posttoday

รศ.ดร.พิภพ อุดร สร้างอีโคซิสเต็ม ดันสตาร์ทอัพเต็มสูบ

17 มิถุนายน 2560

มีโอกาสได้พบกับ รศ.ดร.พิภพ อุดร ในงานสัมมนาวิชาการเพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติ ศ.เกียรติคุณ เกษรี ณรงค์เดช

โดย...ภาดนุ ภาพ : ภัทรชัย ปรีชาพานิช

 มีโอกาสได้พบกับ รศ.ดร.พิภพ อุดร ในงานสัมมนาวิชาการเพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติ ศ.เกียรติคุณ เกษรี ณรงค์เดช อดีตนายกสภาวิชาชีพบัญชีคนแรกของประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงขอพูดคุยกับ รศ.ดร.พิภพ เกี่ยวกับโครงการปรับหลักสูตรใหม่ล่าสุด “อีโคซิสเต็ม สตาร์ทอัพ” ที่กำลังเริ่มต้นทำ รับรองว่าน่าสนใจแน่นอน

 หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School หรือ TBS) มาหมาดๆ รศ.ดร.พิภพ ก็ประกาศเดินหน้าเต็มตัวกับการสร้างอีโคซิสเต็มเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพหรือนักธุรกิจรุ่นใหม่ เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร? ไปฟังกันเลย

 “ในปี 2561 ที่จะถึงนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรมศาสตร์ ได้ปรับทิศทางครั้งใหญ่ โดยดันสตาร์ทอัพรุ่นใหม่แบบเต็มที่ ดังนั้นคณะจึงทั้งรื้อหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน การสร้างพันธมิตร และการปรับระบบนิเวศหรืออีโคซิสเต็ม โดยหวังจะเห็นผลแบบเป็นรูปธรรมได้ภายใน 2 ปี ซึ่งแต่เดิมหลักสูตรบริหารธุรกิจของเราจะผลิตคนให้จบออกไปทำงานบริษัทเป็นหลัก แต่คนในยุคปัจจุบันนี้คือ เจนฯ วาย (ตอนปลาย) หรือเจนฯ แซด ซึ่งพวกเขามีแนวโน้มที่จะเรียนจบออกไปแล้วเป็นผู้ประกอบการซะเยอะ

 “ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ที่ต้องการจะสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่หรือสตาร์ทอัพยุค 4.0 ที่ต้องมี Design & Innovation นั่นก็คือ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีความเก๋ไก๋ เพื่อไปสู่การทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งหลักของการเป็นสตาร์ทอัพในยุคใหม่นี้นั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีเงินทุนเยอะ หรือไม่จำเป็นว่าต้องทำสินค้าแบรนด์เนมมาก่อน ทุกคนก็สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ ถ้าดีไซน์สินค้าของคุณเก๋จริง หรือมีนวัตกรรมที่ทำให้คนเห็นแล้วรู้สึก ว้าว! ได้ รับรองว่าคุณก็เป็นสตาร์ทอัพได้”

 รศ.ดร.พิภพ บอกว่า ตั้งใจจะผลักดันหลักสูตรใหม่นี้ ให้เป็นหลักสูตรประจำของคณะพาณิชย์ฯ แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคณาจารย์ในคณะด้วย แม้เมื่อก่อนอาจจะมีการสอนนักศึกษากันมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องหลักของคณะ เมื่อตนเองได้เข้ามาเป็นคณบดี จึงต้องการผลักดันหลักสูตรนี้ให้เป็นเรื่องหลักของคณะให้ได้

 “ขั้นแรกก็คือการปรับการเรียนการสอนให้เป็น แบบ Active Learning ที่ไม่เน้นหนักเฉพาะเรื่องความรู้อย่างในอดีต เพราะเล็งเห็นว่าความรู้เป็นเรื่องที่แสวงหากันได้จากแหล่งต่างๆ มากมายในยุคดิจิทัล จึงเน้นหนักไปในเรื่องการกระตุ้นให้นักศึกษาเกิดความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมมากกว่า โดยเน้นการเรียนเพื่อให้คิดและแก้ปัญหา ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ เน้นการทำงานแบบโครงการ และร่วมทำงานกับบริษัทพันธมิตรทางธุรกิจได้

