posttoday

แหล่งที่มาของแรงงานเมียนมา

30 มกราคม 2564

โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีเพื่อนแฟนคลับเขียนมาถามว่า “แหล่งที่มาของแรงงานเมียนมา มาจากที่ไหน? ทำไม่มีเยอะเหลือเกิน” อีกท่านหนึ่งเขียนมาถามว่า “ทำไมแรงงานเมียนมาจึงชอบมาประเทศไทย ทั้งๆที่ประเทศอื่นๆที่มีค่าแรงสูงกว่าไทย ทำไมเขาจึงไม่ไปทำงานที่ประเทศอื่นๆ กลับมาเลือกทำงานที่ประเทศไทยเรา” 

ผมคิดว่าผู้ถาม คงเห็นโควิดระบาดในช่วงนี้ เลยเกิดคำถามกระมั้ง ผมเลยขออนุญาตนำมาตอบที่คอลัมน์นี้เลยนะครับ เพราะจะได้ให้เพื่อนๆท่านอื่นได้เข้าใจด้วยครับ 

ที่จริงคำถามแรก น่าจะง่ายมาก แรงงานเมียนมาที่มาทำงานในประเทศไทยเรา มีแหล่งที่มาจากขอบตะเข็บชายแดนที่ติดกับประเทศไทยเราเสียเป็นส่วนใหญ่ รัฐที่มีเขตแดนติดเรา เริ่มจากด้านเหนือคือรัฐฉาน รัฐกระหย่า รัฐกระหยิ่น(กระเหรี่ยง) และรัฐตะเหน่งดายี่(ตระนาวศรี) และยังมีรัฐที่มีพื้นที่ใกล้เคียงคือเกือบติดชายแดนเรา คือรัฐมอญ รัฐพะโค(ซึ่งเดิมคือหงสาวดี) รัฐเหล่านี้ผู้คนส่วนใหญ่ จะเป็นการทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ 

ดังนั้นรายได้จากการเกษตรจะขึ้นอยู่กับดิน ฟ้า อากาศ เป็นส่วนใหญ่ และประเทศเมียนมามีแม่น้ำหลายสายมาก ฤดูฝนจะมีฝนตกชุก น้ำท่วมเป็นประจำทุกปี ผมอยู่ที่นั่นมาสามสิบปี จะเห็นชาวบ้านหนีน้ำมาปลูกกระต๊อบข้างถนน นอนกันทั้งคนทั้งสัตว์เลี้ยงเป็นเรื่องปกติมาก 

ดังนั้นเวลาที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เขาก็จะต้องหาหนทางในการดำรงค์ชีวิตด้วยการไปหางานทำที่อื่นกัน พอมีการอพยพแรงงานจากที่บ้านเมืองเขา มาทำงานที่ต่างประเทศ พอเขามีเงินเก็บเหลือ ก็จะดิ้นรนกันกลับบ้าน ก็จะไปบอกเล่าปากต่อปากกัน แล้วชักชวนกันมาทำงานกันเป็นระบบหมู่บ้านเลยครับ 

ดังนั้นเวลาใครมีช่องทางทำงานกันที่ไหน ก็จะชวนกันไปทำกันแหละครับ จะเห็นว่า ถ้าจังหวัดทางแถบภาคเหนือเรา ไม่ว่าจังหวัดไหนก็จะมีชาวรัฐฉาน ซึ่งเป็นพี่น้องไตหรือไทยใหญ่มาอยู่กันเยอะ เพราะพี่น้องไตนั้น พูดภาษาไตกับภาษาเหนือหรือคำเมืองได้คล้ายกันมาก แปดสิบเปอร์เซนต์ที่ใช้ศัพท์แสงเหมือนกันเลยครับ ภาษาจึงไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเขา จึงมากันเยอะมาก พออยู่ไปนานๆ บ้างก็มีการขอสัญชาติไทยเรา 

ส่วนด้วยวิธีไหนนั้น ผมคงไม่ต้องบอกนะครับ คิดเอาเองก็แล้วกัน พอมีพรรคพวกเครือญาติ เพื่อนฝูงอยากมาทำงานที่ไทยเรา ก็จะช่วยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันเป็นธรรมดาครับ

ชายแดนทางด้านใต้ล่างลงมาอีกนิด แถบจังหวัดตาก กาญจนบุรี ก็จะเป็นถิ่นของชาวกระเหรี่ยงที่อยู่ในรัฐกระหยิ่น และชาวรัฐมอญ รัฐพะโค ก็จะเข้ามาทำงานแถบภาคกลางและกรุงเทพฯมหานครกันเป็นส่วนใหญ่ ส่วนภาคใต้ลงไป ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ระนอง ส่วนใหญ่จะเป็นคนรัฐตะเหน่งดายี่ (ตะนาวศรี) 

