posttoday

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

04 กุมภาพันธ์ 2560

ในปี 2560 นี้ กระทรวงคมนาคม จะผลักดันแผนพัฒนารถไฟฟ้ามหานครทั้ง 10 สาย เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชน

โดย...ทีม@weekly

ในปี 2560 นี้ กระทรวงคมนาคม จะผลักดันแผนพัฒนารถไฟฟ้ามหานครทั้ง 10 สาย เข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเอกชน และเริ่มก่อสร้างให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ ปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างมี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ ขณะที่ ส่วนจุดเชื่อม 1 สถานี บางซื่อ-เตาปูน คาดว่าจะเปิดใช้บริการได้ในเดือน ส.ค. 2560 ช่วยให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว คาดว่าจะเปิดทดลองเดินรถเดือน มี.ค. ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต คาดว่าจะเปิดเดินรถ 1 สถานี ช่วงหมอชิต-ลาดพร้าว ได้ในช่วงกลางปี 2561

โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 23 กิโลเมตร วงเงิน 8.29 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,931 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาทั้งสองสายได้ภายในเดือน เม.ย.นี้

ขณะเดียวกัน ในปี 2561 มีโครงการรถไฟฟ้าที่จะดำเนินการอีก 2 สาย ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 1.31 แสนล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 123,354 ล้านบาท

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่อขยายของรถไฟฟ้าที่ต่างๆ เพื่อเชื่อมโยงเมืองแบบใยแมงมุม ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายเขียวใต้ สมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท และส่วนต่อขยายสีเขียวเหนือ คูคต-ลำลูกกา คลองหก วงเงิน 9,803 ล้านบาท

รวมทั้งมีโครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเชื่อมต่อกับชานเมือง ทั้งโครงการรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช มูลค่ารวม 2.66 หมื่นล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1.90 หมื่นล้านบาท และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้มช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 10 กิโลเมตร วงเงิน 7,596 ล้านบาท

แต่เมื่อมองโครงข่ายรถไฟฟ้าทั้งหมดที่จะเสร็จในปี 2568 และอีกสายสุดท้ายที่อยู่ในขั้นตอนพิจารณาอยู่ จะแล้วเสร็จในปี 2572 หากดำเนินการเสร็จอย่างสมบูรณ์ทั้งระบบ เชื่อว่าจะทำให้วิถีชีวิตคนเมืองกรุงและปริมณฑลสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และกรุงเทพฯ ก็จะได้เป็นมหานครในฝันที่การจราจรสะดวกโยธินสร้างความสุขให้กับชีวิตสมัยใหม่มากขึ้น

มาดูภาพรวมของมหานครที่จะเปลี่ยนแปรไป

กทม.ยุคใหม่ความฝันคนเมือง รถไฟฟ้าเต็มรูปแบบตอบโจทย์จริงหรือ?

ในปี 2568 โครงการรถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร สายหลัก 10 เส้นทาง เพิ่มโครงข่ายโยงการเดินทางรอบทิศของ กทม.และปริมณฑล รับผู้คนนอกเส้นทางขยายทำเลที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น  ถือเป็นแผนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัยสะดวกรวดเร็ว เพื่อหวังเปลี่ยนให้คนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดปัญหาการจราจรติดขัด

ทว่า จากสถิติปริมาณการใช้รถยนต์และซื้อรถใหม่ป้ายแดงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่ารถยนต์บนท้องถนนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 8 ล้านคัน เป็น 10 ล้านคัน สวนทางกับผิวการจราจรที่ไม่อาจขยายช่องทางได้อีกแล้ว จึงเกิดคำถามว่า แม้จะมีรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบจะสามารถเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองในฝันของใครหลายคน ถึงการเดินทางอย่างสะดวกสบายจริงหรือไม่?

