posttoday

พม.จับมือ มหิดล พัฒนา 'ดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย'

18 เมษายน 2567

กระทรวง พม. จับมือ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาหลักสูตรดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย ชี้ประเทศไทยเผชิญวิกฤตปัญหาสุขภาพจิต จึงจำเป็นต้องสร้างเสริมป้องกัน “ระบบสุขภาวะทางจิต” ด้วยการใช้ดนตรีบำบัด นำร่องที่แรกในโรงเรียนผู้สูงอายุ จ.สุพรรณบุรี

วันนี้ (18 เม.ย. 67)  นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ เพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนคนทุกช่วงวัย ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล กับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมี นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ รองศาสตราจารย์ ดร.ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนพัฒนาคุณภาพและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นายณรงค์ ปรางค์เจริญ คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ร่วมลงนามเป็นพยาน ณ อาคารพิพิธภัณฑ์ดนตรีอุษาคเนย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

 

พม.จับมือ มหิดล พัฒนา 'ดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย'

 

นายอนุกูล กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตความรุนแรงและปัญหาสุขภาพจิตหลากหลายรูปแบบและมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้สำรวจข้อมูลสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตของคน 4 กลุ่ม ได้แก่ เด็กและเยาวชน คนวัยทำงาน ผู้สูงอายุ และกลุ่มคนเปราะบาง ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนา “ระบบสุขภาวะทางจิต” ที่เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วนและทุกระดับของสังคม ครอบคลุมตั้งแต่การพัฒนาทักษะสุขภาพจิตส่วนบุคคลพฤติกรรมวิถีชีวิต การเยียวยารักษา ไปจนถึงการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เป็นไปตามหลักสากลที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ตามแนวทางการสร้างเสริมป้องกันคัดกรองรักษาและฟื้นฟู ซึ่งมีลักษณะเป็นเชิงรุก

ดนตรีบำบัด (Music Therapy) นับเป็นเครื่องมือที่สำคัญและเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในทางการแพทย์ โดยใช้องค์ประกอบทางดนตรีเป็นตัวช่วยในการบำบัด สามารถช่วยฟื้นฟูได้ทั้งด้านกายภาพและจิตใจ รวมถึงช่วยพัฒนาทักษะในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

 

พม.จับมือ มหิดล พัฒนา 'ดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนทุกช่วงวัย'

 

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า วันนี้เป็นการลงนามความร่วมมือทางวิชาการเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชน คนทุกช่วงวัย ซึ่งเป็นความตั้งใจของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ดนตรีบำบัดสภาพจิตใจในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งดนตรีนั้นจะช่วยเยียวยาและทำให้กลุ่มเปราะบางสามารถมีคุณภาพชีวิตหรือมีความพร้อมที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และเตรียมนำโครงการนี้ขยายไปยังกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อที่จะให้เห็นผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง จากการใช้ดนตรีบำบัดให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและดียิ่งขึ้น

เริ่มต้นในระดับพื้นที่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 10 อำเภอ โดยใช้กลไกโรงเรียนผู้สูงอายุ และจะมีแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกระทรวง พม. และ ม.มหิดล ทั้งนี้ ม.มหิดล จะเข้าไปยังสถานดูแลผู้สูงอายุจังหวัดสุพรรณบุรีทั้ง 10 อำเภอ และหลังจากนั้นจะมีการเปิดตัวโครงการ Train the Trainner หลักสูตรฝึกอบรมการใช้ดนตรีเพื่อการพัฒนาด้านดนตรีบำบัดสำหรับประชาชนคนทุกช่วงวัย ให้กับบุคลากร เจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จำนวน 12 แห่ง และ Care giver เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจในพื้นฐานทางดนตรีบำบัด และการใช้ดนตรีในเชิงคลินิคฟื้นฟูผู้ป่วยทางระบบประสาทและสมองในเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ sensorimotor, speech and language และ cognitive จากนั้นจะขยายผลการอบรมไปยังหน่วยงานอื่นๆ ของกระทรวง พม. อีกทั้งเตรียมจัดกิจกรรม ดนตรีบำบัดฯ สำหรับการพัฒนาสุขภาวะของผู้สูงวัยในโรงเรียนผู้สูงอายุ และชมรมผู้สูงอายุ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และปทุมธานี นอกจากนี้ กระทรวง พม. มีแผนขยายออกไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่ง ม.มหิดล จะมีส่วนร่วมผลักดันและสนับสนุนในการที่จะเข้าไปดูสุขภาวะของทุกคน

 

ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง กล่าวว่า ขอขอบคุณกระทรวง พม. ที่ให้ความไว้วางใจมหาวิทยาลัยมหิดลในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ โดยการนำดนตรีไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคม ซึ่งดนตรีนั้นมีคุณูปการมากมายในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เด็กที่อยู่ในครรภ์มีความเจริญเติบโตค่อนข้างดี ซึ่งพอเด็กโตขึ้นมาก็จะช่วยเรื่องวินัยและการควบคุมอารมณ์ สามารถเข้าสู่สังคมได้ดีขึ้น และดนตรียังช่วยในเรื่องสันทนาการ การปลูกเล้ากิจกรรมต่างๆ แม้แต่ทางกองทัพก็ยังใช้ดนตรีในการสร้างความฮึกเหิม เป็นต้น แม้กระทั่งผู้สูงอายุในขณะนี้ การใช้ดนตรีบำบัดสามารถช่วยชะลอความทรงจำ ช่วยเรื่องการออกกำลังกายโดยการใช้กำลังเปล่งเสียง การฝึกลมหายใจ และช่วยเรื่องสมอง หรือแม้กระทั่งการรักษาโรคความจำเสื่อม ซึ่งต้องขอขอบคุณกระทรวง พม. ที่จะนำความรู้เหล่านี้ไปขยายผลให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางต่อไป