posttoday

ความตกลงอำนวยความสะดวกขนส่งข้ามแดนใน GMS (1)

23 เมษายน 2562

กลุ่มประเทศ CLMVT กำหนดข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุลุ่มแม่น้ำโขง ช่วยลดขั้นตอน กฏระเบียบและพิธีการ ที่เกี่ยวกับการข้ามพรมแดน

กลุ่มประเทศ CLMVT กำหนดข้อตกลงเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุลุ่มแม่น้ำโขง ช่วยลดขั้นตอน กฏระเบียบและพิธีการ ที่เกี่ยวกับการข้ามพรมแดน

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)
www.itd.or.th

itd ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การศึกษาโอกาสและการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation) ในกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ผลการศึกษาวิจัยได้ข้อสรุปส่วนหนึ่งว่า ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross-Border Transport Facilitation Agreement: GMS CBTA) มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งข้ามพรมแดนและส่งเสริมการประกอบการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางถนน

รวมทั้งการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยการทำให้กฎหมาย กฎระเบียบ ขั้นตอนและพิธีการทั้งหลายที่เกี่ยวกับการข้ามพรมแดนของประชาชน ยานพาหนะและสินค้าที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศสมาชิกมีความเรียบง่าย สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) เป็นกรอบความตกลงที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างประเทศภายในอนุภูมิภาค ซึ่งแตกต่างจากกรอบความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าทั้งในด้านแนวคิดและแนวทางการปฏิบัติ

ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA)เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือสาขาคมนาคมขนส่งภายใต้กรอบ GMS ภายใต้การสนับสนุนโดยธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB)

โดยมีจุดเริ่มต้นจากในปี 2542 ซึ่งเป็นความตกลงไตรภาคีระหว่างไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) โดยเป็นการลงนามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร

ต่อมาช่วงระหว่างปี 2544-2546 กัมพูชา จีน และเมียนมา ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีตามลำดับ และได้พัฒนากลายมาเป็นความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) ซึ่งจากข้อมูลทั่วไปพบว่าความตกลงดังกล่าวนี้ประกอบไปด้วย 17 ภาคผนวก และ 3 พิธีสาร ครอบคลุมมิติการขนส่งข้ามพรมแดน ได้แก่ การขนส่ง การตรวจคนเข้าเมือง การศุลกากร การกักกัน

ความตกลง GMS CBTA ประกอบด้วยแนวทางการอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้แก่ การเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดน การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Window Inspection: SWI) การตรวจสอบสินค้า ณ จุดผ่านแดนเท่าที่จำเป็นเพียงจุดเดียว (Single Stop Inspection: SSI) โดยตรวจปล่อยสินค้าในพื้นที่ควบคุมร่วมกัน (Common Control Area: CCA)

นอกจากนั้น GMS CBTA ยังรวมถึงการบูรณาการระบบให้มีความสอดคล้อง (Harmonization/ Integration of system)การแลกเปลี่ยนสิทธิจราจร และข้อกำหนดด้านการผ่านแดนและการข้ามพรมแดนของบุคคล การกำหนดระบบการจราจรผ่านแดน (Transit traffic regimes)โดยให้มีการยกเว้นการตรวจสินค้าทางกายภาพ การวางหลักประกัน การควบคุมการขนส่ง การกำหนดคุณสมบัติของยานพาหนะที่สามารถเดินทางข้ามพรมแดน การกำหนดโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ มาตรฐานเกี่ยวกับการสร้างถนน สะพาน เครื่องหมายและสัญญาณจราจร

ประเทศสมาชิกและธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้มีความพยามผลักดันมาโดยตลอดเพื่อให้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS CBTA) เพื่อให้สามารถนำมาใช้ทางปฏิบัติ โดยร่วมกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ความตกลงฯ สามารถปฏิบัติใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเห็นได้ชัดจากตกลงในการริเริ่มนำ The Initial Implementation of the CBTA (IICBTA) มาปฏิบัติใช้ จะกล่าวโดยละเอียดในบทความตอนต่อไป