posttoday

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’

01 ตุลาคม 2559

เรื่องของเรื่อง คือ บังเอิญได้รับหนังสือ งามทั่วแคว้น แดนนนทรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)

โดย...กาญจน์ อายุ

เรื่องของเรื่อง คือ บังเอิญได้รับหนังสือ งามทั่วแคว้น แดนนนทรี จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ที่แจกให้นิสิตในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อปี 2556 เพื่อให้นิสิตที่จบไปได้กลับไปเที่ยวตามวิทยาเขตและสถานีวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ทั่วประเทศ

คำถามผุดขึ้นคามือว่า 4 วิทยาเขต 18 สถานีวิจัย และ 4 สถานีฝึกนิสิต เที่ยวได้จริงหรือ?

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยประมงศรีราชา จ.ชลบุรี

 

เรื่องนี้ลอยไปไกลถึงหู ดร.ณรงค์ชัย พิพัฒน์ธนวงศ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ ผู้ดูแลสถานีวิจัยทั้งหมด ท่านจึงต้องมาแถลงไข และตอบคำถามคาใจว่า “ข้าวโพดไร่สุวรรณเป็นหนึ่งในผลงานวิจัยของศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ”ท่านรองฯ กล่าวเปิดเรื่องได้อย่างน่าประหลาดใจเพราะใครๆ ก็รู้จักไร่สุวรรณ แต่ไม่รู้ว่าเป็นของ มก.

ไร่สุวรรณ

ไร่สุวรรณมีชื่อเต็มว่า ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ และสถานีวิจัยพืชไร่สุวรรณวาจกกสิกิจ ใครที่ขับรถไปเที่ยวปากช่องจ.นครราชสีมา คงคุ้นเคยดี ไร่สุวรรณเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษา ตามหลักของสถานีวิจัยที่ว่า “ขึ้นชื่อว่าเป็นความรู้ เราไม่เคยปกปิด”

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

ศูนย์วิจัยแห่งนี้ได้พัฒนาข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 1 ที่ให้ผลผลิตสูง ต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง และได้ขยายพันธุ์ไปสู่เกษตรกร ซึ่งใช้เวลาวิจัยถึง 45 ปี จนกระทั่งได้รับการขนานนามว่าเป็นพันธุ์ข้าวโพดเขตร้อนที่ดีที่สุดในโลก และยังต่อยอดไปสู่ข้าวโพดพันธุ์สุวรรณ 2 สุวรรณ 3 และสุวรรณ 5ส่งเสริมให้เกษตรกร

นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวได้ทั้งปี เช่น ชมแปลงปลูกข้าวโพด ถ่ายรูปแปลงดอกไม้ สูดอากาศบริสุทธิ์ และชิมน้ำนมข้าวโพด ซึ่งน้ำนมข้าวโพดเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยของข้าวโพดหวานพันธุ์อินทรีย์ 2 ที่มีความหอมกว่าพันธุ์อื่นร้อยละ 45 จึงกลายมาเป็นเครื่องดื่มซิกเนเจอร์ของไร่สุวรรณ

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยประมงคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

ดอยปุย

วางแผนไว้สำหรับหนาวนี้ สถานีวิจัยดอยปุยยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวเหมือนเช่นเคยตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งในอดีตดอยปุยเคยเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อในหลวงทรงเสด็จเยี่ยมหมู่บ้านชาวเขาและมีพระราชดำริว่า การทำสวนผลไม้เมืองหนาว เช่น ท้อ พลับ สาลี่ แอปเปิ้ลเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาชีวิต พระองค์จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 2 แสนบาท ชดเชยค่าต้นไม้ที่เจ้าของเดิมปลูกไว้เพื่อใช้ที่ดินเป็นพื้นที่ทดลองวิจัย สวนนี้จึงถูกเรียกว่า สวนสองแสน ตั้งแต่นั้นมา

สถานีวิจัยดอยปุยเป็นส่วนหนึ่งใน 119 ไร่ของสวนสองแสน สถานีวิจัยได้กลายเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่รวบรวมสายพันธุ์สตรอเบอร์รี่ไว้มากที่สุดในประเทศไทย สายพันธุ์ที่พัฒนาสำเร็จเป็นครั้งแรกคือ สายพันธุ์พระราชทาน 60 และ 80 แล้วได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อผลิตเป็นต้นกล้าให้เกษตรกร ทำให้รสชาติความอร่อยถูกเผยแพร่ไปไกลสู่เกษตรบนที่สูงหลายแห่ง 

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยดอยปุย จ.เชียงใหม่

 

สำหรับนักท่องเที่ยวมีกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สวนบวกห้า ชมแปลงสาธิตการปลูกดอกไม้และไม้เมืองหนาว เช่น แปลงสตรอเบอร์รี่ ดอกคาลล่าลิลลี่ เจียวกู้หลานต้นลูกปัดออสเตรเลีย และในบริเวณสวนสองแสนชมแปลงไม้ผลเมืองหนาว เช่น พลับ องุ่น ท้อ กาแฟ บ๊วย โดยในเดือน ต.ค. เป็นช่วงชมแปลงพลับหวานพันธุ์ฟูยู ไม้ผลรูปทรงแปลกตาที่เพิ่งตื่นจากช่วงพักตัว หลังจากนั้นช่วงเดือน พ.ย.-ก.พ. จะเป็นคราวของสตรอเบอร์รี่ และช่วงเดือน มี.ค.-มิ.ย. เป็นเวลาของรองเท้านารีและสมุนไพรเจียวกู้หลาน

หาดวนกร

อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่ตั้งของสถานีฝึกนิสิตวนศาสตร์หาดนวกร ขนาด 351 ไร่ โดยได้มีการปลูกต้นสนตลอดแนวชายหาดยาว 3 กม. และไม้ท้องถิ่นเช่น พะยอม มะค่าแต้ นนทรีป่า กันเกรา และสะแกนา พลอยให้นักท่องเที่ยวได้มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ และสามารถพักแรมในบ้านพักของสถานีวิจัยได้ ส่วนนิสิตจะได้รับการฝึกและเรียนรู้ในภาคฤดูร้อน ศึกษาเกี่ยวกับระบบนิเวศชายฝั่ง ป่าชายหาด และพืชไม้ใหญ่ เช่นสนทะเล ไม้พุ่ม เถาวัลย์ เป็นต้น

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยปากช่อง จ.นครราชสีมา

 

ฟาร์มบางเบิด

นอกจากการท่องเที่ยวเชิงเกษตร สถานีวิจัยยังสามารถให้ความรู้ทางวัฒนธรรม ณ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร อ.บางสะพานน้อยจ.ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่รวม 452 ไร่ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ พื้นที่ในแขตบางสะพานน้อย ประกอบด้วย อนุสรณ์สถาน อาคารพิพิธภัณฑ์ และแปลงวิจัยการเกษตร อีกส่วนหนึ่งอยู่ในเขตปะทิว จ.ชุมพร เป็นแปลงเกษตร 7 ไร่ ที่คาบเกี่ยวสองจังหวัด อันเป็นที่มาของฉายา “กินชุมพร นอนประจวบฯ”

สถานีวิจัยแห่งนี้เปรียบเหมือนบ้านของนักปราชญ์แห่งการเกษตร หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เจ้าของวลีอมตะ “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง” พระองค์ทรงบุกเบิกการเกษตรแผนใหม่ที่ใช้วิทยาการทันสมัยคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น ทรงเลี้ยงไก่พันธุ์เล็กฮอร์น ปลูกแตงโมบางเบิด และทรงนำปาล์มน้ำมันเข้ามาปลูกในไทย ซึ่งต่อมาได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้ปรับตัวและเติบโตในไทยได้ ให้ผลผลิตระยะยาว และกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของชาวบางสะพานน้อย

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ จ.นครราชสีมา

 

สำหรับนักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมแปลงปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอรา แปลงยางพารา แปลงพืชสมุนไพร และพืชพลังงาน เช่น มะขามป้อม มะรุม โกโก้ ถั่วกัวร์ หยีทะเลส่วนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ให้เข้าไปศึกษาในพิพิธภัณฑ์หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรและไปชมปาล์มน้ำมันต้นแรกที่พระองค์ทรงปลูกเมื่อปี 2460 ซึ่งนับเป็นต้นปาล์มที่อายุมากที่สุดในประเทศไทย

สถานีวิจัย 18 แห่ง มีอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ที่ไม่ได้กล่าวถึงมีอยู่ใน จ.ลำปาง ลพบุรี สระบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด สมุทรสงคราม ระนอง และพังงา ครั้นจะเล่าทั้งหมดคงต้องมีกระดาษร้อยหน้า ทว่าที่เลือกมาดังกล่าวก็ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่นักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้จริง

ไปเรียนรู้วิถีเกษตรและนิเวศธรรมชาติทั้งไปปิกนิกบนชายหาดได้เรียนรู้เรื่องสน ไปสัมผัสความหนาวบนดอยได้เรียนเรื่องพลับ หรือขับรถไปปากช่องได้ศึกษาเรื่องข้าวโพด ซึ่งเป็นเทรนด์เกษตรที่คนในเมืองกำลังสนใจและโหยหาอยากกลับไปใช้ชีวิตนอกเมือง

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยทับกวาง จ.นครราชสีมา

 

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยสิทธิพรกฤดากร จ.ประจวบคีรีขันธ์

 

เปลี่ยนเรื่อง ‘เครียด’ ให้เป็นเรื่อง ‘เที่ยว’ สถานีวิจัยวนศาสตร์พังงา