“นอกจากนักศึกษาในคณะพาณิชย์ฯ แล้ว หลักสูตรที่เราจะเปิดนี้นักศึกษาจากคณะอื่นยังสามารถมาลงเรียนเป็นวิชาเลือกได้ด้วย โดยเราจะแบ่งเนื้อหาของหลักสูตร ครึ่งหนึ่งจะเน้นทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นนักธุรกิจสตาร์ทอัพยุคใหม่ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะให้ผู้เรียนได้ไปต่อยอดในด้านที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็น บัญชี การเงิน การตลาด การจัดการ ธุรกิจระหว่างประเทศ หรือโลจิสติกส์

 “หลักการของเราก็คือ การจะเป็นสตาร์ทอัพสมัยนี้ต้องคิดในเรื่องของนวัตกรรมเยอะหน่อย ทำยังไงจะต่างจากคนอื่น ทำยังไงจะเติมช่องว่างในตลาดได้ ทำยังไงจะนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ และทำยังไงจะระดมทุนจากแหล่งทุนที่ไม่ใช่ธนาคารเสมอไป ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้คือรูปแบบโมเดิร์นธุรกิจยุคใหม่ที่มันไม่เหมือนเดิม เพราะยุคนี้มันมีระบบ Crowdfunding ซึ่งก็คือการระดมทุนจากผู้ลงทุนรายย่อย

 “สมมติว่าเราจะทำธุรกิจสักอย่างขึ้นมาซึ่งดูน่าสนใจมาก เราก็สามารถนำธุรกิจนี้ไปลงในเว็บไซต์คราวด์ฟันดิ้ง ต่างๆ ซึ่งเว็บเหล่านี้ก็จะนำผลิตภัณฑ์ของเราไปขึ้นโชว์บนเว็บ บางคนเห็นก็อาจจะสั่งซื้อล่วงหน้า บางคนก็อาจเป็นนักธุรกิจที่จะมาให้การสนับสนุนธุรกิจเหล่านี้ คราวด์ฟันดิ้งจึงกลายเป็นแหล่งทุนที่มีวงเงินให้การสนับสนุนที่ใหญ่มากๆ”

 รศ.ดร.พิภพ เสริมว่า โดยส่วนใหญ่สตาร์ทอัพยุคนี้จะมีไอเดียที่ยอดเยี่ยมมาก แต่บางรายยังอาจขาดแคลนในเรื่องทุนอยู่ พวกเขาก็จะสามารถหาแหล่งเงินทุนจากทางอื่นๆ ได้ นอกจากการไปกู้เงินธนาคารมาทำธุรกิจดังเช่นผู้ประกอบการในยุคก่อน

 “นอกจากคราวด์ฟันดิ้งแล้ว ผู้ประกอบการยังสามารถระดมทุนได้จากกลุ่ม Venture Cap หรือนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ต้องการจะเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจสตาร์ทอัพนั้นๆ ซึ่งถ้าเขาเห็นว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์น่าจะไปได้ดี เวนเจอร์ แคปเหล่านี้ก็จะนำเงินมาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้มันมีวิธีการระดมทุนหลากหลายวิธี จึงทำให้ธุรกิจเล็กๆ เกิดขึ้นมามากมายทั่วโลก

 “กลับมาที่หลักสูตรการสร้างสตาร์ทอัพที่กำลังจะเปิดสอน คาดว่าผู้ที่มาลงเรียนส่วนมากจะเป็นผู้ที่ต้องการไปตั้งบริษัทหรือมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ฉะนั้นนักศึกษารอบแรกที่คณะพาณิชย์ฯ จะรับเข้ามาเรียน ผมจะขอเรียกว่ารอบพอร์ตโฟลิโอหรือยุคตั้งต้น จึงไม่มีการสอบเข้าเรียน แต่จะให้ผู้ที่สนใจนำพอร์ตโฟลิโอของตัวเองที่เคยมีผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจที่น่าสนใจ มานำเสนอเพื่อให้เขาสามารถเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ได้

