posttoday

จีนกุมขมับสร้างรถไฟ ศึกหนักเส้นทางเชื่อมอาเซียน

06 มิถุนายน 2559

จีนเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแต่ละชาติเห็นว่าจีนเอาเปรียบมากเกินไป

โดย...ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนประกาศนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ โดยมียุทธศาสตร์สำคัญคือ “1 แถบ 1 เส้นทาง” หรือ One belt, One Road ในปี 2013 โดยเป็นแผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคทั่วเอเชียและยุโรปโดยมีจีนเป็นจุดศูนย์กลางและตั้งเป้าหมายที่เพิ่มมูลค่าการค้าให้ได้ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 87 ล้านล้านบาท) ภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะที่จีนประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและพยายามผลักดันให้เอกชนลงทุนนอกประเทศ

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า จนถึงปัจจุบันแผนการดังกล่าวกลับพบอุปสรรคอย่างมากในการขยายเส้นทางเชื่อมต่อ โดยเฉพาะเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 3,000 กิโลเมตร จากคุนหมิง มณฑลยูนนานทางตอนใต้ของประเทศจีนไปยังสิงคโปร์ ซึ่งเผชิญปัญหากับลาวจนยังไม่สามารถเปิดประตูสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เสียทีเนื่องจากตกลงเรื่องทุนการสร้างไม่ลงตัว

ปีเตอร์ ไซ สมาชิกนักวิจัยจากสถาบันโลวีเพื่อนโยบายต่างประเทศในซิดนีย์ ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า สำหรับจีนแล้วความกังวลที่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นปัญหาแรกสำหรับนโยบายเส้นทางสายไหมในยุคนี้

แพง-ไม่ปลื้มข้อเสนอ

จีนเผชิญหน้ากับอุปสรรคต่างๆ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากแต่ละชาติเห็นว่าจีนเอาเปรียบมากเกินไปและเงื่อนไขในด้านทุนสร้างก็ไม่น่าพอใจนัก โดยเจ้าเจียนศาสตราจารย์ด้านคมนาคมจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งเจียวตง ระบุว่า แม้จีนจะเสนอทุนสร้างทั่วภูมิภาคมากถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1 ล้านล้านบาท) แต่อัตราดอกเบี้ยกลับอยู่ที่ 2-7% ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศที่ต้องการต้นทุนเงินกู้ถูก

นอกจากนี้ หลายประเทศยังไม่พอใจที่จีนเรียกร้องสิทธิในการพัฒนาที่ดินข้างทางรถไฟทั้งสองฝั่ง โดยจีนต้องการให้การพัฒนาที่ดินดังกล่าวคืนกำไรให้แก่จีน และทำให้โครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทำเงินได้ ในขณะที่ด้านเมียนมาแสดงความกังวลการสร้างทางรถไฟว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยกเลิกโครงการสร้างทางรถไฟในปี 2014

ปัญหาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับลาว ประเทศที่หลายร้อยบริษัทจากจีนเข้าไปลงทุน เช่น หวันเฟิง เซี่ยงไฮ้ เรียลเอสเตท ที่เข้าไปลงทุนในลาว 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.6 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมและห้างสรรพสินค้าสำหรับชาวจีนย้ายถิ่น แต่รัฐบาลลาวยังคงลงทุนน้อยในเส้นทางรถไฟใหม่ รวมถึงถนน ตรงกันข้ามกับจีนที่เข้าลงทุนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐที่คุนหมิง จุดสตาร์ทเส้นทางสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ประตูสู่อาเซียนขาดทุนสร้าง

รอยเตอร์ส ระบุว่า สำหรับทางรถไฟในลาวยังคงไม่ได้เริ่มสร้าง แม้จะเป็นประเทศแรกสำหรับเส้นทางรถไฟในการเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากไม่อาจหาเงินลงทุนสร้างทางรถไฟมูลค่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.45 แสนล้านบาท) แม้สถานีรถไฟในคุนหมิงมูลค่า 2,100 ล้านหยวน (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) จะพร้อมใช้งานในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และลาวเพิ่งจัดงานวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมา

“หลายคนคาดว่าทางรถไฟจะใช้เงินสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.45 แสนล้านบาท) และลาวก็ลำบากมากที่จะหาเงินแค่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 7 หมื่นล้านบาท)” นักการทูตชาวตะวันตกในประเทศลาวเปิดเผยกับรอยเตอร์ส

สำหรับการสร้างทางรถไฟดังกล่าว ทั้งลาวและจีนต่างได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยในขณะที่สำหรับจีน ทางรถไฟจะเป็นจุดเปิดเข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับลาวแล้วทางรถไฟดังกล่าวจะช่วยให้ลาวเป็นแผ่นดินที่เชื่อมต่อกับนานาประเทศ ไม่ได้เป็นเพียงดินแดนที่ไร้ทางออกทางทะเลอีกต่อไป

แหล่งข่าวยังเปิดเผยกับรอยเตอร์สอีกด้วยว่า เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ลาวมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ ที่ปราศจาก สมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรีเชื้อสายไหหลำ ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการที่เกี่ยวข้องกับจีน โดยนับเป็นการปรับทิศทางใหม่ของลาวหลังจากที่หลายฝ่ายมองว่า กรรมการบริหารชุดก่อนมีทัศนะที่เข้าข้างจีนมากเกินไป

อย่างไรก็ตาม สมสะหวาด เปิดเผยกับรอยเตอร์ส ว่า ข้อตกลงสร้างทางรถไฟนั้นดีกับลาวและลาวกำลังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด รวมถึงยังประสบปัญหาการต่อต้านจากท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องที่ดินที่จะใช้สร้างทางรถไฟดังกล่าว

ทางรถไฟไทย-จีนคุยไม่ลงตัว

รอยเตอร์ส ระบุว่า สำหรับทางรถไฟไทย-จีนเองก็มีปัญหาในด้านเงินทุนสร้างเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องการจัดหาเงินทุน การลงทุน และทุนสร้าง โดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกกับนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียงของจีน ในการพบปะเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ว่า ไทยจะเป็นผู้ออกเงินสร้างทางรถไฟทั้งหมดและจะสร้างทางรถไฟแค่บางส่วนเท่านั้น

นอกจากนี้ ไทยยังปฏิเสธที่จะให้จีนเป็นผู้พัฒนาดินแดนสองฝั่งข้างทางรถไฟอีกด้วย

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ของไทย เรียกร้องให้จีนลงทุนให้มากขึ้น เนื่องจากเส้นทางรถไฟดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ให้ประโยชน์แก่จีน

ขณะเดียวกันรอยเตอร์สรายงานอ้างแหล่งข่าวภายในกระทรวงการคลังของไทย ว่าไทยไม่ต้องการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากการกู้ยืมเงินแพงจากประเทศจีน เมื่อเทียบกับข้อเสนอของประเทศอื่นๆ โดยไทยสามารถทำข้อตกลงด้านเงินทุนกับญี่ปุ่นได้แทนที่จะเป็นจีน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นคู่แข่งในด้านการขยายอิทธิพลในภูมิภาคกับจีน ดังนั้นจีนจะระมัดระวังมากขึ้นในเรื่องข้อเสนอกับไทย