posttoday

‘สุรการ ศิริโมทย์’ ซีเอฟโอ WORK

09 กันยายน 2560

"สุรการ ศิริโมทย์" วัย 39 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารการเงินการลงทุน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK)

โดย ทีมข่าวหุ้น-ตลาดทุน/วิศิษฐ์ แถมเงิน

"สุรการ ศิริโมทย์" วัย 39 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารการเงินการลงทุน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) ผู้ประกอบรายการทีวีดิจิทัลที่ผลิตรายการจนมีหลายรายการครองเรตติ้งอันดับต้นๆ ของประเทศ ล่าสุดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) แซงหน้ายักษ์ใหญ่ของวงการโทรทัศน์อย่าง บริษัท บีอีซี เวิลด์ (BEC) หรือช่อง 3 กลายเป็นใหญ่ที่สุดแทนเจ้าพ่อเรตติ้งอันดับหนึ่งของไทย โดยมีเขาอยู่เบื้องหลังดูแลงานด้านการเงินขององค์กร

สุรการเป็นเด็กหัวดี ช่วงเรียนระดับมัธยมปีที่ 4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สามารถสอบเทียบ ม.6 ได้จึงเลือกเอนทรานซ์เข้าติดที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (เอสไอไอที) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขาชื่นชอบเรียนคณะนี้เพราะเกี่ยวข้องกับตัวเลขและการคำนวณ ผนวกกับเป็นการเรียนภาคภาษาอังกฤษซึ่งยุคนั้นค่อนข้างได้รับความนิยมมากเพราะเป็นยุคที่ในทุกมหาวิทยาลัยทยอยเปิดการเรียนการสอนภาคภาษาอังกฤษ เป็นโอกาสดีเพราะได้เรียนในคณะที่ชอบและยังได้ภาษาอังกฤษไปด้วยพร้อมกันและยังได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยก่อนเพื่อนๆ ในรุ่นที่เรียนมัธยมรุ่นเดียวกัน

ประมาณปี 2540-2541 ที่จบปริญญาตรีเป็นช่วงจังหวะที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท วิทยาลัยบริหารการจัดการ ภาคภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยมหิดล ประมาณปี 2542-2543 ในช่วงที่เรียนปริญญาโทที่มหิดลได้ค้นพบว่ามีความชอบวิชาด้านบัญชีและการเงินอย่างมาก

หลังจากเรียนจบจึงตัดสินใจบินไปเรียนต่อปริญญาโท วิชาเอกด้านการเงินที่ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟราน ซิสโก ที่สหรัฐ สาขาวิเคราะห์ธุรกิจและการเงิน (MSBA-Finance) และจบกลับมาไทยในปี 2546 จึงสมัครงานไปทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งได้รับเลือกเข้าทำงานหลายด้านทั้งงานผู้จัดการกองทุน งานฝ่ายวิเคราะห์ งานวาณิชธนกิจ

เริ่มทำงานที่แรกในสายงานวาณิชธนกิจที่บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาตนานประมาณ 6 ปี กับ "สุวภา เจริญยิ่ง" กรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจวาณิชธนกิจ (ไอบี)

ในช่วงที่ทำงานไอบีที่ บล.ธนชาต เป็นยุคที่เศรษฐกิจค่อนข้างเติบโตดีทำให้มีโอกาสได้ทำงานที่ปรึกษาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (ไอพีโอ) จำนวนหลายธุรกรรมจากนั้นย้ายงานมาทำที่ บริษัท บูทิค แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ ที่ดำเนินธุรกิจด้านการบริหารโรงแรมและรีเทลมอลล์ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี จากนั้นได้เข้ามาร่วมงานกับ WORK ครั้งแรกเป็นช่วงสั้น เป็นผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ครรชิต ควะชาติ ก่อนจะ ลาออกกลับไปทำงานไอบีที่ บล.ธนชาตเป็นรอบที่ 2

ก่อนที่จะได้กลับมาทำงานที่ WORK เป็นรอบที่ 2 สาเหตุเกิดจากที่ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน คือ คุณ "ครรชิต" ลาออกจึงได้รับโอกาสชักชวนให้ กลับมาทำงานที่เวิร์คพอยท์อีกครั้งจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น อีกเหตุผลที่ตัดสินใจมา WORK ในช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ทีวีดิจิทัลกำลังจะเปิดประมูลใน 1-2 ปีข้างหน้า จึงมองว่าเป็นโอกาสการทำงานที่ท้าทาย สนุกในการทำงาน และจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกของบริษัทด้วย ขณะที่ส่วนตัวชื่นชอบติดตาม ผลงานเป็นแฟนคลับผลงานหนังสือของผู้ก่อตั้ง WORK คือ ประภาส ชลศรานนท์ และปัญญา นิรันดร์กุล ที่มีผลงานพิธีกรและการแสดง มาเป็นทุนเดิมตั้งแต่สมัยเรียน ก่อนที่จะรู้จัก WORK เมื่อได้เข้ามาร่วมงานยิ่งทำให้เคมีการทำงานที่ตรงกัน