รศ.ดร.พิภพ อุดร สร้างอีโคซิสเต็ม ดันสตาร์ทอัพเต็มสูบ

 “หรือแม้แต่เด็กมัธยมที่เคยประกวดการคิดค้นผลิตภัณฑ์ มีผลงานดีเด่นที่เคยได้รับรางวัลมาก่อน ก็จะมีส่วนช่วยให้ผ่านการพิจารณาเข้าเรียนปริญญาตรีที่คณะพาณิชย์ฯ ได้ด้วย เพราะเด็กพวกนี้มีพรสวรรค์ มีความตั้งใจอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงควรนำพวกเขามาต่อยอดเพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย”

 รศ.ดร.พิภพ บอกว่า นอกจากเปิดหลักสูตรใหม่แล้ว คณะพาณิชย์ฯ ยังมีแพลนจะเปิด Co-Working ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ในการเป็นพื้นที่สำหรับให้คนที่มีไอเดียหลากหลายได้มาเจอกัน โดยจะกันพื้นที่ชั้นล่างของคณะพาณิชย์ฯ ที่ท่าพระจันทร์ 1,000 ตร.ม. แล้วแบ่งเป็น 7-8 โซน คือ มีห้องประชุมเล็ก ห้องเวิร์กช็อป ห้องแสดงผลงาน ห้องเจรจากับนักลงทุน และอื่นๆ ไว้ให้นักศึกษาและอาจารย์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกัน โดยอาจขอความร่วมมือในการระดมเงินช่วยลงทุนมาจากตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างเสร็จไม่เกินสิ้นปี 2561

 “พูดง่ายๆ คือนับจากนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถเรียนและทำงานร่วมกับคณะอื่นๆ ทั่วมหาวิทยาลัย เพราะเรามองเห็นว่าหากต้องการสร้างสตาร์ทอัพ ต้องพยายามเชื่อมศาสตร์หรือความเชี่ยวชาญหลายๆ แขนงเข้าด้วยกัน สตาร์ทอัพวันนี้ต้องบูรณาการทั้งการตลาด การเงิน การจัดการ เทคโนโลยี และศาสตร์ใหม่ๆ เช่น เรื่องบิ๊กดาต้า การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือแมชีนเลิร์นนิ่ง เข้ามาเป็นเนื้อเดียว การแยกการเรียนออกเป็นแท่งๆ แบบเดิมไม่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ต้องทำให้ความรู้ทุกแขนงไปเชื่อมต่อกันให้ได้ คณะจึงได้เริ่มโครงการที่มีการเรียนร่วมกับคณะอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ แล้วในอนาคตก็จะขยายไปสู่คณะอื่นๆ ด้วย

 “มีการเชื่อมต่อกับคณะอื่นๆ แล้ว คณะพาณิชย์ฯ ยังเดินหน้าเชื่อมต่อกับพันธมิตรธุรกิจตามโครงการ “80 ปี 80 พันธมิตร” ของคณะที่เฟ้นหาพันธมิตรทางธุรกิจจำนวน 80 ราย ในโอกาสที่คณะก้าวเข้าสู่ปีที่ 80 ซึ่งพันธมิตรเหล่านี้ก็มีทั้งภาครัฐและหน่วยงานอิสระที่จะเข้ามาร่วมในการเรียนการสอน การแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการร่วมออกแบบหลักสูตรด้วยกัน เพื่อผลักดันนักศึกษาให้พร้อมสำหรับโลกการทำงานจริง และพร้อมที่จะร่วมเป็นหุ้นส่วนกับพันธมิตรเหล่านี้หากมีโครงการดีๆ ที่โดนใจ

 “นอกจากพันธมิตรในประเทศ คณะยังได้สร้างเครือข่ายกับต่างประเทศในการปั้นสตาร์ทอัพเพื่อให้ พร้อมหาโอกาสในตลาดโลก ล่าสุดคณะได้ร่วมกับ University of Applied Sciences and Arts Northwestern Switzerland FHNW จัดทำโครงการ Swiss Innovation Challenge โดยจะคัดเลือกผู้สนใจเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ทอัพให้เข้ามาร่วมโครงการ โดยจะมีคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้อย่างเข้มข้นตลอด 9 เดือน แถมยังมีโอกาสได้เงินรางวัลและได้ไปดูงานที่สวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย

