posttoday

'Zero Palm Oil' กับอาเซียน

26 ตุลาคม 2561

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษา การค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

รัฐสภายุโรป (European Parliament) ได้ออกคำสั่ง "Renewable Energy Directive 2009 : RED" ที่กำหนดว่ายุโรปต้องใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม  และน้ำ เป็นต้น) เฉลี่ยร้อยละ 20 และร้อยละ 10 ในภาคการขนส่ง ในปี 2020 โดยครอบคลุมการบริหารจัดการพลังงาน 5 เรื่อง คือ พลังงานไฟฟ้า ความร้อน การขนส่ง ผู้บริโภค และชีวภาพ

ต่อมาวันที่ 7 ธ.ค. 2558 เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ได้ลงนาม "ปฏิญญาอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam Declaration)" ที่กำหนดแหล่งที่มาของพลังงานที่ใช้ในยุโรปต้องเป็นแบบยั่งยืน คือไม่ทำลายและบุกรุกป่า และเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 สมาชิกรัฐสภายุโรปมีมติอย่างท่วมท้นเห็นชอบรายงานของคณะกรรมการ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและอาหารของยุโรป (ENVI Report) ว่าปาล์มน้ำมันคือสาเหตุหลักในการทำลายป่าและก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนตามมา

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2561 รัฐสภายุโรปออกคำสั่ง  "EU Renewable Energy Directorate II : REDII" กำหนดว่ายุโรปต้องใช้พลังงานทางเลือกเฉลี่ยร้อยละ 27 ภาคการขนส่งเป็นร้อยละ 14 และการพลังงานจากน้ำมันปาล์มเหลือศูนย์เปอร์เซ็นต์ ในปี 2030 หรือที่เรียกว่า "Zero Palm Oil" นั้นหมายความว่าในอีก 12 ปีข้างหน้าปาล์มน้ำมันจากอาเซียน ไม่สามารถส่งไปขายในยุโรปได้อีกต่อไป ซึ่งหมายถึงน้ำมันปาล์มจาก 3 ประเทศผู้ผลิตหลักของโลกคืออินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย

เราไปดูตัวเลขการนำเข้าน้ำมันปาล์มของโลกก่อนครับว่าเป็น อย่างไรบ้าง ปี 2560 ทั่วโลกมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จำนวน 16 ล้านลิตร อินเดียเป็นผู้นำเข้าอันดับหนึ่ง (ร้อยละ 38) ตามด้วย ยุโรปร้อยละ 30 ประเทศในยุโรปที่นำเข้าหลักคือ เนเธอร์แลนด์ (สัดส่วนร้อยละ 49) เยอรมนี (สัดส่วนร้อยละ 19) อิตาลี (สัดส่วนร้อยละ 18) สเปน (สัดส่วนร้อยละ 14) อังกฤษ และฝรั่งเศส CPO ของมาเลเซียส่งออกปีละ 3.5 ล้านตัน ลูกค้าหลักคืออินเดีย (ร้อยละ 41) และตามยุโรปร้อยละ 40 ในขณะที่อินโดนีเซียส่งออก CPO จำนวน 9 ล้านตัน/ปี โดยส่งออกไปอินเดียร้อยละ 50 ตามด้วยยุโรปร้อยละ 20 ส่วนไทยส่งออกปีละ 3 แสนตัน ซึ่งลูกค้าของไทยคืออินเดียกับมาเลเซียตาม ลำดับ โดยไม่มีการส่งออกไปยุโรปเลย ฉะนั้น "Zero Palm Oil" จะกระทบต่อมาเลเซียและอินโดนีเซียโดยตรง และ CPO ของทั้งสองประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบจำนวน 3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 7.6 หมื่นล้านบาท (อินโดนีเซียเท่ากับ 4.3 หมื่นล้านบาท และมาเลเซีย 3.3 หมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ มาเลเซียจะกระทบเกษตรกรจำนวน 4 แสนครัวเรือน อินโดนีเซียจะกระทบ 1.5 ล้านครัวเรือน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย การที่ยุโรปออกกฎระเบียบดังกล่าวออกมานั้นจะช่วยทำให้ลดการบุกรุกป่าได้จริงหรือไม่ ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะแม้ว่ามาเลเซียกับอินโดนีเซียไม่ขายน้ำมันปาล์มให้กับยุโรป ทั้งสองประเทศนี้ก็ไปขายประเทศอื่นแทน ซึ่งก็ยังไม่จูงใจให้ลดพื้นที่ปาล์มอยู่ดี สิ่งที่ทั้งสองประเทศนี้ควรต้องดำเนินการคือ 1.ปลูกปาล์มแบบยั่งยืน ไม่บุกรุกป่า และได้มาตรฐานของ RSPO 2.หาตลาดอื่นแทนที่ ปัจจุบันมีมากกว่า 100 ประเทศที่นำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ตลาดจีน ญี่ปุ่น เป็นตลาดที่น่าสนใจมาก รวมทั้งในเอเชียใต้

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบต่อมาตรการ "Zero Palm Oil" โดยตรงก็ตาม แต่สิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบคือ "ราคาปาล์มตกในอนาคต" หลายคนอาจจะโต้ว่า ไม่ต้องอนาคตหรอก วันนี้ราคาปาล์มก็ลดลงแล้ว เหตุผลหลักมาจากสต๊อกปาล์มอยู่ที่ระดับ 4 แสนตัน ซึ่งเกินไปจากช่วงสต๊อก 1.5-2 แสนตัน ถ้าสต๊อกเพิ่มหรือลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ จะทำให้ราคาปาล์มสด (FFB) ลดลง หรือเพิ่มขึ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ (วิ่งสวนทางกัน)

ส่วนปัจจัยของอาเซียนที่มีต่อราคา FFB ไทย ได้แก่ สต๊อกของน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซีย ถ้ามีมากจะทำให้ราคา FFB ของไทยตกทันที หรือการผลิต CPO ของมาเลเซีย ถ้าผลิตมาก ราคา FFB ไทยตก เป็นต้น สต๊อกปาล์มมาเลเซียเมื่อเดือน ก.ค. 2561 ปรับขึ้นจาก 1 ล้านตัน เป็น 1.2 ล้านตัน อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมัน ไม่สามารถส่งออกไปตลาดโลกได้หากยังไม่สามารถบริหารจัดการลดต้นทุนในทุกขั้นตอน ไทยมีต้นทุนการผลิต 3.08 บาท/กก. มาเลเซีย 1.5 บาท/กก. และอินโดนีเซีย 2 บาท/กก. ซึ่งต้นทุนหลักๆ ของเกษตรกรไทยคือ ค่าต้นปาล์มรวมค่าขนส่งกับค่าปุ๋ยที่สูงสัดส่วน 70% รวมถึง การกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มที่สูงขึ้น นอกจากนี้ประเทศไทยควรผลักดันอุตสาหกรรมโอลิโอเคมีคัลปลายน้ำอย่างจริงจัง