posttoday

BIMSTEC กับโอกาสของประเทศไทย

11 ธันวาคม 2563

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (The Bay of Bengal Initiative for Multi-Sector Technical and Economic Cooperation) หรือกรอบความร่วมมือBIMSTEC

เป็นกรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่อยู่ในอนุทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รัฐบาลไทยต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก ทั้งด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี การคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน การท่องเที่ยว และประมง

รวมทั้งส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องระหว่างกัน ทำให้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540

ช่วงแรกที่ก่อตั้ง BIMSTEC มีประเทศสมาชิกดั้งเดิม 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย และไทย ลงนามในกรอบความร่วมมือ Bangladesh-India-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation (BISTEC) ต่อมาเมียนมาได้เข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในปี 2540 ทำให้กรอบความร่วมมือดังกล่าวเปลี่ยนชื่อเป็นBangladesh-India-Myanmar-Sri Lanka-Thailand Economic Cooperation (BIMSTEC)

และในภายหลัง เนปาลและภูฏานได้เข้าเป็นสมาชิกในปี 2546 ปัจจุบัน BIMSTEC จึงมีสมาชิกทั้งหมด 7 ประเทศ และได้รับการเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ หรือ BIMSTEC ในที่สุด

การประเมินผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า BIMSTEC ผลการศึกษาเชิงปริมาณด้วยแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป สรุปได้ว่าหลังการเปิดเสรีการค้า BIMSTECประเทศสมาชิกจะมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากยิ่งขึ้น โดยมีอัตราการขยายตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งประเทศสมาชิกที่ไม่มีทางออกทะเล อันได้แก่เนปาลและภูฏาน จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดที่อัตรา 2.3102%

หากข้อตกลงการค้าเสรี BIMSTEC ได้รับการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กและมีข้อจำกัดทั้งด้านภูมิศาสตร์และกฎระเบียบทางการค้าภายในประเทศ

หากได้รับการยกเลิกหรือผ่อนปรนลง ผลกระทบทางบวกที่จะเกิดขึ้นย่อมมีสัดส่วนที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และมีสถานะทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้างอยู่แล้วก่อนจะมีการบังคับใช้ข้อตกลงเสรีทางการค้า

ทั้งนี้ผลการศึกษาพบว่าศรีลังกาและเมียนมาเป็นคู่ประเทศลำดับต้น ๆ ที่จะได้รับผลกระทบทางบวกในรูปของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูง ที่อัตรา 1.3813% และ 0.9507% ตามลำดับ

ขณะที่ประเทศไทย บังกลาเทศ และอินเดียจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดหลั่นลงมา ภาคการผลิตของประเทศไทย อุตสาหกรรมเหล็กและสินแร่เหล็กรวมทั้งภาคบริการการก่อสร้างจะเกิดการขยายตัวมากที่สุด และภาคการขนส่งทางอากาศ (ซึ่งมีคู่แข่งที่สำคัญคือสายการบินของประเทศอินเดีย)

ผลิตภัณฑ์จากไม้ (ซึ่งหลายประเทศในเอเชียใต้และเมียนมาต่างก็มีต้นทุนต่ำกว่าทั้งในมิติของค่าแรง และการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบ) และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์(ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่หลายประเทศในกลุ่ม BIMSTEC ยังมีค่าจ้างที่ต่ำกว่า) เหล่านี้คือภาคการผลิตที่มีแนวโน้มหดตัวลงมากที่สุด

ด้านการส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์และพลาสติก และผลิตภัณฑ์อาหาร น่าจะเป็นภาคการผลิตที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพอย่างยิ่งในการขยายตัวเข้าสู่ตลาด BIMSTEC ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า แม้ปัจจุบันข้อตกลงการค้าเสรี BIMSTEC ยังไม่เกิดขึ้น

แต่ผู้ประกอบการในภาคการผลิตเหล่านี้ต่างก็เข้าไปทำตลาดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

ขณะที่ภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัวลงเนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงยิ่งขึ้นจากผู้ผลิตที่มีถิ่นฐานอยู่ในกลุ่ม BIMSTEC ได้แก่ ภาคการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม (ซึ่งแน่นอนว่าทั้งบังกลาเทศ ศรีลังกา และอินเดียต่างก็เป็นผู้ผลิตที่มีความสามารถทางการแข่งขันสูงอยู่แล้วในปัจจุบัน)

ภาคบริการของผู้ประกอบวิชาชีพชั้นสูง ซึ่งการแข่งขันก็คงจะรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่สามารถผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงได้ในอัตราค่าจ้างที่ไม่สูงจนเกินไปนัก และอีกภาคการผลิตที่การส่งออกจะปรับตัวลดลงและสอดคล้องกับภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบทางลบด้วยเช่นกัน นั่นคือการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับผลกระทบของข้อตกลงการค้าเสรี BIMSTEC ต่อระดับสวัสดิการสังคม พบว่านอกจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงในทิศทางขยายตัวที่เกิดขึ้นในทุกประเทศสมาชิกแล้ว ผลกระทบต่อระดับสวัสดิการสังคมหรือระดับความกินดีอยู่ดีน่าจะเป็นตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องการทราบผลกระทบของความตกลงเสรีทางการค้า

จากการศึกษาพบว่าประเทศที่มีระดับการเพิ่มขึ้นของสวัสดิการสังคมที่มีมูลค่าสูงที่สุดคือ อินเดียเทียบเท่ากับมูลค่า 349.468 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือประเทศไทยที่ระดับเทียบเท่ากับสวัสดิการสังคมปรับตัวดีขึ้น 277.136 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยผลได้ส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นกับไทยและอินเดียล้วนมาจากอัตราการค้าระหว่างประเทศ (Terms of Trade Effect) ที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังเปิดเสรีการค้า

ในขณะที่เนปาลและภูฏานจะมีระดับสวัสดิการสังคมดีขึ้นเนื่องจากการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้นเป็นสาเหตุหลัก

ดังนั้น ประเทศไทยควรวางนโยบายการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศสมาชิก BIMSTECโดยยกระดับให้กรอบ BIMSTEC เป็นความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเดินหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรีควบคู่กับการให้ความรู้ทั้งภาครัฐและเอกชน

โดยเฉพาะในประเทศคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย ให้ประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐตระหนักว่า การเปิดเสรีการค้าเป็นการมีปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดผลประโยชน์ร่วมกันประชาชนที่สามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับผ่านมาตรฐานที่จัดทำร่วมกัน

การเข้าถึงสินค้าบริการที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นในระดับราคาที่ต่ำลง จึงเป็นภารกิจของประเทศไทยที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติ (Mindset) ที่มีต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ หรือความหวาดกลัวต่อการเปิดเสรี โดยการกำหนดเป้าหมายของการเจรจาการค้าภายใต้กรอบ BIMSTEC ควรมีเป้าประสงค์เพื่อการสร้าง“ความอยู่ดีมีสุขร่วมกัน” ของประชาชนในภูมิภาคอย่างยั่งยืน