นอกจากนี้จะมีคนรัฐอื่นๆปะปราย แต่ที่ผมไม่ค่อยได้เจอเลยจะเป็นแรงงานที่เป็นคนในรัฐฉิ่นกับรัฐคะฉิ่น เท่าที่พูดคุยถามไถ่มาจะไม่เคยเจอมาทำงานที่ประเทศไทยครับ

ในส่วนการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอื่นๆที่มีค่าแรงสูงกว่าประเทศไทย ต้องตอบว่ามีเยอะครับทั้งประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเชีย สิงคโปร์ ล้วนแล้วแต่มีแรงงานชาวเมียนมาทั้งสิ้นครับ 

ในช่วงแรกๆ ที่โควิดระบาดที่เกาหลีใต้ เราจะได้ยินมีข่าวว่า แรงงานเมียนมาที่ประเทศเกาหลีใต้ ถูกส่งตัวให้เดินทางกลับมาประเทศเมียนมาครับ เหตุผลที่สำคัญในการเลือกไปประเทศเหล่านั้น

ปัจจัยที่ทำให้เขาสามารถไปได้ คือ ต้องเป็นแรงงานฝีมือ และมีเงินสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายได้ แต่รายรับที่ได้ดีกว่าที่ไทยเยอะ เงินรายได้ที่ได้มา 

ต้องบอกว่าเป็นรายได้ที่ได้เข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศเมียนมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ  เพราะจำนวนแรงงานที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศนั้นเยอะมากครับ และแรงงานทุกคนที่เข้ามาทำงาน จะต้องเดินทางอย่างถูกต้องตามกฏหมาย และจะต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลเมียนมาทุกคนครับ 

สิ่งที่ประเทศเมียนมาส่งเสริมให้ชาวเมียนมาเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ที่เห็นได้ชัดคือที่เมืองย่างกุ้ง เป็นแหล่งผลิตแรงงานชั้นดียิ่ง เพราะมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความรู้ในการไปทำงานต่างประเทศกัน

เช่นมหาวิทยาลัยการเดินเรือเดินสมุทร หรือ Myanmar Maritime University ซึ่งเปิดสอนมานามมากแล้ว และขึ้นชื่อมากในประเทศแถบอาเซียนของเรา มีทั้งสอนภาควิชา 1, Naval Architecture 2, Marine Engineering 3, Port and Harbor Engineering 4, River and Coastal Engineering และสาขาวิชาอื่นๆอีกหลายสาขาวิชา 

ปีๆหนึ่งจะผลิตบัญฑิตออกสู่ตลาดแรงงานมากมายหลายพันคน และบัญฑิตเหล่านี้จะเข้าสู่วงการเดินเรือเดินสมุทรเยอะมาก ทำเงินเข้าประเทศมากมายอย่างมีนัยยะเลยละครับ เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือเขาเก่งมากๆครับ 

ที่ผมรู้เรื่องนี้ ก็เพราะเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผมมีเลขาคนหนึ่ง สามีของเธอเป็นกะลาสีเรือ เขาจบจากมหาวิทยาลัยฯดังกล่าวนี้ เขาเล่าให้ฟังครับ พอระยะหลังที่เมียนมา มีการเริ่มพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมติลาว่า 

มีอยู่วันหนึ่งหุ้นส่วนผมได้พาไปดูที่ท่าเรือติลาว่า พอรถวิ่งผ่านถนนเส้นเก่า ที่วิ่งตัดผ่านหน้ามหาวิทยาลัย ผมเห็นป้าย Myanmar Maritime University ผมเลยนึกขึ้นได้ จึงได้ขอให้เพื่อนพาเข้าไปเยี่ยมชม จึงทราบรายละเอียดครับ

ส่วนอาชีพอื่นๆที่เขาพัฒนาแรงงานที่เป็นแรงงานฝีมือ ก็มีอาชีพครูไงครับ หลายท่านที่ได้เรียนที่มหาวิทยาลัยเอกชนแถวหัวหมาก คงจะเคยเล่าเรียนวิชากับอาจารย์ชาวเมียนมาบ้างแล้วนะครับ ที่น่าชื่นชมเขาคือ ที่ประเทศเมียนมา มีหลายๆมหาวิทยาลัยเขาสอนวิชาภาษาต่างประเทศ รวมทั้งภาษาไทยด้วยนะครับ 

ดังนั้นถ้าเป็นแรงงานไร้ฝีมือ เราคงไม่ต้องไปดูอะไรมาก แต่แรงงานฝีมือ เขาจะสอนมาดีมากเลยครับ ไทยเรามักจะสอนนักศึกษาเราแค่ป้อนตลาดแรงงานในประเทศเราเป็นหลัก แต่ที่ประเทศเมียนมา เขาจะเน้นไปที่ป้อนตลาดแรงงานในต่างประเทศมากกว่าตลาดในประเทศเมียนมาเอง 

อาจจะเป็นไปได้ว่า ตลาดในประเทศเมียนมา ตำแหน่งงาน หรือ Supply ของตลาดมีไม่มากพอ เลยต้องมุ่งเน้นไปที่ต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ครับ