posttoday

ปฏิรูปขนส่งเพื่อมวลชน รถไฟฟ้าสิงคโปร์ (2)

14 มีนาคม 2561

ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อสังคม ในบรรดาระบบขนส่งทั้งหมด “ระบบราง”

โดย...มรกตวงศ์ ภูมิพลับ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระบบขนส่งสาธารณะที่ดีเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อสังคม ในบรรดาระบบขนส่งทั้งหมด “ระบบราง” เป็นระบบที่ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ปลอดภัยและเกิดประโยชน์ระยะยาวมากที่สุด

ประเทศในอาเซียนกำลังพยายามเพิ่มการขนส่งระบบราง เวียดนามเดินหน้าทำรถไฟฟ้าทั้งที่ฮานอยและโฮจิมินห์ วางแผนสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมภาคเหนือ-ใต้ มาเลเซียและสิงคโปร์กำลังสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมเข้าหากัน

สำหรับรถไฟฟ้าในเมือง สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ทั้งเรื่องความสะอาด การตอบโจทย์ผู้อาศัยส่วนใหญ่ MRT เป็นกระดูกสันหลังของระบบขนส่งสิงคโปร์ทั่วทั้งเกาะ เชื่อมจากฝั่งตะวันออกมาตะวันตก เชื่อมจากเหนือสุดมาใต้สุด และเชื่อมระหว่างกลุ่มเมืองย่อยทั่วทั้งเกาะ

แต่กว่าจะมาเป็นเช่นนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ ต้องวางแผนระยะยาวและลงทุนก่อสร้างด้วยงบประมาณมหาศาล

ผู้ริเริ่มความคิดที่จะสร้าง MRT สิงคโปร์คือ ลิม ลีอง ก็อก (Lim Leong Geok) อดีตประธานาธิบดีคนที่ 5 ของประเทศผู้มีบทบาทสำคัญต่อระบบคมนาคมสิงคโปร์หลังได้รับเอกราช เขาเสนอโครงการนี้ตั้งแต่ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงติดต่อสื่อสาร

แผนการสร้างระบบรางมีมาตั้งแต่ปี 1967 แต่โครงการรถไฟฟ้าที่นี่ก็ต้องฝ่าฟันไม่แพ้ที่อื่น เพราะต้องศึกษาและขออนุมัตินานกว่า 2 ทศวรรษ ผู้เสนอต้องขับเคี่ยวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเพราะต้องทุ่มงบประมาณกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ใช้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากฮาร์วาร์ดเข้ามาศึกษาการทำงาน

สิบปีก่อนรัฐบาลจะอนุมัติให้สร้าง MRT ลีกวนยูก็ตัดสินใจลงทุน เพราะทราบดีว่าเมืองขยายตัวมากขึ้น ประชากรมากขึ้น จนรถประจำทางไม่สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้เพียงพอ เขาเชื่อผลการศึกษาที่ว่าเพื่อให้ระบบขนส่งเพียงพอและประหยัดเวลา ต้องใช้เส้นทางใต้ดินและตัดตรง ลีกวนยูกล่าวต่อสาธารณชนว่า “แม้ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 10 ปี ใช้งบประมาณมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ ผมไม่สน...ถ้ามันส่งผลดีและคุ้มค่า”

รัฐสภาสิงคโปร์เห็นชอบโครงการในปี 1987 สายแรกที่สร้างคือสายสีแดง (North South line) และสีเขียว (East West line) เมื่อเริ่มใช้งาน ก็ปรากฏว่ารถไฟฟ้าสิงคโปร์ขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย รัฐบาลกล้าระบุว่าที่นี่ค่าโดยสารที่นี่ถูกที่สุดในโลก ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 0.77 SGD (19.25 บาท) สูงสุดอยู่ที่ 2.02 SGD (50.5 บาท) ต่อมาในปี 2002 ยังใช้ระบบบัตร EZ-link เชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่นๆ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องต่อแถวยาวหยอดเหรียญในชั่วโมงเร่งด่วนเหมือนกับบางประเทศอีกต่อไป

ปัจจุบันสิงคโปร์มี MRT ทั้งหมด 5 สายที่เชื่อมกัน ได้แก่ สีแดง เขียว ม่วง ส้ม และน้ำเงิน กินระยะทาง 199.6 กิโลเมตร มีจำนวนสถานี 119 แห่ง (ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 26 แห่ง) มีผู้ใช้บริการ 3.1 ล้านคน/วัน นอกจากนี้ยังมี LRT (Light Rail Transit) หรือรถไฟฟ้ารางเบาซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 1999 เชื่อมเขตเมืองใหม่ที่มีผู้อาศัยอยู่ไม่หนาแน่นกับ MRT เข้าสู่ตัวเมือง ปัจจุบันมีทั้งหมด 42 สถานี ด้วยระยะทาง 28.8 กิโลเมตร มีผู้ใช้บริการราว 1.9 แสนคน/วัน

จนตอนนี้ แผนก่อสร้าง MRT และระบบขนส่งอื่นๆ ยังดำเนินต่อไป รัฐบาลยังอนุมัติให้ขยายระบบรางจนถึงปี 2030 โดยมีโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีฟ้าเชื่อมสนามบินชางงี-ยะโฮร์บาห์รู ชายแดนสิงคโปร์-มาเลเซีย จะเปิดใช้งานในปี 2024 หากสังเกตจะเห็นว่ารถไฟฟ้าบางสายการนับสถานีจะข้ามเลขบางเลข โดยเลขที่ถูกเว้นคือโครงการสร้างสถานีแห่งใหม่ที่จะเชื่อมกับโครงการอื่น

รถไฟฟ้าสิงคโปร์ยังเป็นที่มาของการห้ามหมากฝรั่งในประเทศนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กลัวเรื่องการเอาหมากฝรั่งไปอุดประตูเข้าออกตัวรถไฟฟ้าที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมา

การวางแผนพัฒนาระบบรางของสิงคโปร์ ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบรางนั้น คุ้มค่าที่จะจ่าย

******************************** 

หมายเหตุ : สำหรับในฉบับสิ่งพิมพ์ วันพุธ ที่ 14 มีนาคม 2561 ทางโต๊ะข่าวอาเซียนได้มีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อของผู้เขียนจาก “ปฏิรูประบบขนส่งเพื่อมวลชน ตอนที่2 รถไฟฟ้าสิงคโปร์” เป็น “ปฏิรูปขนส่งเพื่อมวลชน รถประจำทางสิงคโปร์(2)” ซึ่งถือเป็นข้อผิดพลาดที่ได้เปลี่ยนแปลงหัวข้อของผู้เขียน ทั้งนี้โต๊ะข่าวอาเซียนขออภัยต่อความผิดพลาดดังกล่าวมา ณ โอกาสนี้