posttoday

สถานการณ์ในย่างกุ้ง

24 ตุลาคม 2563

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

อาทิตย์นี้ สถานการณ์ในเมียนมาโดยเฉพาะเมืองย่างกุ้ง มีแต่เรื่องของการหาเสียงเลือกตั้ง น้องๆที่บริษัทก็ส่งรูปภาพการหาเสียงของแต่ละพรรคมาให้ดู ที่น่าสนใจคือพรรค NLD ของท่านดอร์ อ่อง ซานซูจี น่าจะโดดเด่นที่สุด มีทั้งขบวนรถไซ่กา ( Side car) หรือจักรยานพ่วงสามล้อที่สามารถให้คนนั่งด้านข้างได้สองคนทั้งด้านหน้าด้านหลัง

ไซ่กาเป็นเสมือนพาหนะสำคัญต่อชีวิตคนเมียนมาที่ในยุคเมื่อสามสิบปีก่อนจะมีเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด

ปัจจุบันนี้ในเมืองใหญ่ๆ เช่น ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ไม่ค่อยจะมีให้เห็นแล้ว  จะมีก็ในตรอกซอกซอยเล็กๆเท่านั้นที่ยังพอมีให้เห็น วันนี้ทางพรรค NLD เขาเอามาจัดขบวนแห่ทำให้มีสีสรรค์ไปอีกแบบหนึ่งครับ

ยิ่งใกล้เข้ามาถึงวันที่ 8 พ.ย. วันเลือกตั้ง แม้จะมีการแพร่ระบาดของเจ้าวายร้าย COVID-19 ที่รุนแรงขึ้นมาตามลำดับ แต่ท่าทีของรัฐบาลเมียนมาก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง ยังคงไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป แต่บรรยากาศการหาเสียงไม่ได้เข้มข้นเหมือนครั้งที่ผ่านมา จะมีเพียงการจัดหาเสียงที่เห็นเพียงเล็กๆน้อยๆจากสองพรรคใหญ่คือพรรค NLD และพรรค USDP เท่านั้น

ผมเองให้ช่วงก่อนปลายเดือนสิงหาคม ก็คาดการณ์ไว้ว่า ปลายเดือนตุลาคมจะต้องมีการได้รับเชิญไปวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งจากสื่อมวลชนไทยแน่ๆ แต่กลับตาลปัตร เงียบฉี่เลยครับ ไม่ได้มีการเชิญมาเลย ทุกคนได้รับแต่ข่าวการแพร่ระบาดของเจ้าโรคร้ายกันหมด แม้แต่การเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกา เราก็ยังไม่ค่อยคึกคักเท่าที่ควรเลยครับ

ที่ประเทศเมียนมาวันนี้ นอกจากข่าวเล็กๆน้อยๆแล้ว การแพร่ระบาดของโรคร้ายระลอกสอง ยังคงเป็นข่าวอันดับหนึ่งติดต่อกันมาหลายอาทิตย์ครับ อย่างเมื่อวานนี้ ก็มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอีก 1,312 คน รวมเป็นติดเชื้อสะสม 41,008 คนแล้ว คนเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้นอีก 33 คน รวมเป็นเสียชีวิตสะสมเป็น 1,005 คน แต่การรักษาหายให้กลับบ้านได้มีมากขึ้นครับ

เมื่อวานนี้มี 2,279 คน รวมรักษาหายสะสม 21,144 คน ซึ่งดูเหมือนว่าจะดีขึ้นมาบ้างเป็นลำดับเพราะถ้าเปรียบเทียบคนติดเชื้อเพิ่มกับคนรักษาหายได้กลับบ้าน คนรักษาหายได้กลับบ้านมีมากกว่าคนที่ติดเพิ่ม  แต่คนที่ที่ยังต้องได้รับการรักษาในสถานพยาบาลร่วมสองหมื่นคน