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

เทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. (PTT) กล่าวว่า การมีรถไฟฟ้าครอบคลุมให้บริการในเขตกรุงเทพฯ รวมถึงการให้บริการรถไฟเส้นทางสายต่างๆ ที่เดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเสร็จครบทั้งหมดจะส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้การเดินผ่านระบบสาธารณะมากขึ้น อีกทั้งทำให้ภาพรวมการใช้พลังงานของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะเดิมการระบบขนส่งสาธารณะยังไม่สะดวกเพียงพอกับความต้องการส่งผลให้ต้องใช้การเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก

สุธน อาณากุล รองผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง มองว่า แม้ว่าการที่กรุงเทพฯ จะมีระบบรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบแล้ว แต่ยังถือว่าระบบขนส่งมวลชนยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากต้องพัฒนาโครงข่ายระบบรองเสริมเพิ่มมากขึ้นเพื่อการเดินทางที่รวดเร็ว

“เช่น เดินออกจากบ้านต้องขึ้นรถโดยสารประจำทางเพื่อต่อไปยังระบบขนส่งหลัก จากนั้นเมื่อถึงที่ทำงานต้องต่อรถโดยสารอีกครั้ง ถ้าหากการเชื่อมต่อยังไม่สะดวกสบายและรวดเร็ว เชื่อว่าระยะเวลาอีก 10  ปีข้างหน้า คนจะยังเลือกซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลต่อไปเรื่อยๆ เพราะสังเกตได้ว่าในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวรถยนต์ที่วิ่งในกรุงเทพฯ สามารถสัญจรได้ดีและรวดเร็ว ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่เส้นทางของถนนไม่เพียงพอ แต่อยู่ที่จำนวนรถยนต์ที่มากเกินจะรองรับ”

ด้านระบบขนส่งเสริมรองลงมา คือเดินทางด้วยเรือที่ กทม. เดินหน้าพัฒนาอยู่ตลอดอย่างในเส้นทางคลองลาดพร้าว สุธน บอกว่า นับได้ว่ามีภูมิศาสตร์ที่ดีเพราะเป็นเส้นทางผ่านหมู่บ้าน ชุมชน หลายแห่งหากทำได้สมบูรณ์จะช่วยเพิ่มเส้นทางสัญจรมากขึ้นอีก รวมไปถึงปรับปรุงทางจักรยานและทางเท้า ทั้งหมดจะช่วยส่งเสริมให้การสัญจรในเมืองเป็นไปอย่างสะดวก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ กทม. เคยมีแนวคิดเรื่องกำหนดข้อบังคับห้ามซื้อรถยนต์หากไม่สามารถชี้แจงได้ว่ามีที่จอดส่วนตัวตรงไหนนั้น

“ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปได้ยาก เพราะอาจมีการแอบอ้างพื้นที่ใดมาปกปิดบิดเบือนว่ามีที่จอดรถได้ ดังนั้นจึงเริ่มคิดมาตรการหลังปี 72 มีแนวคิดแก้ปัญหาการจราจร อาทิ กำหนดวันคู่-คี่ การใช้รถยนต์ ถัดมาคือในพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านอยู่แล้ว ถ้าคนจะขับรถส่วนตัวเข้ามาจะต้องเสียเงินค่าที่จอด ค่าบริการ ทำให้คนไม่อยากเสียเงินเพิ่มขึ้นก็จะลดการเลือกใช้รถยนต์แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งที่ประหยัดเวลาและประหยัดเงินมากกว่า”

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

จิรวัฒน์ นุริตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล (GGC) กล่าวว่า หลังรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ สร้างเสร็จเปิดให้บริการรูปแบบถิ่นที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน

“มองว่าการซื้อและพักอาศัยในคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าจะได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่บ้านในชานเมืองส่วนใหญ่จะใช้พักอาศัยในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่หากรถไฟฟ้าสามารถขยายการให้บริการออกไปในเขตชานเมืองด้วยจะช่วยคนที่มีที่อยู่พักอาศัยในชานเมืองสามารถนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ได้โดยไม่จำเป็นต้องพักอาศัยในกรุงเทพฯ หรือคล้ายกับการใช้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นในปัจจุบัน”

ขณะที่คนในกรุงจะหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น จิรวัฒน์ เสริมว่า ส่วนการขับรถยนต์ส่วนตัวจะมีแนวโน้มลดลงแต่อัตราค่าบริการรถแท็กซี่จะมีราคาที่สูงขึ้น ทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตคนในกรุงดีขึ้นเพราะไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่บนถนนเท่าเดิม นอกจากนี้ยังสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ดีขึ้นด้วยเพราะปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยไม่ค่อยชอบรถติดซึ่งจะเข้ามาแก้ปัญหานี้ได้ส่วนหนึ่งด้วย

