posttoday

13ปีที่รอคอย ซูเปอร์โซนิคกลับมาแล้ว

20 พฤศจิกายน 2559

บริษัทในสหรัฐประกาศเดินหน้าพัฒนาเครื่องบินซูเปอร์โซนิค หวังลดระยะเวลาเดินทาง เตรียมบินทดสอบครั้งแรกปลายปีหน้า

บริษัทในสหรัฐประกาศเดินหน้าพัฒนาเครื่องบินซูเปอร์โซนิค หวังลดระยะเวลาเดินทาง เตรียมบินทดสอบครั้งแรกปลายปีหน้า

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 1960 เป็นครั้งแรกที่โลกได้สัมผัสกับการเดินทางทางอากาศด้วยความเร็วสูง จากสายการบินคองคอร์ด ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทฝรั่งเศสและอังกฤษ

ในเวลานั้น ผู้โดยสารของสายการบินสามารถเดินทางจากมหานครนิวยอร์กของสหรัฐไปถึงกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ใช้ระยะเวลาเพียง 3.5 ชม. ซึ่งนับว่าเร็วกว่าเกินเท่าตัว เมื่อเทียบกับการบิน 8 ชม.ด้วยเครื่องบินปกติ

ทว่า ด้วยปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่าใช้จ่ายการจัดการที่สูงขึ้น แถมยังต้องเผชิญกับการจำกัดเที่ยวบิน เนื่องจากการบินด้วยความเร็วสูงมากที่ระดับซูเปอร์โซนิค (ตั้งแต่มัค 1.2-5 และ 1 มัค คือความเร็วที่ราว 1,225 กม.ต่อ ชม. ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิโดยรอบ) จะก่อให้เกิดเสียงรบกวน จนทางการของบางประเทศสั่งห้ามเที่ยวบินพิเศษบินเหนือเขตแดนของตัวเอง ท้ายที่สุด คองคอร์ดก็จำใจให้บริการเที่ยวบินซูเปอร์โซนิคครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2003 และนับแต่นั้นมา ก็ไม่มีสายการบินแห่งใดในโลกที่ให้บริการนี้อีกเลย

กระทั่งล่าสุด บริษัทสตาร์ทอัพ Boom ถือกำเนิดขึ้นมา โดยมีเป้าหมายพุ่งตรงไปที่การสร้างเครื่องบินโดยสารความเร็วซูเปอร์โซนิคมาให้บริการชาวโลกอีกครั้ง โดยที่เคลมว่าได้แก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุของความล้มเหลวของเครื่องบินซูเปอร์โซนิครุ่นพี่ด้วย

Boom ภูมิใจนำเสนอเครื่องบินซูเปอร์โซนิค XB-1 หรือมีชื่อเล่นเรียกอย่างน่ารักว่า Baby Boom (เบบี้ บูม) เดินทางด้วยความเร็วที่ 2.2 มัค หรือราว 2,335 กม.ต่อ ชม. บรรทุกผู้โดยสารได้สุทธิ 45 คน แม้จะจุคนได้น้อยกว่าคองคอร์ดหลายเท่า แต่ผู้ผลิตเทียบว่า XB-1 นั้นเดินทางได้เร็วกว่าถึง 10% จากสหรัฐถึงกรุงลอนดอนในเวลาไม่ถึง 3 ชม. หรือจากเมืองลอสแองเจลิสถึงซิดนีย์ของออสเตรเลีย ก็ใช้เวลาแค่ราว 6 ชม. 45 นาที นับว่าประหยัดเวลามาก เมื่อเทียบกับการเดินทางเครื่องบินปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 15 ชม.ต่อเที่ยว

อย่างไรก็ดี ข้อมูลสำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับเบบี้ บูมยังคงเป็นความลับ เบลค สกอลล์ ผู้ก่อตั้ง Boom เผยเพียงแค่เชื่อมั่นว่า ด้วยการออกแบบยวดยานและนวัตกรรมของเครื่องยนต์ที่ล้ำสมัยขึ้น จะทำให้การบินของ XB-1 ประหยัดเชื้อเพลงได้มากกว่าเครื่องบินซูเปอร์โซนิคของคองคอร์ด 30% นอกจากนี้ ยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขาดทุนน้อยกว่า จากห้องโดยสารที่เล็กกว่า บรรจุคนน้อยกว่า ซึ่งเป็นการอุดรอยรั่วของคองคอร์ดที่เคยประสบปัญหาไม่ได้กำไรจากการบินเร็วบินด่วน เพราะผู้ใช้บริการน้อยกว่าพื้นที่ที่รองรับ

แต่ในเวลาเดียวกัน การรองรับผู้โดยสารในจำนวนที่จำกัดกว่ามาก ก็เป็นข้อเสียในเรื่องของค่าใช้จ่าย เพราะในขณะที่เครื่องบินลำใหญ่ที่บรรทุกคนได้มากกว่า สามารถหารเฉลี่ยค่าใช้จ่ายการบินจนคิดเป็นค่าโดยสารที่ถูกลงได้ แต่อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบากกว่าสำหรับ XB-1 ทว่า ทาง Boom ก็ยังยืนกรานว่า การบินด้วยความเร็วสูงคือตัวชูโรง ที่ดึงดูดใจให้ผู้โดยสารยอมควักกระเป๋าจ่ายแพงกว่า เพื่อประหยัดเวลาที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กลางอากาศแน่นอน

ทั้งนี้ ผู้คนจะได้เห็นเบบี้ บูมทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้าครั้งแรกช่วงปลายปีหน้า ซึ่งเป็นการทดสอบการบินจริงของเครื่อง โดยในขณะที่ยังไม่มีการผลิตเครื่องบินออกมาอย่างเป็นทางการ Boom ก็ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีมาก เช่น บริษัท Virgin Airlines ของมหาเศรษฐีคนดัง ริชาร์ด แบรนสัน ที่ตกลงซื้อเครื่องบินซูเปอร์โซนิคอย่างน้อย 10 ลำเรียบร้อยแล้ว

ที่มา www.m2fnews.com