posttoday

การรับมือการเปลี่ยนแปลงชายแดนระนอง

28 ธันวาคม 2562

โดย กริช อึ๊งวิฑูรสถิตย์

เมื่อวันที่ 7-8 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมขึ้นเวทีเสวนาที่งานสัมนา Taninthayi Region Investment Forum 2019 ที่เมืองมะริด (Myeik) รัฐตะนาวศรี ประเทศเมียนมา

งานนี้ถือว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของเมียนมา มีรัฐมนตรีหลายท่านได้มาร่วมงานนี้ แรกเลยท่านออง ซานซู จีจะมาเป็นผู้เปิดงาน แต่ปรากฏว่าท่านติดภาระกิจต้องเดินทางไปที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อขึ้นศาลโลกในการแก้ข้อกล่าวหาของทางผู้กล่าวหาคือรัฐบาลแกมเบีย อย่างที่ทราบๆกัน

ดังนั้นท่านได้มอบหมายให้รองประธานาธิบดีลำดับที่ 1 คือ ท่าน H.E. U Myint Swe มาเปิดงานแทน ในงานมีท่านรัฐมนตรีพานิชย์ H.E. Dr. Than Myint ท่านรัฐมนตรีประจำรัฐตะนาวศรี H.E.U Myint Maung รัฐมนตรีช่วยกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอีกหลายท่านมาเป็นผู้ร่วมเสวนาอีกเยอะ

จะเห็นว่างานนี้ทางการเมียนมาให้ความสำคัญและคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้กระตุ้นการค้าการลงทุนในรัฐตะนาวศรีนี้

เนื้อหาสาระที่งานนี้คือจะมุ่งเน้นไปที่ความสำคัญทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในรัฐนี้ และความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของรัฐ

อีกทั้งการพัฒนาในอนาคตของรัฐเป็นต้น ผมใคร่ขอนำมาเล่าคร่าวๆ เพื่อจะได้เห็นมองดูมุมมองของเขา และคาดการอนาคตของรัฐนี้รวมทั้งจะได้เตรียมรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้น ในกรณีที่หากการพัฒนารัฐนี้แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรตามมาถึงไทยเราในอนาคตด้วย

ท่านไม่ต้องเชื่อผม 100% แต่อยากให้ท่านคิดตามผม และคาดคะเนไปร่วมกับผมว่าจะเป็นอย่างที่ผมคิดหรือไม่ก็พอครับ

ทางด้านภูมิศาสตร์รัฐนี้ ติดชายแดนไทยทั้งหมด 4 จังหวัด ไล่จากจังหวัดกาญจนบุรี เพชรบุรีบางส่วน ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง เป็นต้น ที่จะกระทบตรงๆเลยก็สี่จังหวัดนี้แหละ เมืองสำคัญที่นี่มีอยู่ไม่กี่เมือง แต่คนไทยจะคุ้นเคยกันดี เช่น เมืองทวาย เมืองมะริด เมืองเกาะสอง ซึ่งเมืองหลวงของรัฐฯ คือ เมืองทวาย ครับ

ยังมีเมืองรองอีกหลายเมือง เอาใว้โอกาสต่อไปจะนำมาเล่าให้ฟังครับ ทรัพยากรธรรมชาติของที่นี่ นอกจากสินค้าด้านประมงแล้วยังมี สินแร่ต่างๆ ยางพารา แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่เป็นเกาะแก่งต่างๆอีกร่วมแปดร้อยเกาะ นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของรัฐนี้

ดังนั้นทางรัฐบาลเมียนมา จึงมีความตั้งใจที่จะเร่งพัฒนารัฐนี้ให้เป็นแหล่งสร้างงานสร้างเงินให้แก่ประเทศเมียนมา

ทางการรัฐบาลเมียนมาเองก็รู้ว่าที่นี่มีทั้งจุดอ่อน-จุดแข็งของรัฐนี้เป็นอย่างดี ดังนั้นในงานนี้เขาจึงเอาเรื่องเหล่านี้มาเล่าสู่กันฟัง และได้ทำการเชื้อเชิญนักลงทุนต่างชาติ