สันติ โอภาสปกรณ์กิจ อุปนายกสมาคมจักรยานเพื่อสุขภาพ เปิดเผยว่า หลังจากปี 2568 ไปแล้ว กรุงเทพฯ ก็ยังเป็นเมืองที่ห่างไกลจากความฝันเรื่องการแก้ปัญหารถติด เนื่องจากรถไฟฟ้าไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ

1.ระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อถึงกันทั้งหมด

2.มาตรการบังคับให้คนใช้รถยนต์ส่วนบุคคลน้อยลง เช่น ต้องเสียค่าที่จอดรถ ค่าน้ำมันแพง รถยนต์มีราคาแพงมากขึ้น

3.ปรับพื้นที่เพื่อให้ใช้ถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพปลอดภัย

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

“กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองแห่งอนาคตได้ต้องแก้ปัญหาในเรื่องที่ควรทำอย่างจริงจัง เช่น ห้ามร้านค้าหาบเร่แผงลอยมาตั้งร้านอยู่บนทางเท้า เพราะมันไม่ใช่เสน่ห์ ไม่มีประเทศใดที่เจริญแล้วเขามองว่าเป็นเสน่ห์ แต่เขาให้ความสำคัญกับคนเดินเท้า เดินบนฟุตปาท โดยสารรถสาธารณะ ส่วนคนขับรถยนต์จะให้ความสำคัญน้อยที่สุด” สันติ กล่าวย้ำ

แนวทางแก้ปัญหาที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำ สันติ บอกว่า คือออกมาตรการกำหนดพื้นที่จอดรถให้ชัดเจนก่อนจะซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลได้ วิธีนี้แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน แต่ถ้าเริ่มออกคำสั่งลงมือทำตั้งแต่วันนี้อีก 10 ปีจะเห็นผลที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“ไม่อยากให้มองว่าเป็นเรื่องแก้ไขยากลำบาก ถ้าผู้เกี่ยวข้องมองว่าแก้ได้ยากก็จะเกิดคำถามตามมาว่า แล้วทำไมต่างประเทศเขาถึงทำได้ เพราะไม่มีประเทศที่เจริญแล้วในโลกปล่อยปละละเลยให้ตั้งแผงลอยมายาวนานขนาดนี้ ทางเดินฟุตปาทในประเทศอื่นเดินได้ด้วยดีแตกต่างจากประเทศไทย ดังนั้นมาตรวัดความเจริญทางเศรษฐกิจ ไม่ได้บอกถึงความเจริญด้านพื้นฐานของคน สิ่งที่ควรทำก็ต้องเริ่มทำเดี๋ยวนี้”

แนวโน้มที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปตามแนวระบบรางฯ

โครงข่ายรถไฟฟ้านอกจากจะช่วยให้การเดินทางของคนกรุงเทพฯ สะดวกสบายไม่ต้องมาจิตตกกับปัญหาการจราจรแล้ว ในอีกมิติหนึ่งจะส่งผลสำคัญแต่การพัฒนาเมืองเป็นอย่างมาก ดังเช่นมหานครใหญ่ของโลกเล่นมีรถไฟฟ้าเป็นตัวชี้นำในการพัฒนาด้วยกันทั้งสิ้น

มีการประเมินกันไว้ว่า เมื่อโครงข่ายรถไฟฟ้า 10 สาย เสร็จสมบูรณ์จะมีสถานีรถไฟฟ้ากระจายอยู่ทั่วทั้ง กทม.และปริมณฑล 266 สถานี ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเมืองในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไป โดยสถานีรถไฟฟ้าจะกลายเป็นศูนย์กลางของแต่ละพื้นที่ บริเวณสถานีจะเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรมและพื้นที่รอบๆ จะถูกพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยในรูปแบบอาคารสูง หรือคอนโดมิเนียม

รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าจะเป็นการยกระดับกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสมัยใหม่  (Modern City) โดยจะเกิดการพัฒนาในรูปแบบ TOD หรือ Transportation Oriented Development ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนา การเดินทางคู่ไปกับพัฒนาเมืองและชุมชน

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

ความหมายของ TOD คือการนำเอาการเดินทางด้วยการขนส่งมวลชนมาเป็นแกนหลัก คือ ศูนย์การหลัก (Center of Growth) สร้างชุมชนที่มีความหนาแน่นสูง (High-Density) และสร้างชุมชนกลางใจเมือง (Center of Business District) เป็นชุมชนที่มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี (Environmental Friendly) มาผสมเข้าด้วยกัน