ในขณะที่ปัญหาที่มีในปัจจุบันนี้ คือ สถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการปัจจุบันนี้ในเมืองย่างกุ้งเตียงในโรงพยาบาลเอกชนและของรัฐบาลมีทั้งหมดรวมกันมีเพียงประมาณแปดพันเตียงเท่านั้นนี่หมายรวมถึงโรงพยาบาลสนามและสถานที่แสดงสินค้าที่เอกชนได้เสียสละนำออกมาช่วยรัฐบาลให้นำมาใช้กักกันผู้ติดเชื้อและเป็นสถานพยาบาลชั่วคราวด้วย

ถ้าจะมองจากสายตาคนนอกวงการแพทย์อย่างผมผมก็มีความกังวลใจแทนรัฐบาลเมียนมาจริงๆว่าถ้าหากเตียงพยาบาลไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างที่เห็นแน่นอนว่าทีมแพทย์จะต้องเลือกคัดกรองความสำคัญก่อนหลังเพื่อให้การรักษาพยาบาลอย่างแน่นอน

โดยไม่สามารถที่จะให้การรักษาได้ทุกกรณีเพราะเหตุปัจจัยของเตียงพยาบาลไม่เพียงพอนั่นเองครับถ้าเป็นเช่นนี้ก็อันตรายอย่างยิ่งเพราะนั่นคือผลที่จะตามมาเราไม่สามารถควบคุมผู้ติดเชื้อที่มีอาการพอใช้ได้แต่ต้องหลีกทางให้คนที่ติดเชื้อหนักเข้ารับการรักษาก่อน

ส่วนคนที่มีอาการดีแต่ยังไม่หายขาดจะต้องกลับบ้านเพื่อกักกันตัวเองแทน เมื่อเป็นเช่นนี้โอกาสที่จะมีการแพร่เชื้อติดต่อกันในบ้านตนเอง และกระจายออกไปตามชุมชนที่อยู่ตรงนั้น ก็จะมีสูงมากๆ มันก็จะกลายเป็น “ลิงติดแห ยิ่งแก้ยิ่งพัน” นั่นเองครับ

นี่ยังไม่รวมถึงกลุ่มที่เราไม่ได้นำมาวิเคราะห์อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่เป็นพาหะหรือคนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีการออกอาการ กลุ่มนี้ทางรัฐบาลเมียนมาไม่สามารถทราบถึงจำนวนที่แท้จริงเลย จึงไม่มีการประกาศจำนวนให้สาธารณะชนได้รับรู้ นี่คือกลุ่มที่อันตรายสุดๆอีกกลุ่มหนึ่งนะครับ

หากวิเคราะห์ต่อผลที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ หากการบริหารจัดการได้ไม่เต็มที่ การแพร่ระบาดก็จะต้องกระจายออกไปอย่างรุนแรง สุดท้ายคนก็จะหนีตายอย่างแน่นอน ที่สำหรับเขาเหล่านั้นจะไป และน่าไปที่สุดคือ “ประเทศไทย” ดินแดนแห่งความเมตตากรุณานี่แหละครับเพราะทุกครั้งที่มีปัญหาเพื่อนบ้านก็จะอพยพมาพึ่งพระโพธิสมภารมาตลอดเราก็มีมนุษยธรรมสูงเสียด้วยซิเพื่อเห็นแก่เพื่อนมนุษย์เราก็อ้าแขนรับมาโดยตลอด

คราวนี้ก็คงหนีไม่พ้นเกิดการระบาดระลอกสองแน่นอน นี่คือความกังวลใจของพวกเราครับ ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา จึงได้จัดทำโครงการ “มิตรภาพปันน้ำใจสู้ภัย COVID-19 ประเทศเมียนมา” ขึ้นมา เพื่อเป็นการ “ช่วยเขาก็เหมือนช่วยเรา” นั่นแหละครับเพราะถ้าเราปล่อยให้เขาที่ศักยภาพการรักษาพยาบาลไม่ดีพอให้เขาช่วยเหลือตัวเองแล้วเรานิ่งดูดาย

สุดท้ายเราก็ไม่สามารถรอดพ้นได้อย่างแน่นอนครับ