล่านั้น ยังคงมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่เช่นกัน 

ดังนั้นหากรัฐบาลจะมีนโยบายการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกคนทุกภาคส่วนก็คงต้องหันหน้ามามองดูนะครับ ว่า ต้องช่วยกันร่วมมือผลักดันต่อไป เพราะหากไม่จริงจังกับการผลักดัน ก็จะมีแต่เสียกับเสียครับ