“สำหรับในกรุงเทพฯ กำลังจะมีการพัฒนาในรูปแบบ TOD อยู่ที่ ‘สถานีบางซื่อ’ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ และจะพัฒนาเป็นเมืองในรูปแบบ New Town In Town และ New Town ในบริเวณปลายสถานี เพราะที่ดินในเมืองจะมีราคาแพงขึ้นจนคนชั้นกลางอยู่ไม่ได้” รศ.มานพ กล่าว

ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า เทรนด์อีก 10 ปีข้างหน้า ที่อยู่อาศัยจะพัฒนาไปตามระบบราง โดยหากวิเคราะห์ระบบรางที่ให้บริการในปัจจุบันและอนาคต สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักที่เป็นบทสะท้อนของเมืองในอนาคตได้ดี ได้แก่

กลุ่มที่ 1 รถไฟฟ้าสายหลัก ได้แก่ สายสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางปัจจุบัน หรือเส้นทางอนาคต จะถือว่าเป็น Back Bone Line เพราะเป็นเส้นทางที่ผ่านย่านออฟฟิศ ย่านศูนย์การค้า และสถานที่สำคัญต่างๆ ในเขตเมืองและเชื่อมต่อออกไปนอกเมือง

“รถไฟฟ้าสายนี้จะเป็นอมตะนิรันดร์กาล ไม่ใช่เฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ใช้บริการ ยังมีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวต่างชาติที่พักอาศัยตามแนวรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ก็จะใช้บริการเช่นกันทำให้มีคนแน่นตลอดทั้งวัน สะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ที่ผ่านรถไฟฟ้าเส้นทางนี้มีคนใช้ชีวิตสัญจรอยู่มหาศาล จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ราคาอสังหาฯ ตามเส้นทางนี้จะปรับขึ้น”

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

กลุ่มที่ 2 รถไฟฟ้าสายวงแหวน Ring Line ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินฝั่งตะวันออก ตะวันตก บางซื่อ-หัวลำโพง ที่ขยายออกมาเป็นบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค

“จะเป็นวงกลมและจะทำให้เส้นรัชดาภิเษกเปลี่ยนไปเลย จากเดิมเคยเป็นแหล่งธุรกิจบันเทิงยามค่ำคืน เวลาผ่านไปไม่กี่ปีจากที่ดินราคาหลักแสนต่อตารางวา กลายเป็นราคาที่ดินที่จะแตะล้านแล้ว ก็จะเป็นอีกเส้นที่จะฮอตรองลงมาจากเส้น Back Bone”

กลุ่มที่ 3 เส้นฟีดเดอร์ หรือรถไฟฟ้าสายส่งผู้ใช้บริการเข้าระบบ เส้นนี้จะเป็นเส้นชานเมืองวิ่งเข้าเมือง

“เส้นทางนี้ถ้าพิจารณาจากโมเดลของรถไฟฟ้าสายสีม่วง จะเห็นเลยว่ามีความเสี่ยงที่จะขาดทุน เพราะคนใช้บริการมากเฉพาะช่วงเช้าและช่วงเย็น กลางวันมีคนใช้บริการน้อยมาก เพราะไม่ใช่จุดสำคัญที่คนต้องไป ก็จะมีลักษณะที่คล้ายกับเส้นสายสีชมพู สายสีเหลือง ขนคนจากชานเมืองเข้าเมือง กลายเป็นขนคนป้อนเข้าเส้น Back Bone เป็นหลัก จึงเป็นลักษณะของเส้นทางรถไฟฟ้าที่น่าห่วง”

ในมุมมองของคนพัฒนาเมือง ประเสริฐ ยืนยันหนักแน่นว่า การมีรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่รถไฟฟ้าเหล่านี้ก็ต้องอยู่ได้ เพื่อให้รถไฟฟ้าทั้งระบบอยู่ได้

“เพราะถ้ารถไฟฟ้ายังอยู่ได้ มีผู้ใช้บริการ คนที่อาศัยในเมืองนั้นๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งในต่างประเทศ รถไฟฟ้าที่เป็นของภาครัฐทั้งหมด ทำให้รายได้และกำไรของเส้นทางลักษณะ Back Bone มาหล่อเลี้ยงเส้นทางฟีดเดอร์”

