posttoday

ตามรอยเมืองพุทธศาสนา... วิถีสร้างสังคมให้เป็นสุข

18 กุมภาพันธ์ 2560

มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงจุดกำเนิดของศาสนา บางทฤษฎีก็ว่าศาสนามีขึ้นมาเพื่อรับใช้ชนชั้นปกครอง ชนชั้นสูง

โดย...ทีมงานโลก 360 องศา facebook : โลก 360 องศา youtube : โลก 360 องศา

มีหลายทฤษฎีที่กล่าวถึงจุดกำเนิดของศาสนา บางทฤษฎีก็ว่าศาสนามีขึ้นมาเพื่อรับใช้ชนชั้นปกครอง ชนชั้นสูง อีกทฤษฎีก็อ้างว่าเกิดจากความกลัวของมนุษย์ รวมถึงความไม่รู้ หาเหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์ในสังคมไม่ได้ แม้จะต่างกันในมุมมองถึงจุดกำเนิดและที่มาของแต่ละศาสนา แต่ทุกศาสนาก็ล้วนมีส่วนช่วยให้มนุษย์ในแต่ละสังคมอยู่กันด้วยความเป็นมิตร เอื้ออาทร เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ สร้างให้สังคมอยู่กันได้อย่างสงบสุข

ทีมงานโลก 360 องศา ผ่านการเดินทางท่องไปในเมืองพุทธศาสนาหลายแห่ง แม้จะต่างนิกาย ต่างพิธีกรรมและวิถีปฏิบัติ แต่แกนหลักๆ ยังคงยึดถือไว้เหมือนกัน คือ ทำความดี ละเว้นความชั่ว และการรักษาใจให้บริสุทธิ์ ที่มาของการแตกออกเป็นนิกายต่างๆ ของศาสนาพุทธ เกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้า ปรินิพพานได้ประมาณ 100 ปี บรรดาสาวกก็เริ่มมีแตกแยกในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับพระธรรมวินัย 

จนนำไปสู่การแบ่งแยกออกเป็น 2 นิกายใหญ่ๆ คือ “มหายาน” กับ “เถรวาท”

“นิกายมหายาน” ไปเจริญรุ่งเรืองในประเทศทิเบต จีน มองโกเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลี ส่วน “นิกายเถรวาท” จะมีผู้นับถือมากในศรีลังกา เมียนมา ลาว กัมพูชา และประเทศไทย

การตามรอยเมืองพุทธศาสนาของทีมงานโลก 360 องศา เริ่มต้นที่ “อินเดีย” ประเทศที่มีเมืองลุมพินีวันเป็นสถานที่ประสูติ พุทธคยาเป็นสถานที่ตรัสรู้ สารนาถเป็นสถานที่แสดงปฐมเทศนา และกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพาน ทุกวันนี้คนไทยจำนวนมากเดินทางไปอินเดียเพื่อเยือน 4 สังเวชนียสถานข้างต้น พร้อมปฏิบัติธรรม ถือว่าเป็นมงคลสูงสุดสำหรับชีวิต

แม้อินเดียจะเป็นจุดกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ปัจจุบันมีคนนับถือศาสนาพุทธน้อยมาก ด้วยกาลเวลาที่สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย แต่ศาสนาพุทธก็ได้แผ่ขยายและฝังรากลึกไปในหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง เมียนมาลาว และกัมพูชา วิถีปฏิบัติในพุทธศาสนาของประเทศเหล่านี้จะมีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยอย่างมาก ทั้งคำสวด วิธีการกราบไหว้ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะต่างก็เป็นกลุ่มนิยายเถรวาทเหมือนกัน ประกอบกับมีรากวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน เป็นสังคมที่มีพื้นฐานเชื่อมกับพระพุทธศาสนามาแทบทั้งสิ้น ทั้งการที่มีวัดเป็นโรงเรียนในสมัยก่อน มีพระเป็นผู้นำทางความคิดของชุมชนในสมัยก่อน และมีเกณฑ์ในการตัดสินการกระทำที่ถูกที่ควร โดยมักอ้างอิงตามหลักพระพุทธศาสนาที่คล้ายกันนั่นเอง

ถัดจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยขยับออกไปอีกหน่อยก็คือ ราชอาณาจักรภูฏาน เป็นประเทศเล็กๆ กลางหุบเขา ทางตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย มีประชากรประมาณ 7 แสนกว่าคน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงที่ชื่อว่า “ทิมพู” (Thimphu)

ภูฏานถือเป็นเมืองพุทธที่ต่างนิกายออกไป เป็นนิกาย “วัชรยาน” หรือ “ตันตรยาน” ซึ่งน่าจะเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่นับถือพุทธศาสนามหายานแบบตันตระเป็นศาสนาประจำชาติอย่างเป็นทางการ โดยนิกายตันตรยานหรือวัชรยานนี้ถือกำเนิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของพัฒนาการอันยาวนานของพุทธศาสนา

ชื่อ “ตันตระ” มาจากภาษาอินเดีย เป็นชื่อคัมภีร์ลึกลับที่รู้กันในวงจำกัด และปรากฏขึ้นในราวช่วงศตวรรษที่ 3-10 โดยแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม จากคำสอนที่ง่ายที่สุดจนไปถึงคำสอนที่ซับซ้อนที่สุด พุทธศาสนาตันตรยานสูญหายไปจากอินเดีย ต้นศตวรรษที่ 13 เมื่อมุสลิมเข้าไปและไปรุ่งเรืองอยู่ในทิเบต ลาดัคห์ สิกขิม มองโกเลีย และภูฏาน พิธีกรรมของพุทธศาสนาตันตรยานมักกระทำกัน เพื่อปัดเป่าสิ่งเลวร้ายออกไป และชักนำสิ่งดีๆ เข้ามาในชีวิต โดยมักเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญเทพยดา ตามด้วยการสารภาพความผิดหรือบาปกรรม จากนั้นจึงถวายเครื่องบวงสรวงและสวดบูชาเทพเจ้า ส่งท้ายด้วยการร่ายมนต์อัญเชิญเทพยดาให้กลับไปยังที่สถิต ซึ่งอาจเป็นรูปเคารพหรือภาพเขียน 

ศิลปะและวัฒนธรรมการแสดงของชาวภูฏาน ส่วนใหญ่จะสอดคล้องกับความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ระบำกลอง และระบำสวมหน้ากาก เป็นเหมือนกับการขับไล่สิ่งชั่วร้ายเช่นกัน

การไปสัมผัสพุทธศาสนาในภูฏาน มีสถานที่หนึ่งที่เป็นบททดสอบแรงศรัทธาของพุทธศาสนิกชนก็คือวัด “พาโร ตั๊กซัง (Paro Taktsang)” หรือที่เรียกว่า Tiger’s Nest ที่แปลว่ารังหรือถ้ำเสือนั่นเอง

ว่ากันว่า “หากใครมาภูฏานแล้วไม่ได้ขึ้นวัดตั๊กซังเหมือนมาไม่ถึงภูฏาน” และที่กล่าวว่าเป็นบททดสอบแรงศรัทธา ก็เพราะต้องเดินเท้าขึ้นไปชมวัดที่ตั้งอยู่บนชะง่อนผาสูงจากระดับน้ำทะเล 2,950 เมตร แม้จะยากลำบากแต่พอได้ชมวัดอันวิจิตรงดงามแล้วก็จะนึกในใจว่าถ้าคิดท้อ ไม่ขึ้นไปชมวัดเสียแต่แรกแล้ว จะเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิตเลยทีเดียว

ชาวภูฏานมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย โดยใช้พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของการดำเนินชีวิต และมีสถาบันกษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ภูฏานยังคงได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่งความสุขแบบยั่งยืน” แห่งหนึ่งของโลก

อีกประเทศที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ “ศรีลังกา” แม้จะเป็นประเทศที่แตกต่างกับไทย ทั้งอาหารการกิน  การแต่งกาย ภาษา และวัฒนธรรม แต่สามารถเชื่อมต่อความรู้สึกถึงกันได้ง่าย ด้วยความเป็นพุทธศาสนิกชนเหมือนกัน

“ศรีลังกา” เป็นประเทศที่มีคนนับถือศาสนาพุทธเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดของประเทศ และเป็นนิกายเถรวาทเหมือนกับไทย แต่จะต่างกันตรงที่จะแบ่งออกเป็น 3 นิกายย่อย โดยแต่ละนิกายจะมีประมุขสงฆ์ของตนเอง ได้แก่ สยามนิกาย อมรปุระนิกาย และรามัญนิกาย                                         

พระพุทธศาสนาเผยแผ่จากอินเดียมายังดินแดนที่เคยเรียกว่า “ลังกา” เมื่อประมาณปี พ.ศ. 236 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งพุทธศาสนามีความรุ่งเรืองมาก พุทธศาสนาในลังกาเคยเสื่อมถอยไปหลายครา ทั้งเหตุจากสงครามกับชาวทมิฬ จากการรุกรานจากอินเดีย การเข้ามาของโปรตุเกส และตามมาด้วย การล่าอาณานิคมของฮอลันดา ที่นำเอาศาสนาอื่นเข้ามาแทนที่จนถึงขั้นไม่มีพระสงฆ์เหลืออยู่เลย เหลืออยู่บ้างก็เป็นแค่สามเณร จนถึงขั้นต้องมานิมนต์พระสงฆ์จากกรุงศรีอยุธยาไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในปี 2294 และนั่นจึงเป็นที่มาของ “นิกายสยามวงศ์”

ต่อมามีสามเณรอีกคณะจากลังกาไปขอรับการอุปสมบทจากประเทศเมียนมา เกิดเป็น “อมรปุระนิยาย” ขึ้น และอีกคณะหนึ่งที่ไปอุปสมบทจากเมืองมอญ ก็กลับมาตั้ง “รามัญนิยาย” นั่นจึงเป็นเหตุให้ที่นี่มีพุทธเถรวาทถึง 3 นิกายย่อย ที่ศรีลังกาจะมีประเพณียิ่งใหญ่อยู่ 2 งาน คือ งานแห่พระธาตุเขี้ยวแก้ว และงานวันวิสาขบูชา โดยพิธีแห่พระธาตุเขี้ยวแก้วจะจัดขึ้นทุกปีช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่เมืองแคนดี้ (Kandy) ณ วัดดาลลา มัลลิกาวะ (Dallada Vailgava) หรือที่คนไทยเรียกวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว

ส่วนเทศกาลวิสาขบูชา ชาวศรีลังกาเรียกว่า “เวสัก (Visak)” จะถือว่าเป็นเหมือนวันขึ้นปีใหม่ด้วยมีการตกแต่งประดับประดาเมืองอย่างสวยงามและมีงานกันหลายวัน เดินทางไปไหนก็จะเห็นมีการทำบุญทำทานกันทุกหมู่บ้าน จะเห็นว่าวิถีแห่งเมืองพุทธในแต่ละประเทศ แม้จะแตกต่างนิกายกันออกไป แต่ก็ล้วนค้ำจุนสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และที่สำคัญคือเป็นศาสนาที่มุ่งให้ทุกคนทำดี ซึ่งความดีเป็นภาษาสากล ที่ผู้คนทั่วโลกล้วนเข้าถึงและสื่อสารถึงกันได้

ติดตามเรื่องราวเหล่านี้ได้ทางรายการ โลก 360 องศา เสาร์นี้ ทาง ททบ.5