“ซึ่งโครงการนี้จัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้สตาร์ทอัพไทยแจ้งเกิดให้ได้ จากการช่วยกันสร้างโมเดลทางธุรกิจ การโค้ช การสร้างเครือข่าย การเข้าถึงเงินทุน และการสร้างชุมชนของสตาร์ทอัพ นอกจากเวทีนี้ คณะยังได้จัดเวทีที่เรียกว่า Innovbiz ที่จัดการประกวดความคิดนวัตกรรมเพื่อต่อยอดไปสู่สตาร์ทอัพเป็นประจำทุกปีกับนักศึกษาชั้นปี 3-4 ซึ่งเป็นการทำงานข้ามคณะในมหาวิทยาลัย ทำให้ได้ไอเดียดีๆ จากนักศึกษาที่สามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจจริงได้

“เรียกว่าบทบาทของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะเปลี่ยนไป เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ศาสตร์หลายศาสตร์กำลังจะกลายเป็นเรื่องพ้นสมัย ในขณะที่ศาสตร์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ ดังนั้นหลายๆ ศาสตร์จึงต้องหลอมรวมกันเพื่อสนองตอบโลกที่เปลี่ยนแปลง ผมเชื่อว่าผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงนี้จะปรากฏเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี นับจากนี้ เราจะได้เห็นสตาร์ทอัพไทยที่เป็นผลผลิตของคณะออกไปสร้างปรากฏการณ์ที่น่าตื่นเต้นในสังคมและตลาดโลกแน่นอน”

 รศ.ดร.พิภพ ทิ้งท้ายว่า เพราะเป้าหมายของการเปิดหลักสูตรสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของคณะพาณิชย์ฯ ไม่ได้แค่ต้องการผลิตแค่บัณฑิตเท่านั้น แต่มีเป้าหมายใหญ่คือการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ สังคม และสร้างโลกให้ดียิ่งขึ้น

 “ผมจะยึดคีย์เวิร์ดสำคัญ 3 คำสำหรับในอีก 3-5 ปีข้างหน้า นั่นก็คือ 1.นวัตกรรม (Innovative) ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอน การทำกิจกรรม แฟกซิลิตี้ หรือวิชาการ ต้องมีนวัตกรรมทั้งหมด 2.สิ่งที่นำมาใช้ได้จริง (Practical) นั่นคือต้องให้เด็กมีประสบการณ์จริง ลงมือปฏิบัติในชีวิตจริงได้ และสามารถนำความรู้ไปใช้ได้จริง 3.การติดต่อ (Connected) นั่นคือ จะต้องมีพาร์ตเนอร์หรือเครือข่าย ทั้งในระดับวิชาการ รุ่นพี่รุ่นน้อง เครือข่ายนักลงทุนต่างประเทศให้ครบทุกด้าน เราจึงจะสามารถผลิตคนรุ่นใหม่เพื่อไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยได้

“ส่วนความคาดหวังในอนาคตก็คือ เราหวังว่าจะสามารถผลิตสตาร์ทอัพรุ่นใหม่เพื่อไปขับเคลื่อนสังคมและภาคส่วนต่างๆ ของประเทศและเศรษฐกิจให้ดียิ่งขึ้น และจะช่วยเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจและธุรกิจแบบ 4.0 ก้าวไปได้ สำหรับนักเรียนมัธยมและนักศึกษาที่สนใจจะเข้าร่วมเป็นสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ที่ www.tbs.tu.ac.th เลยครับ”

 “สตาร์ทอัพสมัยนี้ต้องคิดในเรื่องของนวัตกรรมเยอะหน่อย ทำยังไงจะต่างจากคนอื่น ทำยังไงจะเติมช่องว่างในตลาดได้ ทำยังไงจะนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ และทำยังไงจะระดมทุนจากแหล่งทุนที่ไม่ใช่ธนาคารเสมอไป ซึ่งวิธีคิดเหล่านี้คือรูปแบบโมเดิร์นธุรกิจยุคใหม่ที่มันไม่เหมือนเดิม”

 “เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ศาสตร์หลายศาสตร์กำลังจะกลายเป็นเรื่องพ้นสมัย ในขณะที่ศาสตร์ใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ ดังนั้นหลายๆ ศาสตร์จึงต้องหลอมรวมกันเพื่อสนองตอบโลกที่เปลี่ยนแปลง”