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวรถไฟฟ้า ในอนาคตจะมีจำนวนมากขึ้นและกระจายออกไปมากขึ้น จากปัจจุบันอาจจะยังคงกระจุกตัวกันอยู่ในเมือง เพราะว่าเครือข่ายรถไฟฟ้ายังคงอยู่ในเมือง และขยับออกไปจากกลางเมืองไม่มาก

“แนวโน้มคงต้องมีชุมชนขนาดใหญ่เกิดขึ้นตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้นกว่าปัจจุบัน แต่คงต้องอาศัยเวลาให้เครือข่ายรถไฟฟ้าที่ออกไปนอกเมือง เช่น สายสีชมพู สายสีเหลือง เสร็จ เพราะเป็นเครือข่ายที่ประชาชนสามารถเดินทางเข้าออกในเมืองได้จริง ตรงนั้นก็คิดว่าชุมชนขนาดใหญ่จะเกิดขึ้น ตามแนวรถไฟฟ้านอกเมืองได้”

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

ในเชิงการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าก็ยังคงเน้นความสะดวกเป็นหลัก ชานนท์ ขยายภาพของที่อยู่อาศัยว่า ขนาดห้องต้องเหมาะสมกับการใช้งานที่เน้นการใช้ประโยชน์ในช่วงกลางคืน เพราะกลางวันใช้เวลาอยู่ที่ทำงานเป็นหลัก ส่วนระดับราคาที่อยู่บนแนวรถไฟฟ้า แน่นอนว่าสูงกว่าที่อยู่อาศัยที่ไกลจากรถไฟฟ้าและการปรับขึ้นของราคาก็จะสูงกว่าเช่นกัน

วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานธุรกิจ คอนโดมิเนียม บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า การมีรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันออกไป ในระยะสั้นที่รถไฟฟ้าเพิ่งแล้วเสร็จอาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่ต่อไปเมืองจะเปลี่ยนไป เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ปัจจุบันคนอาจจะใช้น้อย แต่อนาคตเชื่อว่าเมืองจะเติบโตไปเรื่อยๆ จากการที่เมืองขยาย และอสังหาริมทรัพย์ก็ขยายเช่นกัน

นอกจากนี้  วิทการ ยังมองว่า ในบางพื้นที่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อเมืองกับชานเมือง เช่น ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบางซื่อ อาจจะได้เห็นออฟฟิศขนาดเล็กๆ เจาะกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก ไม่ต้องเข้ามาเปิดออฟฟิศในเมือง ซึ่งพนักงานก็เดินทางไปทำงานได้สะดวกด้วยรถไฟฟ้า หรือทำเลอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่กลางเมือง แต่มีรถไฟฟ้าผ่าน จะมีความเปลี่ยนแปลงแน่นอน

“การมีรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ๆ มีผลกับราคาที่ดินอย่างเลี่ยงไม่ได้ ที่ดินหลายแปลงในเมืองจะสูงจนทำที่อยู่อาศัยอย่างเดียวไม่คุ้ม หรือไม่ก็มีราคาแพงเกินไป อาจจะกลายเป็นโครงการเชิงพาณิชย์ หรือการพัฒนาในรูปแบบผสมผสานหรือมิกซ์ยูสมากขึ้น”

ขณะที่การพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ จะกระจายออกไปเรื่อยๆ ตามรถไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้พื้นที่ในแต่ละบริเวณตามแนวรถไฟฟ้าปรับเปลี่ยนไป วิทการ ชี้ว่าโซนที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลาอันใกล้นี้ เช่น โซนสาทร-ตากสิน หรือสาทร-ท่าพระ ตรงถนนกัลปพฤกษ์

