posttoday

โคราชชงของบพัฒนาท่าเรือบก รองรับเชื่อมโยงขนส่งระบบราง

07 พฤษภาคม 2561

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ ในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้

โดย ประสิทธิ์ ตั้งประเสริฐ

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่(ครม.สัญจร) ที่ จ.สุรินทร์-บุรีรัมย์ ในวันที่ 7-8 พ.ค.นี้ จ.นครราชสีมา เตรียมเสนอโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเป็นศูนย์กลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หนึ่งในนั้นคือ การตั้งท่าเรือบก หรือ ICD (Inland Container Depot) รองรับการขนส่งสินค้าระบบราง

วิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า การสร้างท่าเรือบก เพื่อจัดทำกระบวนการทางศุลกากรแบบเบ็ดเสร็จ หลังจากการเปลี่ยนแปลงระบบการขนส่งจากล้อยางมาเป็นล้อราง เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง ขณะเดียวกันสินค้าจากต่างประเทศซึ่งมาถึงท่าเรือมาบตาพุด ก็จะลำเลียงขึ้นรถไฟมายัง จ.นครราชสีมา ผ่านท่าเรือบก เมื่อทำกระบวนการทางศุลกากรแล้วเสร็จก็สามารถขนส่งสินค้าสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทันที

“จ.นครราชสีมา จะของบออกแบบในรายละเอียด เพื่อจัดสร้างท่าเรือบก อีกทั้งยังจะของบในเรื่องขนส่งมวลชนในเขตพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา รองรับระบบขนส่งที่จะมาถึงในปี 2565 ทั้งนี้ในภาคเอกชนเองได้เสนอของบศึกษาเมืองใหม่นครราชสีมา ซึ่งขอเป็นงบศึกษาในการสร้างเมืองใหม่ การวางผังเมืองที่ดีขึ้น”

ผวจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการอื่นๆ อาทิ แหล่งน้ำและการเกษตร โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์มากมาย จึงเตรียมที่จะเสนอของบประมาณจากทางรัฐบาลมาดำเนินการเพื่อให้ผลการวิจัยเกิดประโยชน์และสามารถใช้ได้จริงในอนาคต

นอกจากนี้ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต จ.นครราชสีมา ได้เสนอของบประมาณเพื่อขยายถนน 4 ช่องจราจร หรือถนน 4 เลน ช่วงระหว่าง อ.สีดา อ.บัวใหญ่ ไปจนถึง อ.เมือง จ.ชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 55 กิโลเมตร โดยจะขอเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 นี้ เพื่อรองรับระบบรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีสถานีตั้งอยู่ที่ อ.บัวใหญ่

อีกโครงการที่น่าสนใจคือ การก่อสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ ขนาด 1.5 หมื่นที่นั่ง ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้เป็นสถานที่จัดประชุมสัมมนาระดับประเทศ ต่อยอดโครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางมายัง จ.นครราชสีมา สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์เมืองแห่งการประชุมสัมมนา 

ด้านการท่องเที่ยว จะขอรับการสนับสนุนพิพิธภัณฑ์เพื่อจะเก็บซากฟอสซิลซึ่งสอดคล้องกับที่ทางจังหวัดขอเสนอตัวเป็นอุทยานธรณีด้านดึกดำบรรพ์ต่อยูเนสโก

ข้อเสนอต่างๆ เหล่านี้ คือภาพรวมทั้งหมดที่ จ.นครราชสีมา จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรในครั้งนี้ น่าติดตามว่าโครงการเหล่านี้หากดำเนินการจนแล้วเสร็จ ก็จะถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนา จ.นครราชสีมา เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมด เป็นหน้าด่านสำคัญในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคลุ่มน้ำโขง