ดังนั้นจึงเป็นที่ทำงานที่ตั้งใจว่าจะทำไปจนเกษียณการทำงานเพราะสัมผัสว่าวัฒนธรรมองค์กร WORK เหมาะสมกับตัวเอง คือรุ่นพี่หรือผู้ใหญ่ เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นและพร้อมให้โอกาสในการลงมือทำ

สำหรับการทำงานด้านไอบี มีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์ การทำงานอย่างมากเพราะได้พบร่วมงานกับลูกค้าหลากหลายธุรกิจในการทำธุรกรรมต่างๆ อาทิ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง มีเดีย จึงได้ ความรู้ที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของธุรกิจ เช่น การทำโปรเจกชั่นทางการเงินหรือทางบัญชี ความรู้เรื่องภาษีรวมถึงการปรับโครงสร้างธุรกิจ

"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากงานสายไอบี มีข้อดีเป็นการฝึกระเบียบวินัยได้ทำงานภายใต้ความกดดัน เพราะงานไอบีจะมีลักษณะคือ ต้องการคุณภาพที่สูง และมีเวลาในการทำงานที่จำกัดเพราะ ทุกอย่างเป็นธุรกรรมที่เราบอกกับลูกค้าไว้ว่าผลลัพธ์ของงานจะออกมาตามแบบที่บอกลูกค้าไว้ เช่น การทำไอพีโอต้องช่วยลูกค้าเตรียมตัวให้ผ่านเกณฑ์ต่างๆ ให้ได้เพื่อให้เข้าจดทะเบียนได้ ทำให้การทำตัวเลขต้องละเอียดและต้องแม่นในเรื่องข้อมูลรวมถึงการ เตรียมทำข้อมูลรายการเสนอขาย (ไฟลิ่ง) ที่ต้องเขียนให้คนอ่านเข้าใจ"

ช่วงที่ทำงานที่ บริษัท บูทิค แอสเซ็ท แมเนจเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัท ที่เกิดจากการร่วมทุนของไทยกับบริษัทขนาดใหญ่ ในสิงคโปร์และมีกองทุน ของกลุ่มเลห์แมนบราเธอร์ส จึงได้ เรียนรู้การทำงานในแบบสากล รวมถึงการทำสัญญาร่วมทุนกับบริษัท ต่างชาติที่มีความซับซ้อนสูงมาก อีกทั้งได้ เรียนรู้งานด้านการพิจารณารวมถึงเจรจาต่อรองเงินกู้สินเชื่อสถาบันการเงินที่การทำงานไอบีไม่ได้เรียนรู้งานส่วนนี้มากนักหรือเกือบครอบคลุมของศาสตร์ความรู้ด้าน "คอร์ปอเรตไฟแนนซ์"

ปรัชญาการทำงานที่ใช้คือ "ต้องทำงานทุกงานให้สุด" หาแนวทางคิดว่าออกมาการทำงานให้สุดต้อง เป็นรูปแบบไหนเพื่อทำให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ แม้การทำงานมีโอกาสทั้งประสบความสำเร็จ หรือไม่ประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเราทำไม่สุดและไม่ประสบความสำเร็จจะเกิดความความค้างคาใจซึ่งเมื่อผ่านไปแล้วจะไม่สามารถกลับไปแก้ไขอดีตได้อีก

เขามักสอนน้องในทีมว่า การทำงานหนักเหนื่อยชั่วคราว เพราะทุกงานจะมีกำหนดการในการส่ง ดังนั้นการทำงานจะเหนื่อยเฉพาะช่วงก่อนกำหนดส่งงาน เมื่อทำสุดแล้ว แต่ถ้างานไม่ประสบความสำเร็จจะทำให้ไม่มีอะไรติดค้างคาใจ และอย่ากลัวการทำงานใหม่ที่ไม่เคยทำ พร้อมให้เปิดใจเรียนรู้งานใหม่ กล้าถามในสิ่งที่ไม่รู้ อย่าอายการผิดพลาดในการทำงานเพราะเป็นการเรียนรู้การทำงานให้ดีขึ้น