posttoday

พนง.รับเหมาช่วงบ.ผู้ผลิตน้ำมันถ้าถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยตามสิทธิ

12 กรกฎาคม 2559

กรมสวัสดิการฯ เผย พนักงานรับเหมาช่วงบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ที่ไปร้องนายกฯ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในความดูแลของบริษัทต้นสังกัดยังไม่เลิกจ้าง มีเฉพาะบางส่วนที่เลิกจ้างได้จ่ายเงินชดเชยตามสิทธิแล้ว

กรมสวัสดิการฯ เผย พนักงานรับเหมาช่วงบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ ที่ไปร้องนายกฯ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในความดูแลของบริษัทต้นสังกัดยังไม่เลิกจ้าง มีเฉพาะบางส่วนที่เลิกจ้างได้จ่ายเงินชดเชยตามสิทธิแล้ว

เมื่อวันที่ 12ก.ค. นายสุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่พนักงานแรงงานบริษัท ISS support service ซึ่งรับเหมาช่วงพนักงานจากบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติชั้นนำในประเทศไทย ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อนายกรัฐมนตรี หลังจากที่บริษัทดังกล่าวกำลังจะหมดสัญญากับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันฯ.สิ้นเดือนนี้ โดยพนักงานกลุ่มดังกล่าวระบุว่าทางบริษัทต้นสังกัดไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแก่พนักงานบางส่วน ว่า จากที่ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่2 ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ตั้งบริษัท ISS รายงานทราบว่าพนักงานของบริษัท ISS ที่ไปทำงานรับเหมาช่วงกับบริษัทผลิตน้ำมัน เป็นในส่วนของพนักงานขับรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งเมื่อจะหมดสัญญาช่วงสิ้นเดือนนี้จึงส่งพนักงานทั้งหมด 285คนกลับคืนมาให้แก่ทางบริษัทรับเหมา ISS ซึ่งในส่วนที่ส่งกลับมามีจำนวน 25คนที่ทางบริษัทต้นสังกัดไม่ประสงค์จะจ้างต่อจึงได้จ่ายเงินค่าชดเชยไปแล้วในส่วนนี้ 

นอกจากนี้มีพนักงานอีก 50คนได้ลาออกเพื่อย้ายไปทำงานเป็นพนักงานรับเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) กับบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายอื่น ส่วนพนักงานที่เหลือของบริษัท ISS อีก 210คนขณะนี้ทางบริษัทยังไม่มีการเลิกจ้างและกำลังอยู่ระหว่างประสานหางานให้ทำ ซึ่งก็ยังคงยังรับเงินเดือนตามปกติ แต่ในจำนวนนี้มี 30คนที่ทางบริษัทหางานให้ไว้แล้ว แต่ประสงค์ที่จะลาออกโดยขอให้บริษัทเลิกจ้างและขอเงินค่าชดเชย ฉะนั้นในส่วนนี้บริษัท ยังยืนยันว่า ไม่มีการเลิกจ้าง ฉะนั้นในทางกฎหมายกรมสวัสดิการฯ จึงยังไม่สามารถเข้าไปดำเนินการอะไรได้เพราะพนักงานจำนวนที่เหลือ เพราะยังถือว่าเป็นพนักงานของบริษัทดังกล่าวอยู่ จึงทำได้เพียงแต่ประสาน ชี้แจงให้นายจ้างควรทำให้พนักงานมั่นใจว่าจะมีแผนดูแลการทำงานอย่างไร รวมถึงฝ่ายลูกจ้างก็ควรปฏิบัติหน้าที่ตามที่บริษัทกำหนดก่อน เพราะยังไม่มีการเลิกจ้างอย่างใด ยกเว้นจะไม่มีการจ่ายค่าจ้างให้ ฉะนั้นจึงจะถือว่าเข้าข่ายการเลิกจ้างได้แล้ว ทางกรมฯจึงจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้