posttoday

อิทธิพล"ไทยป๊อป"ในอาเซียน

27 กุมภาพันธ์ 2557

จับกระแสความแรง “ไทยป๊อป” ในภูมิภาคอาเซียน

โดย...ตะวัน หวังเจริญวงศ์

วัฒนธรรมร่วมสมัยอันเป็นที่นิยมของไทย หรือ “ไทยป๊อป” เช่น ละคร ดนตรี ไม่เพียงเป็นกระแสที่มีอิทธิพลต่อเฉพาะคนไทยด้วยกันเท่านั้น แต่กระแสไทยป๊อปยังเดินทางไป “ป๊อป” ที่ประเทศต่างๆ ที่สนใจวัฒนธรรมหรืออุตสาหกรรมบันเทิงของไทยด้วย

อัมพร จิรัฐติกร อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าในงาน “อาเซียน ป๊อปคัลเจอร์” จัดโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่า ไทยป๊อปได้เข้าไปมีอิทธิพลในอาเซียนมาแล้วระยะหนึ่งผ่านรูปแบบของสื่อบันเทิง ในประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลมานานกว่าประเทศอื่น เฉลี่ย 10-20 ปี เพราะประเทศเหล่านี้ ไม่ได้ผลิตสื่อบันเทิงเอง

รูปแบบการเข้าไปในประเทศเหล่านี้มัก “ไม่เป็นทางการ” ชาวอาเซียน เช่น ชาวไทใหญ่ลักลอบนำละคร ภาพยนตร์ของไทยเข้าไปฉายในชุมชน และ เปิดฉายให้คนดูชมพร้อมกันราวกับการแสดง “มหรสพ”

“สื่อบันเทิงไทยป๊อปของเราสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เขาหลายเรื่อง เช่น เดิมทีชาวไทใหญ่มีหลายกลุ่ม ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน และพยายามมากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ภาษาไทใหญ่ แต่ก็ทำไม่สำเร็จ พอมีคนนำละครไทยเข้าไปฉาย แล้วมีคำบรรยายเป็นภาษาไทใหญ่ ก็ทำให้ชาวไทใหญ่ในแต่ละพื้นที่พยายามเรียนรู้ภาษาไทใหญ่จากคำบรรยายดังกล่าวเพื่อชมละคร”

ความเปลี่ยนแปลงลักษณะเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับคนกลุ่มอื่นในอาเซียนด้วย เช่น ในอดีตชาวม้งไม่มีคำ ที่กำหนดเรียกวันจันทร์ อังคาร พุธ และอื่นๆ เช่นภาษาไทย แต่พอจะต้องชมละครไทยในวันต่างๆ เลยมีการกำหนดคำขึ้นมาใช้เรียกชื่อวันต่างๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกัน สื่อสารกันเพื่อรอชมละครไทยได้

นอกจากนี้ ในละครไทยมักมีการใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อสื่อสารระหว่างกัน ชาวม้งจึงต้องกำหนดคำว่า “สัญญาณโทรศัพท์”ขึ้นมาด้วย เพื่อให้เข้าใจละครไทย

สำหรับวิธีการรับชมไทยป๊อปในแต่ละพื้นที่นั้น แตกต่างออกไปบ้างและมีจุดเด่นเฉพาะของตัวเอง เช่น ชาวไทใหญ่จะเปลี่ยนชื่อดาราไทย ไปเป็นชื่อเฉพาะในภาษาไทใหญ่ กบ-สุวนันท์ คงยิ่ง เปลี่ยนเป็น เขี่ยวยุ่ม นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี เปลี่ยนเป็น โนนคำ เมื่อจะหาละครเรื่องใด ก็จะเรียกจากชื่อนักแสดง

อีกทั้งแนวของเนื้อหาละครที่ชาวอาเซียนแต่ละกลุ่มนิยมดูยังแตกต่างออกไปด้วย เช่น ชาวกัมพูชาและชาวไทใหญ่ในพม่า จะนิยมชมละครที่เกี่ยวข้องกับยศถาและศักดินาในอดีต ไม่นิยมรับชมละครที่ตบตีแย่งชิง หรือมีความรุนแรง เรื่องที่แย่งสามี-ภรรยากันจะไม่เข้าถึงอารมณ์ของคนกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ ชาวกัมพูชายังไม่นิยมชมละครแนวจักรๆ วงศ์ๆ ของไทยด้วย

ขณะที่ชาวลาวและชาวม้งรุ่นใหม่ ไม่ค่อยนิยมรับชมละครไทยเหมือนคนยุคก่อน เนื่องจากรู้สึกว่าละครไทย “เอาต์ไปแล้ว” เขาจึงหันไปเล่นเฟซบุ๊ก ชมยูทูบ และรับชมเกาหลีเนื่องจากรู้สึกว่านำสมัยกว่า ชาวม้งยังคิดด้วยว่าตัวเองมีวัฒนธรรมใกล้เคียงชาวเกาหลีมากกว่า เนื่องจากนับถือระบบครอบครัวเหมือนกัน

ส่วนประเทศที่ผลิตสื่อบันเทิงเองด้วย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และคู่เจรจาอย่างจีน เริ่มรับชมสื่อบันเทิงของไทยมากว่า 5 ปี โดยนิยมซีรีส์หรือภาพยนตร์ สมัยใหม่ของไทย เช่น ฮอร์โมน รักแห่งสยาม

ชาวเวียดนาม บอกว่า ละครไทยมีความแปลกใหม่ พล็อตเรื่องไม่ซ้ำซากจำเจแบบละครเกาหลี ที่สำคัญ ละครไทยยังเปิดมุมมองด้านวัฒนธรรมด้วย พวกเขาสงสัยว่า ทำไมสังคมไทยเปิดกว้างเรื่องเพศมากกว่า

อัมพร ย้ำว่า แม้ปัจจุบันอาเซียนอาจจะยังไม่มีวัฒนธรรมร่วมกันเป็น “อาเซียนป๊อป” เนื่องจากไม่ได้มีรากฐานทางวัฒนธรรมคล้ายคลึงกันเหมือนประเทศแถบเอเชียตะวันออก แต่ไทยก็สามารถศึกษาพฤติกรรม วัฒนธรรม ชีวิตประจำวันของเพื่อนบ้านให้มากขึ้น เพื่อนำไทยป๊อปที่มีอยู่ไปเผยแพร่ในตลาดที่เหมาะสม ซึ่งอาจทำให้ไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้น และที่สำคัญกว่านั้น คือได้สรรค์สร้างวัฒนธรรมร่วมให้แก่เพื่อนบ้าน