posttoday

ประเมินลงทุน CLMV

28 ธันวาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ประเทศ CLMV ถือได้ว่าเป็นกลุ่มประเทศอาเซียนที่เนื้อหอมทางเศรษฐกิจและน่าทำธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราการขยายตัวที่สูง เป็นตลาดที่สำคัญของสินค้าไทยและอีกหลายประเทศ และน่าลงทุนเพราะพร้อมทั้งแรงงาน ค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตถูก มีเขตอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษมากมาย นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิทางภาษีการส่งออกจากต่างประเทศ (GSP) อีกด้วย

ผมจึงอยากจะประเมินว่าจากลักษณะเด่นของ CLMV ข้างต้น ว่าหลังจากที่อาเซียนเปิดเสรีการค้าและการลงทุนแล้ว การลงทุนของ CLMV เป็นอย่างไรบ้าง ประเทศใดครองอันดับหนึ่งและที่สำคัญเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมใดบ้าง

เมื่อพูดถึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาในอาเซียนพบว่ามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพิ่มจาก 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 137 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูลมาจาก "Investment Report" ของ UNCTAD) และคาดว่าในปี 2573 เพิ่มเป็น 328 พันล้านดอลลาร์ (ที่มาธนาคาร UOB) หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 14 พันล้านดอลลาร์ ที่น่าสนใจคือการลงทุนของ CLMV สัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากสัดส่วน 10% ในปี 2553 เป็น 17% ของการลงทุนต่างประเทศในอาเซียนในปี 2560 (FDI เพิ่มจาก 11 พันล้านดอลลาร์ เป็น 23 พันล้านดอลลาร์)

ในบรรดาประเทศ CLMV เวียดนามเป็นประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนมากสุด (สัดส่วน 60%) ตามด้วยเมียนมา (สัดส่วน 18%) กัมพูชา (12%) และลาว ตามลำดับ หนึ่งเหตุผลที่เวียดนามเนื้อหอมสุดเพราะรัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศเห็นได้จากการมีเขตอุตสาหกรรม (Industrial Parks : IPs) ที่อยู่ถึง 295 แห่งและในปี 2563 มีเป้าหมายที่ 500 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในกลุ่ม CLMV นักลงทุนจีนยังเป็นอันดับหนึ่งในกัมพูชาและ สปป.ลาว สามารถแยกเป็นแต่ละประเทศดังนี้ครับ

กัมพูชามีนักลงทุนจากจีนเป็นอันดับหนึ่ง แซงหน้าอีกหลายประเทศในช่วงที่ผ่านมา ตามด้วยกลุ่มนักลงทุนในอาเซียน ฮ่องกง ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ตามลำดับ FDI ที่เข้ามาในกัมพูชามีทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าและไม่ใช่เสื้อผ้า เช่น บริษัท Minebea Mitsumi ของญี่ปุ่น เดิมบริษัทผลิตมอเตอร์ขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงาน ภายในบ้าน ซึ่งชิ้นส่วนมาจากประเทศไทยและมาเลเซียอยู่ และบริษัทก็ได้ขยายการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมเครื่องมือทางการแพทย์และอุตสาหกรรมยา โดยโรงงานตั้งในเขตเศรษฐกิจพิเศษพนมเปญ (PPSEZ) ที่ห่างจากกรุงพนมเปญ 18 กม. ปัจจุบันกัมพูชามี SEZ จำนวน 25 เขตอุตสาหกรรม และ FDI ที่เข้าไปในกัมพูชามูลค่าการลงทุนสูงส่วนใหญ่อยู่ในกรุงพนมเปญ และจังหวัดกันดาล (Kandal)

นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจของเวียดนาม Vinamilk ร่วมทุนกับกลุ่ม Angkor Diary หรือที่รู้จักกันในนาม "Angkormilk" ตั้งโรงงานอยู่ใน PPSEZ เช่นกัน เพื่อผลิตนม โยเกิร์ต และนมข้นหวานขายในตลาดกัมพูชา บริษัท Sichuan Grand Royal Group ร่วมทุนกับกลุ่ม Try Pheap กัมพูชา ทำโรงงานผลิตรถมอเตอร์ไซค์แบรนด์จีน ในจังหวัดกันดาล เป้าหมายผลิตมอเตอร์ไซค์ 2 แสนคัน/ปี ขายในอาเซียน เริ่มจากขายในเมียนมา คาดว่าจะส่งออกต้นปี 2562

บริษัท Hitachi ร่วมทุนกับ CMED กัมพูชา ทำลิฟต์ ติดตั้งในพนมเปญ บริษัท Socfin ของลักแซมเบอร์ทำโรงงานทำยางแผ่นปีละ 8,000 ตัน บริษัทนี้มีสวนยางอยู่ที่จังหวัดมัณฑลคีรี (Mondulkiri) บริษัท Green Leader Holding Group ฮ่องกงทำโรงงานทำแป้งมันสำปะหลังปีละ 1 แสนตัน ที่จังหวัดกระแจะ (Kratie) กัมพูชาผลิตมันสำปะหลังปีละ 14 ล้านตัน  และมีแผนที่จะขยายโรงงานในจังหวัดสตรึงเตรง (Srtung Treng) สีหนุวิลล์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ถูกเปลี่ยนจากเมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยวกำลังจะกลายเป็น "เมืองทองเที่ยวระดับโลก" มีการสร้างเป็นเมืองกาสิโน ของนักลงทุนจีน และกำลังก่อสร้าง  "Wisney World" เพื่อเป็นสวนน้ำที่ใหญ่ที่สุดในกัมพูชา รวมทั้งกาสิโน ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างจีนและมาเลเซีย

อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สร้างรายได้ให้กับกัมพูชา ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนนอกอาเซียนเข้ามาลงทุนเสื้อผ้า ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจีน ตามด้วยเกาหลี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธนาคาร เช่น Renet Japan Group และ SBI Hooding ของญี่ปุ่น ทำธุรกิจ "Mobile Finance" หรือ "Fintech" หรือธุรกิจการเงินรับ จ่าย โอนทางออนไลน์หรือการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน สปป.ลาว เป็นอีกประเทศที่นักลงทุนจีนเข้าไปลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70% ของนักลงทุนทั้งหมด ตามด้วยนักลงทุนอาเซียนที่มีสัดส่วนลดลงอย่างมากในรอบหลายๆ ปี นอกจากโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงของจีน-ลาว ยังมีหลายบริษัทของจีนที่เข้าไปลงทุนมากมาย หลักๆ เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานน้ำ เช่น บริษัท Dongfang Electric Corporation และบริษัท Narinco International Cooperation การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในเมียนมา

ก่อนหน้านี้นักลงทุนหลักในเมียนมาคือ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง และไทย แต่ในปี 2560 เกาหลีใต้เป็นนักลงทุนอันดับหนึ่ง ตามด้วยอาเซียน นักลงทุนจีนหดหายไปจากการลงทุนในเมียนมาเยอะมากเหลือเพียงสัดส่วน 4.6% เท่านั้น จากเดิมที่เคยเป็นนักลงทุนที่ครองอันดับหนึ่งมาตลอด