posttoday

จ่อเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม บริการอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ

25 มกราคม 2561

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการค้าขายดิจิทัลแบบไร้พรมแดนที่เพิ่มขึ้น

โดย...เบญจมาศ กุลกัตติมาส กรรมการบริหาร เคพีเอ็มจี ประเทศไทย

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการค้าขายดิจิทัลแบบไร้พรมแดนที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดกระแสการทบทวนกฎหมายการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในหลายๆ ประเทศในอาเซียน ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย รวมถึงไทยที่กำลังทบทวนอยู่ 

เมื่อปี 2558  สิงคโปร์และมาเลเซียได้ออกแนวทางในเรื่องภาษีของธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีการจัดเก็บภาษีจากกิจการที่มีการขายสินค้าหรือบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงรูปแบบกิจการ ซึ่งประเด็นหลักที่พิจารณาคือรูปแบบการประกอบกิจการแบบใดถือได้ว่าเป็นผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีถิ่นฐานในประเทศ และกรณีที่เป็นผู้ประกอบการอยู่ในประเทศ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทุกประเทศสนใจและกำลังอยู่ในการทบทวนของหลายประเทศก็คือ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างประเทศ โดยเฉพาะการขายสินค้าดิจิทัลที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า ไม่มีการนำเข้าสินค้า ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขาดหายไป โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

การค้าขายสินค้าดิจิทัลทั่วไปมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ B2B (Business to Business) และ B2C (Business to Consumer) ซึ่งในกรณี B2B ผู้ซื้อจะเป็นหน่วยงานหรือองค์กร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนิติบุคคลและอยู่ในระบบภาษีอยู่แล้ว ประเทศที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมักจะไม่มีปัญหาการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรณีนี้ เนื่องจากโดยทั่วไปกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีการกำหนดภาระหน้าที่ของผู้จ่ายเงินในประเทศ เมื่อมีการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการไปให้ผู้ประกอบการในต่างประเทศเป็นผู้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผู้ซื้อในไทยซื้อสินค้าดิจิทัลจากผู้ประกอบการมาเลเซียมาใช้ในไทย โดยที่มาเลเซียไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการหรือมีสำนักงาน/สาขาในไทย กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มกำหนดให้ผู้ซื้อในไทยมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร

ทั่วไปถ้าเป็นลักษณะ B2B ผู้ซื้อในไทยที่เป็นหน่วยงานหรือองค์กรอยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ซื้อที่เป็นกิจการได้มีการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้หรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตรวจสอบภาษีอยู่แล้ว ดังนั้นกรมสรรพากรก็สามารถเก็บภาษีในส่วนนี้ได้ แต่ถ้าเป็นกรณี B2C ผู้ซื้อที่เป็นผู้บริโภคและไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มจะกำหนดเหมือนกับ B2B แต่เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็อาจทำให้ในส่วนนี้ขาดหายไป ทำให้รัฐขาดรายได้จากส่วนนี้ เหตุนี้เมื่อมีการทบทวนกฎหมายภาษี ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นประเด็นหลักที่ถูกนำมาพิจารณา

เมื่อเดือน มิ.ย.ปีที่ผ่านมา กรมสรรพากรไทยได้ออกร่างกฎหมายเพื่อเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมุ่งไปที่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ไม่มีถิ่นฐานในประเทศไทย สาระสำคัญเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก คือ กรณีใดถือว่าผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรหรือเป็นผู้ประกอบกิจการในประเทศไทยและต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย และกำหนดให้ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีหลายประเด็นที่ผู้ปฏิบัติยังต้องการให้มีการให้รายละเอียดเพิ่ม

ทั้งนี้ เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้อีกรอบ โดยร่างกฎหมายใหม่ที่ออกมาได้มีการตัดทอนให้เหลือเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม กำหนดให้ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศแก่ผู้ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย และได้มีการใช้บริการในประเทศไทยที่มีรายรับจากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี มีหน้าที่จดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มิให้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้รับบริการในประเทศไทย และไม่สามารถนำมาหักออกจากภาษีขายหรือขอคืนจากกรมสรรพากรได้ และไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษี

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายได้รวมถึงวิธีการจดทะเบียน การยื่นภาษี และการชำระภาษี โดยให้กระทำผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ซึ่งกรมสรรพากรจะจัดทำเป็นภาษาอังกฤษ หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะนับได้ว่าไทยก้าวหน้ากว่าประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องนี้ ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลว่ากรมสรรพากรจะมีการออกกฎหมายเพิ่มเติมในประเด็นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกหรือไม่ ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในระหว่างการเปิดรับความคิดเห็นจนถึงวันที่ 9 ก.พ. 2561