posttoday

ยก ‘วัดพระบาทน้ำพุ’ สถานชีวาภิบาลต้นแบบ รับสังคมสูงอายุ

19 เมษายน 2567

รมว.สธ. เปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 4 “วัดพระบาทน้ำพุ” ลพบุรี ให้การดูแลแบบประคับประคองกลุ่มพระสงฆ์ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมปั้นบุคลากรสงฆ์และอาสาให้มีความรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยในแต่ละชุมชน

วันนี้ (19 เมษายน 2567) ที่วัดพระบาทน้ำพุ อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ พระเทพเสนาบดี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี เจ้าอาวาสวัดกวิศรารามราชวรวิหารเป็นประธานเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบ เขตสุขภาพที่ 4 “วัดพระบาทน้ำพุ” จ.ลพบุรี พร้อมมอบเกียรติบัตรการรับรอง สถานชีวาภิบาลในชุมชนและองค์กรศาสนาและเกียรติบัตรขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการแด่พระราชวิสุทธิประชานาถ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ โดยมี พระปัญญาวิสุทธิโมลี เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี ฝ่ายธรรมยุติ เจ้าอาวาสวัดพระนางจามเทวี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 คณะผู้บริหาร ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง   ในพื้นที่ และ อสม.เข้าร่วม

ยก ‘วัดพระบาทน้ำพุ’  สถานชีวาภิบาลต้นแบบ รับสังคมสูงอายุ

 

  • สภานการณ์จังหวัดลพบุรี มีผู้ป่วยภาวะติดเตียง 1,051 คน และมีผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2,670 คน

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปัจจุบัน ประชากรสูงอายุและพระสงฆ์มีปัญหาสุขภาพด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เจ็บป่วยในระยะท้ายเพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อนนโยบาย 1 เขตสุขภาพ 1 สถานชีวาภิบาล เพื่อให้การดูแลพระสงฆ์อาพาธ ผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะท้าย ครอบคลุมทั้งสุขภาพกาย ใจ ปัญญา และสุขภาพทางสังคม โดยมีพระคิลานุปัฏฐาก และผู้ช่วยเหลือดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ผ่านการอบรม ร่วมกันดูแลสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ กิจกรรมหลักที่สำคัญ คือ การเข้าถึงยาที่จำเป็น และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสุขภาพ  รวมทั้งการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยพื้นฐานการดูแลแบบประคับประคอง จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือนและภาครัฐได้ 

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า จังหวัดลพบุรี เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ มีประชากรสูงอายุ 21.10% เป็นผู้ที่มีภาวะติดเตียง 1,051 คน และมีผู้ป่วยระยะสุดท้าย 2,670 คน ในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบดูแลแบบประคับประคอง 1,921 คน หรือประมาณ 71% ได้พัฒนาต่อยอด "วัดพระบาทน้ำพุ" ให้เป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 4 เนื่องจากมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะประคับประคองมายาวนานถึง 31 ปี โดยใช้อาคารวลัยลักษณ์ ซึ่งเดิมเป็นสถานที่รักษาและพักฟื้นผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยโรคเอดส์ มาปรับปรุงเป็นสถานพักฟื้นให้กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวม 32 เตียง ประกอบด้วย 3 ห้องใหญ่ คือ ห้องหญิง 10 เตียง ห้องชาย 10 เตียง  พระสงฆ์ 10 เตียง และ 2 ห้องเล็ก คือ ห้อง End of life 2 เตียง ภายใต้การขับเคลื่อนแบบบูรณาการของเขตสุขภาพที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 

ยก ‘วัดพระบาทน้ำพุ’  สถานชีวาภิบาลต้นแบบ รับสังคมสูงอายุ

 

  • ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ วัดพระบาทน้ำพุได้รับเงินสนับสนุนจาก สปสช.

