posttoday

ความกังวลต่อปัญหาภายในประเทศของนักลงทุน

13 เมษายน 2562

คอลัมน์ "ขุมทรัพย์ชายแดนไทย" โดย  กริช   อึ้งวิฑูรสถิตย์

คอลัมน์ "ขุมทรัพย์ชายแดนไทย"

โดย  กริช   อึ้งวิฑูรสถิตย์

ที่ผ่านมา มีผู้อ่านเขียนถามถึงความกังวลในด้านความสงบและการสู้รบของชนชาติพันธ์กับรัฐบาลกลางของเมียนมา ที่เขาได้รับฟังมาจากข่าวสารหลายๆช่องทาง ว่าเขาคิดถูกหรือไม่ ผมต้องตอบว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะคิดได้ครับ ไม่ผิดหรอกครับที่จะต้องกังวลใจ เมื่อเราจะไปทำการค้าหรือเข้าไปลงทุนยังต่างประเทศที่ใหนก็ตาม เราต้องทำการประเมินหรือทำการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นก่อนเสมอ ดังนั้นท่านไม่ผิดหรอกครับ อยากขออนุญาตแชร์ประสบการณ์ให้ท่านอ่านเล่นๆกันนะครับ

ในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ของประเทศในแถบภูมิภาคอาเชี่ยน ผมได้มีการพูดคุยกับเพื่อนนักธุรกิจจากจีน ไต้หวัน สิงคโปร์ที่ผมคุ้นเคย เขามองว่าประเทศที่สงบมากที่สุดคือสิงคโปร์ รองลงมาก็มาเลเซียและประเทศอื่นๆ

ส่วนของไทยเราเองอาจจะเป็นอันดับท้ายๆก็เป็นได้ จากสถานการณ์การเมือง Death Lock หรือปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นี่เป็นมุมมองของเขานะครับ ถูกผิดก็ประมวลคำวิจารณ์เอาเอง ไม่ต้องด่าผมนะครับ

ในขณะที่เมียนมาก็เช่นเดียวกับไทย ที่มีปัญหาชนชาติพันธ์ที่ไม่จบไม่สิ้นเสียที แต่ว่าการค้าการลงทุน ผมก็เห็นมีทุนต่างชาติหรือ Foreign Direct Investment (FDI) เข้ามาในประเทศไทยและประเทศเมียนมาอยู่ไม่น้อย เพียงแต่ว่าจะเข้ามามากจะน้อยก็อยู่ที่ช่วงสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ดังนั้นจึงมีนักลงทุนผู้กล้าที่กล้าเสี่ยงตายก่อน แต่เขาอาจจะมองสถานการณ์แตกต่างกันออกไป เรามาลองวิเคราะห์ดูว่าเขาคิดอย่างไรหรืออ่านใจเขาดูนะครับว่าเขามีมุมมองอย่างไร

เขาอาจจะนำเอาความเสี่ยงของธุรกิจ อาจจะเอาโอกาสของธุรกิจ หรือเอาคู่แข่งทางการค้า หรือเอาสถานการณ์การเมืองเป็นอันดับต้นๆ เรามาอ่านใจเขาดู ก่อนอื่นลองดูว่า ถ้าเอาความเสี่ยงทางธุรกิจมาก่อน ก็จะต้องมาประเมินดูว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง ความเสี่ยงของอำนาจการต่อรองของเรากับคู่ค้า

การที่เราจะลงทุนหรือทำการค้าในต่างประเทศนั้น หากเราได้มีโอกาสครองตลาดก่อน แน่นอนว่าการที่จะต่อรองกับคู่ค้า ย่อมมีภาษีดีกว่าคนที่ยังไม่มีตลาดอยู่ในมือเลย เพราะเราสามารถแสดงให้คู่ค้าทั้งสองฝั่งคือฝั่งซื้อและฝั่งขาย ( ถ้าจะเรียกตามภาษาบัญชีต้องเรียกว่าฝั่งลูกหนี้และเจ้าหนี้ หรือถ้าจะเรียกตามภาษานักการตลาด ต้องเรียกว่าฝั่ง Supplier กับฝั่ง Customer )

เขาจะต้องดูว่าเรามีอะไรอยู่ในมือบ้าง ตัวอย่างเช่น ฝั่งซื้อ (ฝั่ง supplier) หากเราจะไปขายของให้เขา เขาจะต้องประเมินดูว่าเรามีลูกค้าอยู่ในมือมากน้อยแค่ใหน ลูกค้าเราเป็นใคร การกระจายสิค้ามีมากน้อยเพียงใด เป็นต้น ในขณะที่ฝั่งขาย(ฝั่ง Customer ) เมื่อเรานำเอาสินค้าไปเสนอขายให้เขา หากเรามีสินค้าขายอยู่ในมือมาก เขาก็จะเกิดความเกรงใจเรามาก การจะผลักดันสินค้าตัวอื่นเข้าไป ก็ง่ายขึ้น และหากมีลูกค้าอยู่ในมือยิ่งเยอะ ลูกค้ารายใหม่ๆก็จะเกรงใจเรา และอยากจะขายสินค้าเราบ้างเป็นต้น และถ้าเราเปลี่ยนสถานะจากผู้ขาย มาเป็นผู้ผลิต ก็จะเป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะเราเขามาสู่ตลาดก่อน ต้นทุนคงที่ที่เราได้ลงทุนไปก่อนก็จะลดลงไป การแข่งขันในตลาดทั้งด้านต้นทุน และด้านราคา ด้านการกระจายสินค้าก็จะง่ายกว่าคนที่เข้ามาใหม่แน่นอนครับ ดังนั้นเราต้องดูว่าเราให้ความสำคัญทางด้านการตลาดมาเป็นอันดับแรกหรือเปล่านั่นเอง

ถ้าหากคิดว่าจะเอาความ ด้านโอกาสทางธุรกิจมาเป็นอันดับแรก เราต้องมาประเมินถึงผลทางด้านโอกาสทางธุรกิจว่าจะใช่เวลาอันเหมาะสมกับธุรกิจเราหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น บางธุรกิจที่ที่นี่ยังมีน้อย เช่นธุรกิจด้านสิ่งทอ หากเรามองทางด้านความเสี่ยง ก็จะประเมินว่าเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะลงทุนทางด้านนี้ในตอนนี้ หรือถ้าจะบอกว่าคู่ค้าที่เป็นธุรกิจต่อเนื่องเช่นโรงย้อม โรงพิมพ์ผ้า โรงงานกาเม้นต์ ยังมีไม่มากพอที่จะลง ก็สามารถตัดสินใจได้ทันทีว่าไม่ไป

แต่ในทางกลับกัน เขาอาจจะบอกว่าในอนาคตอันใกล้นี้มาแน่ เขาอาจจะรีบกระโดดเข้ามาเลยเป็นต้น นี่แล้วแต่มุมมองของคนครับ

อย่างไรก็ตามผมเชื่อว่าทุกคนที่เป็นนักลงทุน ย่อมมีความคิดของเขาเอง ไม่มีคำว่าผิดหรือถูกหรอกครับ อยู่ที่เรารอเวลาได้หรือไม่เท่านั้นเอง ดูว่าสายป่านเรายาวพอหรือไม่นั่นแหละครับ อาทิตย์หน้าผมจะมาวิเคราะห์เรื่องของความเสี่ยงที่จะเข้าไปลงทุนหรือทำการค้าให้ท่านได้อ่านเล่นๆกันต่อนะครับ