“บริเวณนี้หาโครงการแนวราบไม่มีแล้ว ต้องขึ้นเป็นแนวสูง ถ้าจะเป็นบ้านแนวราบในราคาใกล้เคียงกับแนวสูงย่านนี้ อาจจะต้องขยับไปถนนเทอดไท และต้องเข้าซอยไปค่อนข้างลึก ส่วนอีกโซนที่น่าสนใจ ก็คือแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวฝั่งสมุทรปราการ ที่กลายเป็นคอนโดมิเนียมไปเกือบหมดแล้ว แม้กระทั่งเข้าซอยแบริ่งก็เป็นคอนโดมิเนียมเช่นกัน เพราะราคาที่ดินสูงขึ้นมาก เดิมมีบ้านเดี่ยว สุขุมวิท 113 ประมาณ  4-5 ปีที่แล้ว ราคาขายราวๆ 4-5 ล้านบาท แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว ต้นทุนที่ดินที่ขึ้นมาถ้าทำเป็นบ้านก็ต้อง 10 ล้านบาท ซึ่งก็อาจจะไม่เหมาะกับกำลังซื้อย่านนี้ ถ้าจะเป็นบ้านหรู อาจจะขยับไปแถวๆ ลาซาล”

ในฝัน...กรุงเทพฯ วันที่โครงการข่ายระบบไฟฟ้าสมบูรณ์

ธุรกิจไลฟ์สไตล์สมัยใหม่เติบโตแน่นอน

เฟ-อรชุมา ดุรงค์เดช ผู้บริหารคนสวยแห่งบริษัท เอช ทู โอ ไฮโดร บริษัทผู้นำเข้าน้ำแร่ธรรมชาติระดับพรีเมียม ไอซ์แลนด์สปริง และยังควบตำแหน่งรองเอ็มดีของบริษัท มาซูม่า (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้นำด้านธุรกิจน้ำในเมืองไทยมาเกือบ 20 ปี มองว่า หากในรถไฟฟ้าบ้านเราสามารถเปิดดำเนินการได้ครบทุกสาย จะส่งผลดีต่อชีวิตคนเมืองและธุรกิจทั้งระบบ เริ่มจากในภาพเล็ก เธอมองว่า ถ้ารถไฟฟ้าสามารถครอบคลุมการเดินทางของคนเมือง จะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้บริการของรถไฟฟ้ามากขึ้น นั่นหมายความว่าปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ที่สาหัสทุกวันนี้จะทุเลาลง คุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ จะดีขึ้น อย่างน้อยก็ไม่ต้องเสียเวลาในแต่ละวันอยู่บนท้องถนน เมื่อคุณภาพชีวิตดีขึ้น ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของคนเมืองดีขึ้นตามไปด้วย

“ในแง่ของธุรกิจ ถ้ามองจากใกล้ตัว โดยเริ่มจากธุรกิจของเฟก่อน ด้วยความที่เราทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบน้ำทั้งในครัวเรือนและอุตสาหกรรม ธุรกิจของเราจึงเติบโตไปตามตลาดอสังหาริมทรัพย์ สถานพยาบาล และโรงแรม ดังนั้น เมื่อรถไฟฟ้าเกิดขึ้นที่ไหน เฟเชื่อว่าโครงการอสังหาฯ เหล่านี้ก็จะตามไป พอเขาไป นั่นหมายความว่าธุรกิจของเราก็มีโอกาสเติบโตตามไปด้วยแน่นอน ส่วนในภาพธุรกิจใหญ่กว่านั้น เฟเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่ที่มีผลถึงกันหมด เมื่อธุรกิจหนึ่งหมุนไป ธุรกิจอื่นๆ ในวงจรก็ต้องหมุนตามไปด้วย เรียกว่า รถไฟฟ้าโครงการเดียวก็กระตุ้นเศรษฐกิจในองค์รวมได้ไม่น้อย”

อาร์ม-กรกันต์ สุทธิโกเศศ นักแสดงเสียงดี เป็นที่สนใจจากการร้องเพลงภายใต้หน้ากากระฆัง ในรายการ The Mask Singer หน้ากากนักร้อง นอกจากนี้ยังมีผลงานละครเวทีนิทานหิ่งห้อย เดอะ มิวสิคัล และผู้ประกาศข่าว ช่อง 23 เวิร์คพอยท์ ในช่วงข่าวรอบวัน ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์อีกด้วย

อาร์มเป็นอีกหนึ่งคนที่เดินทางโดยรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ตั้งแต่สมัยเรียนยันทำงานก็ยังมีโอกาสได้ใช้ ซึ่งทำให้เขาได้ประสบการณ์ตรงของการคมนาคม สาธารณูปโภคของเมืองไทยอย่างแท้จริง