ทั้งนักลงทุนจากประเทศไทย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีนและสิงคโปร์เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งสิ่งที่เขาบรรยายในที่งานนั้น ล้วนแล้วแต่ยกเอาจุดแข็งของเขามาบอกกล่าวเกือบทั้งนั้น เช่นพูดถึงเรื่องประมง เขาจะพูดถึงความอุดมสมบูรณ์ใท้ต้องทะเล และความพร้อมของการประมงของเขา

ส่วนเรื่องยางพารา ก็จะพูดถึงเรื่องความพร้อมของพื้นที่ป่าที่สามารถเข้ามาสัมปทาน ความพร้อมด้านแรงงานต่างๆเหล่านี้เป็นต้น แต่ที่ผมมาสะดุดใจตรงที่การพัฒนาถนนที่เชื่อมต่อจากด่านสิงขรมายังเมืองมะริด

ซึ่งได้เริ่มปรับปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากด่านสิงขร ข้ามมาสู่เมืองมูเตา ตรงมายังมะริด วันนี้ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เกือบร้อยเปอร์เซนต์แล้ว ใช้เวลาเดินทางเพียงสามสี่ชั่วโมงเท่านั้น ก็สามารถมาถึงประจวบคีรีขันธ์แล้ว

แต่วันนี้เมืองมะลิดที่ยังขาดแคลนอยู่มากๆ คือ กระแสไฟฟ้า และน้ำปะปาเท่านั้น เขาเชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุนในด้านนี้ที่เมืองมะลิด ด้วยการเข้ามาขอตรงกับทางการได้เลย

ระยะทางการเดินทางจากกรุงเทพฯ ที่เราพึ่งพาอาหารทะเลจากเมียนมาทุกวันนี้ คือ เมื่อเรือประมงจับอาหารทะเลแล้ว เขาจะคัดเลือกในกลางทะเล ปลาตัวที่ได้ขนาดตลาดต้องการ เขาก็จะลำเลียงมาขึ้นท่าเรือตลาดปลาที่จังหวัดระนอง

จากนั้นรถห้องเย็นจากระนองก็จะจัดส่งมายังแพปลาในกรุงเทพฯและสมุทรสาครหรือมหาชัย ที่เข้าโรงงานก็จะซื้อขายกันที่มหาชัย ที่สู่ตลาดบริโภคก็ซื้อขายกันที่แพปลากรุงเทพฯ นี่คือวงจร ณ.ปัจจุบันนี้

แต่หากในอนาคตหากเขาสามารถพัฒนาอย่างที่เขาต้องการแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นละครับ ผมคิดว่าห่วงโซ่อุปทานจะเกิดปัญหา จะมีการตัดตอนและเกิดห่วงโซ่อุปสงค์ใหม่ๆอีกเยอะครับ ระบบโลจิสติกส์ ก็จะเปลี่ยนไปทันทีครับ เรือที่จับปลาได้ก็จะเข้าฝั่งที่เมืองมะลิด คัดเลือกปลาที่แพปลามะลิด นี่คือห่วงโซ่ข้อแรกที่เปลี่ยนไป ทำให้มีการจ้างงานที่เมืองมะลิดเพิ่มขึ้น

ปลาที่ไม่ได้ขนาดก็เข้าสู่โรงงานซูรูมิ โรงงานลูกชิ้นปลา โรงงานปลาป่น โรงงานน้ำปลา ฯลฯ ห่วงโซ่ข้อที่สองเกิดขึ้นอีก ต่อมาจะเกิดธุรกิจขนส่งทางรถ ที่จะมีรถห้องเย็นจากเมืองมะริดตรงเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งร่นระยะการเดินทางจากเรือมาจังหวัดระนอง ต่อมายังกรุงเทพฯที่ต้องใช้เวลาสามวันสองคืน มาเป็นหนึ่งวันหนึ่งคืนเท่านั้น ห่วงโซ่ข้อที่สามเกิดอีกแล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยทีเดียวครับ

ทีนี้เรามาดูที่ได้รับผลกระทบตรงๆคือที่จังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์ และกาญจนบุรีสามจังหวัด ที่มีทั้งทางด้านบวกและด้านลบนะครับ อาทิตย์หน้าผมจะมาลองวิเคราะห์เล่นๆดูนะครับ ท่านอย่าเชื่อผมทั้งหมดนะครับ

....ขอบอก ผมแค่คนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นครับ