นพ.ชลน่านกล่าวเพิ่มเติมว่า การได้รับการรับรองเป็นสถานชีวาภิบาลที่วัดพระบาทน้ำพุ ถือเป็นแห่งแรกที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้มีงบประมาณในการดูแลเข้ามาจัดการ  

สำหรับขอบเขตการให้บริการสามารถส่งต่อจากทุกที่ มีอาคารรับดูแลแบ่งเป็นส่วนชายและหญิง ฝั่งละ 10 เตียง มีผู้ดูแลหรือ Care giver ที่ผ่านการอบรม และมี Care manager จากโรงพยาบาล และมีระบบ Telemedicine ที่สามารถปรึกษากับแพทย์ตลอดเวลาโดยเชื่อมโยงกับระบบของโรงพยาบาลสมเด็จพระนารายณ์ จ.ลพบุรี

ผู้ป่วยทุกสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสามารถใช้บริการตรงนี้ได้ สำหรับเขตบริการสุขภาพที่ 4 จะมีการยกระดับนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ภายในเดือน มิ.ย. นี้ซึ่งจะเชื่อมโยงเครือข่ายและทำให้คนที่มีสิทธิสามารถเข้าใช้บริการได้

สำหรับในเรื่องมาตรฐาน นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า การขึ้นทะเบียนหมายถึงต้องมีมาตรฐาน ไม่ว่ายา อุปกรณ์ เครื่องมือ ซึ่งจะมีงบประมาณจากสปสช. เพื่อแบ่งเบาภาระด้วย สุดท้ายการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ต้องดูแลควบคู่ทั้งกาย และมิติทางจิตใจ จึงเร่งที่จะขยายไปในเขตอื่นต่อไป

ยก ‘วัดพระบาทน้ำพุ’  สถานชีวาภิบาลต้นแบบ รับสังคมสูงอายุ ​​​​​​​

  • ต้นแบบ วัดดูแลผู้สูงอายุในชุมชน

ด้านพระราชวิสุทธิประชานาถ เจ้าอาวาสวัดพระบาทน้ำพุ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันประวัติศาสตร์ของวัด จากเมื่อ 31 ปีที่แล้ว ทางวัดได้เปิดต้อนรับผู้ป่วยเอดส์เข้ามารักษา แม้ตอนแรกชาวบ้านในพื้นที่จะไม่เข้าใจแต่ท้ายที่สุดก็ยอมรับ และได้ใช้วิธีการดูแลแบบบูรณาการร่วมกันกับทางวัด อสม.และชุมชนมาโดยตลอด

แต่เดิมเคยคิดเรื่องการดูแลผู้สูงอายุไว้ เพราะมองว่าผู้สูงอายุจะไม่มีลูกหลานมากขึ้น อาจถูกทอดทิ้งหรือได้รับการดูแลอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง รวมถึงปัจจุบันคนไม่อยากมีลูก ประชากรจึงลดน้อยลงไปเรื่อยๆ 

ประเทศไทยยังโชคดีที่มีการดูแลจากระบบของกระทรวงสาธารณสุข และมองว่าการที่ นพ.ชลน่าน เริ่มต้นทำนโยบายดังกล่าวเหมือนการจุดไม้ขีดก้านแรก ในการแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ การจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกจากระบบสาธารณสุขอย่างเดียวไม่เพียงพอ การมีสถานที่อย่างวัดที่สามารถช่วยเหลือด้านนี้ได้จะเป็นสิ่งที่แบ่งเบาและเป็นหน่วยสนับสนุนได้ด้วย ที่สำคัญคือ เชื่อว่าวัดพระบาทน้ำพุจะเป็นต้นแบบของการฝึกบุคลากร เพื่อที่จะดูแลผู้สูงอายุ แม้แต่พระที่มาฝึกเองก็สามารถกลับไปเป็นผู้ที่ดูแลชาวบ้านและให้ความรู้แก่ชาวบ้านต่อในทุกชุมชนได้เช่นกัน