posttoday

ลงทุนเกษตรอินโดนีเซีย

08 กุมภาพันธ์ 2561

ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายการค้าที่เน้นผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าในกลุ่มสินค้าเกษตร

โดย...ปิยนุช ผิวเหลือง

ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายการค้าที่เน้นผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าในกลุ่มสินค้าเกษตร เพื่อปกป้องเกษตรกรในประเทศ ดังนั้นผู้ส่งออกและผู้ลงทุนจากไทยล้วนต้องปรับตัว และศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการเข้าไปลงทุน

เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า การใช้นโยบายปกป้องผู้ผลิตสินค้าเกษตรในประเทศอินโดนีเซียดำเนินการภายใต้นโยบาย Self-reliance เพื่อลดการขาดดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้าส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรในกลุ่มข้าว ข้าวโพด น้ำตาล ถั่ว เนื้อสัตว์ กาแฟ โกโก้ ปาล์ม ยางพารา พริก และผลไม้ แต่ใช่ว่าอินโดนีเซียจะกีดกันการค้าทั้งหมด เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียยังมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจการแปรรูปในทุกผลิตภัณฑ์ของสินค้าการเกษตร จึงเป็นโอกาสกับอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังด้านคุณภาพและราคาสินค้าเกษตรในอินโดนีเซีย เนื่องจากต้นทุนด้านโลจิสติกส์และโครงสร้างการค้าสินค้าเกษตรในอินโดนีเซียยังอาศัยพ่อค้าคนกลางเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ แรงจูงใจสำคัญในการดึงดูดการลงทุนภาคเกษตรกรรมของอินโดนีเซียคือ ตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคด้วยจำนวนประชากร 262 ล้านคน ทั้งเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเติบโตของจีดีพีเฉลี่ย 5% และต้นทุนแรงงานมีราคาถูก

คณะวิจัยได้ทำการศึกษากรณีการลงทุนในอุตสาหกรรมกุ้งและอุตสาหกรรมยางพาราในอินโดนีเซีย พบว่า การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมกุ้งมีศักยภาพ แต่ยังขาดคำมั่นสัญญาจากรัฐบาลเกี่ยวกับความชัดเจนในการดำเนินการตามเป้าหมาย โดยรัฐบาลอินโดนีเซียมีการพัฒนาสายพันธุ์กุ้งจากการสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งพบว่าปริมาณการผลิตกุ้งของอินโดนีเซียในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น แต่ยังต่ำกว่าระดับเป้าหมาย 50% ซึ่งผู้ประกอบการไทยได้เปรียบในแง่ฝีมือและมาตรฐานคุณภาพของสินค้ามากกว่า ทั้งนี้ แนะให้ผู้ประกอบการศึกษาข้อมูลการลงทุนอย่างรอบด้านก่อนการลงทุน เช่น เมื่อลงทุนจริงผู้ประกอบการบางส่วนพบปัญหาราคาวัตถุดิบกุ้งผันผวนสูง อีกทั้งโดยรวมต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้ต่ำกว่าไทยมากนัก

ขณะที่การลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมยางอินโดนีเซีย พบว่า เดิมมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในธุรกิจแปรรูปยางพาราที่อินโดนีเซียพอสมควร โดยประเทศไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดที่เข้ามาลงทุน แต่หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงแหล่งวัตถุดิบส่งผลให้การลงทุนลดลง โดยอินโดนีเซียมีกำลังการผลิตยางพาราในประเทศ 3.3 ล้านตัน/ปี เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 0.65 ล้านตัน และเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 2.65 ล้านตัน

เชษฐา ยังบอกอีกว่า การลงทุนเพื่อแปรรูปสินค้าเกษตรในอินโดนีเซียยังมีโอกาส แต่การเข้าถึงช่องทางการกระจายสินค้ายังจำกัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอย่างมาก หากภาครัฐของไทยหรืออินโดนีเซียมีการจับคู่ธุรกิจเพื่อหาหุ้นส่วนท้องถิ่น

สำหรับสิ่งท้าทายในการลงทุนในอินโดนีเซียคือ กฎระเบียบและกฎหมายยังมีความไม่ชัดเจน ซึ่งการเจาะตลาดอินโดนีเซียไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ยังมีโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุน เพราะสินค้าเกษตรในอินโดนีเซียมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น