posttoday

สตาร์ทอัพอาเซียน(2)

31 มีนาคม 2559

อาเซียนกำลังเป็นที่น่าจับตองมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่อาเซียน

โดย...ดร.การดี เลียวไพโรจน กรรมการผู้จัดการ C Asean | [email protected]

อาเซียนกำลังเป็นที่น่าจับตองมองโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ เมื่อถนนทุกสายมุ่งสู่อาเซียน

เรามามองจุดเด่นของแต่ละประเทศกันดูบ้าง ประเทศมาเลเซียมีองค์กรรัฐอย่าง MaGIC (Malaysia Global Innovation & Creativity Centre) ตั้งอยู่ที่ Cyberjaya ที่เป็นองค์กรในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพของมาเลเซีย และได้ตั้งโครงการ ASEAN Centre for Entrepreneurship (ACE) เพื่อรองรับการขยายตัวของสตาร์ทอัพมาเลเซียสู่ตลาดภูมิภาค

โดยสร้างเครือข่ายกับกลุ่มสตาร์ทอัพทั้ง 9 ประเทศในอาเซียนในปีนี้จะมีโครงการอื่น เช่น Startup Exchange Program (SEP) โดยกลุ่มสตาร์ทอัพมาเลเซียจะมาใช้เวลาที่ประเทศไทยตลอดเวลา 1 เดือน โดยมี Casean เป็นพาร์ตเนอร์ในไทยในการจัดกิจกรรมนี้

มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สตาร์ทอัพมาเลเซียทำความเข้าใจตลาดไทย สร้างทีม และสร้างเครือข่าย รวมไปถึงแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมโยงในระดับสตาร์ทอัพของภูมิภาคได้เป็นอย่างดี

สำหรับประเทศบรูไนดารุสซาลาม จากที่ประเทศร่ำรวยน้ำมัน วันนี้บรูไนหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมผู้ประกอบการเร่งปั้นสตาร์ทอัพของตัวเอง

จากโครงการสร้างทักษะผู้ประกอบการให้กับเยาวชน ชื่อว่า Brunei Entrepreneurship Education Scheme (BEES) ที่เป็นความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยบรูไนดารุสซาลาม กระทรวงศึกษาธิการ และ Brunei Shell Petroleum (BSP) บริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐบาลกับเอกชน

และล่าสุดทาง The Brunei Economic Development Board (BEDB) ก็ได้ทำโครงการ Start-Up Brunei Program (SUB) เพื่อส่งเสริมให้เกิดธุรกิจเกิดใหม่คู่ขนานไปกับการสร้างเอสเอ็มอี ประเทศเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2556 รัฐบาลเวียดนามโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศแนวคิดริเริ่ม Viet Nam Silicon Valley (VSV) Project ในกรุงฮานอย เพื่อส่งเสริมการเติบโตของกลุ่ม Tech Startups โดยมีเป้าหมายหลักในการสร้างระบบนิเวศ หรือสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีไปจนถึงการจับคู่ทางธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงเงินทุนได้
ง่ายขึ้น

ถึงวันนี้เวียดนามเป็นประเทศในอาเซียนที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดจากนักลงทุนต่างชาติยักษ์ใหญ่ เช่น การลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของเกาหลีอย่างซัมซุง โดยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีในระดับสูง และเวียดนามก็เป็นประเทศที่ผลิตวิศวกรมากที่สุดในอาเซียน ในแต่ละปีมีโปรแกรมเมอร์ความสามารถสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการในการเติบโตของกลุ่มสตาร์ทอัพเทคโนโลยี

นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะเกาหลีมองว่า คนเวียดนามมีนิสัยคล้ายกับคนเกาหลีด้านความตั้งใจทำงานและความอดทนเพื่อสิ่งที่ดีที่สุด

นอกจากนี้ เมืองหลักของเวียดนามทั้งฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ ก็มีการแข่งขันกันเองในการสร้าง Startup Hub ของประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างทางเลือกที่ดีให้กับนักลงทุน