“คิดว่าประเทศไทยมาในทิศทางที่ดีขึ้นครับ อย่างตอนผมเรียนอยู่ตั้งแต่มัธยมฯ บ้านเดิมผมอยู่บางซื่อ ผมได้นั่งรถไฟใต้ดินไปลงสถานีเพชรบุรีประมาณ 6 ปี พอเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ลงที่สถานีสามย่าน เรียกได้ว่าชีวิตสะดวกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก มองเห็นถึงการพัฒนาได้อย่างชัดเจน คือเราก็รู้กันดีว่าบ้านเรารถติดขนาดไหน การจราจรติดขัดตลอดทั้งวันไม่เว้นแม้แต่วันเสาร์อาทิตย์ แถมบางครั้งผมว่าเสาร์อาทิตย์ติดกว่าวันธรรมดาซะอีก ซึ่งแปลกมาก การที่บ้านเรามีรถไฟฟ้าไม่ว่าจะบนดินหรือใต้ดินไว้อำนวยความสะดวกในการเดินทาง ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นมากจริงๆ พอได้รู้ข่าวว่าจะมีรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ เพิ่มขึ้นมา มันเลยสร้างความคาดหวังว่าจะมาช่วยแก้ปัญหาหลายๆ ด้านของชาว กทม. ซึ่งถ้าในอนาคตเราสามารถเชื่อมต่อได้ครอบคลุม เชื่อว่ามันจะดีขึ้นมาก”

อาร์ม บอกว่า เมื่อปีก่อนเขาตัดสินใจย้ายบ้าน อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกทำเลก็คือต้องมีรถไฟฟ้าผ่าน เพื่อจะได้สะดวกในการเข้าเมือง แต่ปรากฏว่าคุณพ่อและคนรอบตัวได้ลองใช้ยังไม่ค่อยพอใจ

“รู้สึกน่าจะปรับปรุงเรื่องราคาค่าโดยสาร ความสะดวกในการเชื่อมต่อระหว่างสายรถไฟ และเวลาในการโดยสารครับ คือมันยังไม่ตอบโจทย์ประชาชนเท่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าในอนาคตรัฐบาลน่าจะช่วยจัดการเรื่องนี้ได้ดีมากขึ้นครับ”

แปม-ศิรภัสรา สินตระการผล ศิลปินวงไกอา หรือตัวจริงของหน้ากากโพนี่ หนึ่งในหน้ากากนักร้องปริศนาคนดัง ตอนนี้กำลังมีผลงานละครยุทธการสลัดนอ ช่องเวิร์คพอยท์ ได้แสดงความเห็นที่จะมีรถไฟฟ้าทั่วถึงเมืองกรุง

“เป็นเรื่องที่ดีมากๆ และให้ประโยชน์มากๆ กับคนไทยค่ะ แปมคิดว่ารถไฟฟ้าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตคนเมืองในกรุงเทพฯ อยู่แล้ว หลายปีที่ผ่านมารถไฟฟ้าช่วยลดการจราจรบนท้องถนนได้เยอะมาก และประชาชนได้รับความสะดวกสบายที่มากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ได้มีครอบคลุมทั่วถึงมาก การที่จะมีรถไฟฟ้าหลายสายทั่วถึงทั้งเมืองมากขึ้นก็จะเป็นทำให้ประชาชนที่บ้านอยู่ไกลจากในตัวเมือง เดินทางสะดวกมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องสุขภาพจิต สุขภาพร่างกายก็จะดีขึ้นด้วย

“สำหรับแปมเองตอนนี้ขับรถเอง อาจจะมีบางทีที่เร่งรีบจริงๆ ก็จะใช้รถไฟฟ้าค่ะ ซึ่งช่วยเรื่องเวลาได้เยอะมากๆ สายที่ใช้ประจำก็จะเป็นเส้นสุขุมวิท เพราะหลักๆ จะทำงานแถวๆ นั้น ส่วนตัวคิดว่าจะดีมากถ้าเกิดมีสายรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไปรอบๆ ตัวเมือง เช่น รามคำแหง เพราะเป็นบ้านพี่สาวอีกหลังที่ต้องเดินทางไปบ่อยๆ คิดว่าถ้าอนาคตทำได้ครอบคลุมจะช่วยลดปัญหาการจราจรในเขตที่รถแออัดหรือติดมากๆ ได้ดีทีเดียว”