posttoday

‘คราฟต์เบียร์’ เปลี่่ยนตลาดแอลกอฮอล์

03 มกราคม 2562

ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียนมีความเคลื่อนไหว

เรื่อง SCB Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ 

ในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาคอาเซียนมีความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากพฤติกรรมของกลุ่มนักดื่มมิลเลนเนียลที่มีแนวโน้มหันมาบริโภคสินค้าประเภทพรีเมียมและมีความแปลกใหม่ โดยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคและมีความน่าสนใจมากที่สุดในเวลานี้คือ “คราฟต์เบียร์” ซึ่งเป็นเบียร์ที่นิยมผลิตในปริมาณน้อย และมีส่วนผสมของวัตถุดิบธรรมชาติที่พบได้ในท้องถิ่น ทำให้มีความแตกต่างจากเบียร์ทั่วไป

กระแสของคราฟต์เบียร์ได้รับอิทธิพลมาจากสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรป และกำลังกลายเป็นธุรกิจเกิดใหม่ในอาเซียน ซึ่งเริ่มมีความเคลื่อนไหวของผู้เล่นรายใหญ่ในไทยเช่นกัน เห็นได้จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นคราฟต์เบียร์แบบบรรจุกระป๋องในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จากรายงานของ Southeast Asia Brew ระบุว่าในปี 2017 มี Craft breweries รวมทั้งสิ้นจำนวน 154 แห่งในภูมิภาคอาเซียน นับเป็นการเพิ่มขึ้นถึงราว 3 เท่าตัว ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมและศักยภาพการเติบโตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากสถิติปี 2017 พบว่า ผู้บริโภคชาวเวียดนามนิยมดื่มเบียร์มากที่สุดในอาเซียน หรือคิดเป็นประมาณ 41 ลิตร/คน/ปี และคาดว่าจะเติบโตขึ้นปีละ 8% ภายในปี 2020 (เปรียบเทียบกับไทยที่บริโภคเพียง 31 ลิตร/คน/ปี) ด้วยพื้นฐานวัฒนธรรมในการดื่มเบียร์ของชาวเวียดนามที่โดดเด่นและภาวะเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับจำนวนชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้ตลาดคราฟต์เบียร์ในเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโตที่โดดเด่นที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน

อย่างไรก็ดี การคว้าโอกาสในธุรกิจที่กำลังเกิดใหม่ในอาเซียนอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก ซึ่งถ้าหันมามองตลาดคราฟต์เบียร์ในไทยเอง จะพบว่า ปัจจุบันเริ่มมีผู้เล่นทั้งรายเล็กและรายใหญ่ทยอยเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่การเติบโตของตลาดยังคงถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมายที่กำหนดให้มีขนาดกำลังการผลิตขั้นต่ำสูงถึง 10 ล้านลิตร/ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องออกไปผลิตที่ต่างประเทศ และนำเข้ากลับมาขายในไทยอีกทอดหนึ่ง

เวียดนามคือหนึ่งในฐานการผลิตคราฟต์เบียร์ที่น่าสนใจ จากเงื่อนไขในการจัดตั้งธุรกิจในเวียดนามที่เอื้อให้ทั้งผู้ประกอบการชาวเวียดนามและชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยไม่มีการกำหนดปริมาณการผลิตขั้นต่ำ เพื่อช่วยรักษาความมีเอกลักษณ์ของคราฟต์เบียร์ที่นิยมผลิตในปริมาณน้อยแต่มีคุณภาพ จึงทำให้สามารถขายได้ในราคาที่พรีเมียมกว่าเบียร์ทั่วไปในท้องตลาด และยังเป็นการเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้กับผู้บริโภค อีไอซีมองว่ากลยุทธ์ในการแข่งขันของผู้เล่นในตลาดคราฟต์เบียร์คือ การพัฒนาสินค้าให้โดดเด่นและมีความแตกต่างจากผู้เล่นรายอื่น โดยควรเน้นที่การเพิ่มวัตถุดิบท้องถิ่น อย่างเช่น ส้ม มะลิ หรือเสาวรส เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมทั้งถ่ายทอดรสชาติและความเป็นท้องถิ่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นจุดขายที่สำคัญที่สุดของคราฟต์เบียร์

การมีพันธมิตรท้องถิ่นที่ดี เป็นอีกทางลัดสู่ความสำเร็จของการทำธุรกิจคราฟต์เบียร์ในเวียดนาม เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลเชิงลึกของตลาดที่ถูกต้องแล้ว ยังทำให้การดำเนินธุรกิจมีความสะดวกและราบรื่นขึ้นอีกด้วย ซึ่งนอกจากการผลิตเพื่อส่งกลับมาขายในไทยแล้ว การขยายฐานลูกค้าในเวียดนามและการส่งออกไปขายยังประเทศที่สามคืออีกหนึ่งโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งจะเห็นได้จากคราฟต์เบียร์ของเวียดนามที่มีการส่งสินค้ามาจำหน่ายในไทยแล้ว เช่น Heart of Darkness และ Pasteur Street เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าเวียดนามคือประเทศที่มีศักยภาพทั้งในแง่ของตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่และการเป็นฐานการผลิตและส่งออกคราฟต์เบียร์ที่สำคัญไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย