posttoday

"ถนนรัชดาภิเษก"ด้วยพระปรีชาแก้ปัญหาจราจร

08 พฤศจิกายน 2559

"ที่มาของถนนรัชดาภิเษก" จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

"ที่มาของถนนรัชดาภิเษก" จากพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เอาพระราชหฤทัยใส่ในทุกข์สุขของปวงประชาชนชาวไทยเป็นอันดับต้นๆ เสมอ อย่างในวาระพระราชพิธีรัชดาภิเษก พระราชพิธีซึ่งจัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปี ในปี 2514 รัฐบาลในสมัยนั้นกำหนดว่าจะสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวาย แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำรัสว่า

“ขอเถิด อนุสาวรีย์อย่าเพิ่งสร้าง สร้างถนนดีกว่า สร้างถนนเรียกว่าวงแหวน เพราะมันเป็นความฝัน เป็นความฝันมาตั้งนานแล้ว เกือบ 40 ปี อยากสร้างถนนวงแหวน...”

พระราชดำรัสที่ พ.ต.ต.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เล่าว่า รัฐบาลสมัยนั้นกราบบังคมทูลว่า จะขอสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ถวายแด่พระองค์ แต่พระองค์ทรงรับสั่งตอบดังว่า นั่นจึงเป็นที่มาของถนนรัชดาภิเษก ที่เป็นวงแหวนเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย รองรับปัญหาการจราจรด้านในของกรุงเทพมหานครทั้งหมด

ทั้งนี้ ในวันที่ 8 มิถุนายน 2514 พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างถนนรัชดาภิเษก ณ บริเวณเชิงสะพานกรุงเทพตัดกับถนนเจริญกรุง โดยถนนรัชดาภิเษกเริ่มเปิดใช้งานใน พ.ศ. 2519

ถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนวงแหวนรอบในของกรุงเทพฯ ความยาวกว่า 45 กิโลเมตร เริ่มจากสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่ ผ่านสะพานกรุงเทพ ตัดผ่านถนนพระราม 3 ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนพระราม 9 ถนนลาดพร้าว-วิภาวดีรังสิต ถนนประชาชื่น ข้ามสะพานพระราม 7 เข้าเขตบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แล้วรวมกับถนนจรัญสนิทวงศ์ บรรจบที่แยกท่าพระ

"ถนนรัชดาภิเษก"ด้วยพระปรีชาแก้ปัญหาจราจร

ถนนรัชดาภิเษกเป็นถนนที่สร้างขึ้นตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ-ธนบุรีเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2514 โดยมีพระราชประสงค์ให้สร้างถนนเพิ่มขึ้นเป็นถนนวงแหวนเพื่อพระราชทานเป็นของขวัญแก่ประชาชนแทนการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีรัชดาภิเษก

ถนนวงแหวนรอบในรัชดาภิเษกนั้นไม่ได้สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด บางช่วงเป็นถนนและซอยที่มีอยู่แต่เดิม ได้แก่ ถนนวงศ์สว่าง (ช่วงสะพานพระราม 7 ถึงทางแยกวงศ์สว่าง) ซอยอโศก-ดินแดง (ช่วงทางแยกพระราม 9 ถึงทางแยกอโศก-ถนนเพชรบุรีตัดใหม่) ซอยสุขุมวิท 21 (ซอยอโศก) (ช่วงทางแยกอโศกถึงถนนเพชรบุรีตัดใหม่) ถนนนางลิ้นจี่ตอนปลายหรือถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา (ช่วงทางแยกสาธุประดิษฐ์ถึงแยกถนนนางลิ้นจี่) ถนนมไหสวรรย์ (ช่วงทางแยกถนนตกถึงทางแยกมไหสวรรย์) และถนนจรัญสนิทวงศ์ (ช่วงทางแยกท่าพระถึงสะพานพระราม 6) เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วถนนบางช่วงใช้ชื่อว่าถนนรัชดาภิเษก แต่บางช่วงยังใช้ชื่อถนนตามเดิม

นอกจากนี้ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลในการแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นอีก คือทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีเป็นทางยกระดับกว้าง 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร คร่อมและคู่ขนานไปกับถนนบรมราชชนนี จากสี่แยกอรุณอมรินทร์ถึงย่านพุทธมณฑล เพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนครที่ส่งผลต่อไปถึงถนนราชดำเนินและถนนหลานหลวงรวมทั้งฝั่งธนบุรีที่ส่งผลถึงถนนบรมราชชนนีและถนนย่านชานเมือง

โครงการทางคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนีเกิดขึ้นจากระหว่าง พ.ศ. 2534-2538 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระประชวรและเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่โรงพยาบาลศิริราชหลายครั้ง แต่ละครั้งนาน 2-3 เดือน เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ ได้ทอดพระเนตรเห็นปัญหาการจราจรที่ติดขัดครั้งละนานๆ ในบริเวณดังกล่าว จึงพระราชทานพระราชดำริหลากหลายประการเกี่ยวกับปัญหาการจราจร

รวมทั้งการสร้างทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนี จนถึงโครงการถนนวงแหวนรอบนอกตะวันตก มีเส้นทางเริ่มตั้งแต่ถนนพระราม 2 ตัดผ่านฝั่งธนบุรี เข้าสู่จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี ไปสิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญชื่อ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระองค์ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539 มาเป็นชื่อเรียกถนนสายนี้ และสะพานที่เชื่อมต่อทั้งสองฝั่งให้เดินทางถึงกันได้โดยสะดวก เช่น สะพานพระราม 8 และสะพานภูมิพล 1-2 เป็นต้น

ที่มา www.m2fnews.com

"ถนนรัชดาภิเษก"ด้วยพระปรีชาแก้ปัญหาจราจร