posttoday

‘พ่อหล่อสอนลูก’ อธิคม คุณาวุฒิ

22 พฤษภาคม 2559

หลายขวบปีที่ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way ไม่ได้ออกรวมเล่มหนังสือของเขาออกมา

โดย...เพรงเทพ ภาพ อนุชิต นิ่มตลุง

หลายขวบปีที่ อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Way ไม่ได้ออกรวมเล่มหนังสือของเขาออกมา

ในสถานการณ์ที่นิตยสารกำลังอยู่ในช่วงขาลง Way ก็ปรับสภาพเป็นนิตยสารรายหลายเดือนและเน้นหนักไปทางออนไลน์ แต่ก็ยังมีสำนักพิมพ์ WAY of BOOK ที่ออกงานรวมเล่มพ็อกเกตบุ๊กออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีนักอ่านที่จงรักภักดีในบุคลิกของหนังสือที่นี่ติดตามอย่างเกาะติด

“พ่อหล่อสอนลูก” (Papa, you’re handsome) ของ อธิคม คุณาวุฒิ ก็เป็นหนึ่งในหนังสือที่ออกมาจากสำนักพิมพ์นี้ โดยมีคำแนะนำว่าเป็นหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวระหว่างเขาและลูกสาว ผ่านมุมมองน่ารักๆ ในการเล่าเรื่องแบบให้คำสอน ข้อคิดการใช้ชีวิต และสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่พบเจอ

‘พ่อหล่อสอนลูก’ อธิคม คุณาวุฒิ

 

เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้เป็นบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสาร Way รายเดือนมาก่อนอย่างต่อเนื่องเดือนต่อเดือน อธิคม บอกว่า ชื่อหนังสือไม่ได้มีความหมายอะไรซับซ้อน เป็นการเสียดสีตัวเองและมีคนอื่นช่วยเสียดสีด้วย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าหน้าตาดี

“เป็นบทสนทนาของผู้ชายเกกมะเหรกเกเรคนหนึ่งที่ถึงเวลาต้องดูแลชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งชีวิต ทุกอย่างผ่านการปรับตัว สูญเสียลักษณะเฉพาะบางอย่างไป ชีวิตมิสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะหาจุดสมดุลของความทุกข์ความสุขได้อย่างไร เป็นอย่างนี้มากกว่า” อธิคม เล่า

เขายอมรับว่าเป็นกิเลสเฉพาะตัวที่อยากบันทึกบทสนทนาของตัวเองกับบุตรไว้

“โดยเฉพาะเป็นการสนทนาในช่วงที่เขายังไม่มีขีดความสามารถตอบโต้เรามาก อยู่ระหว่าง 5-10 ขวบ ยังเถียงไม่ค่อยเก่ง เราก็สอนอินพุตไป ก็เลยอยากบันทึกไว้ช่วงขวบปีก่อนที่เป็นเด็กพรีทีนหรือก่อนวัยรุ่น เราสอนลูกอะไรไปบ้าง ส่วนกิเลสของคนทำงานเขียนก็อยากเสนอเนื้อความคิดที่เข้าท่าบ้าง ไม่เข้าท่าบ้าง โยนไปให้ผู้อ่านและสังคมช่วยกันประเมินคุณค่า เห็นด้วยไม่เห็นด้วย เกิดการถกเถียงกัน ก็เป็นหน้าที่ปกติของคนทำงานเขียน

‘พ่อหล่อสอนลูก’ อธิคม คุณาวุฒิ

 

“คิดโครงทั้งหมดก่อนแล้ววางไว้คร่าวๆ ที่คิดไว้ในหัวก็คือ เรากำลังคุยอยู่กับเด็กที่อยู่ในช่วงอายุประมาณ 10 ขวบ เด็กที่เกิดประมาณปี 2548-2549 หรืออาจจะเป็นคนที่โตมาอยู่ในช่องอายุ 20 ปี นี่คือโครงที่คิดไว้ ที่นำมารวมเล่มแค่ 35 ชิ้น จากที่เขียนไป 50-60 ชิ้น แล้วมีการนำมาปรับปรุงขัดเกลาต้นฉบับเยอะ”

อธิคมบอกถึงเบื้องหลังการทำงานบรรณาธิการที่คนอื่นๆ มาช่วยทำหนังสือเล่มนี้ เต็มไปด้วยความเต็มใจอย่างยินดีและมีความสุขมาก

“เพราะทุกๆ คนในกองบรรณาธิการมีส่วนร่วมและมีความสุข มีน้องในกองบรรณาธิการ 3 คน มาช่วยคัดจากงานเกือบ 60 ชิ้น แล้วได้ต้นฉบับมาจำนวนหนึ่ง แล้วได้คุณวีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์ มาช่วยจัดวางเรื่องตามแบบของเขาที่สนใจในแบบวิธีการตัดต่อหนัง จากนั้นก็ส่งต้นฉบับที่ผ่านการจัดวางเรียงเรื่องแล้วให้ ทินกร หุตางกูร บก.เล่มอีกคน ซึ่งผมจับความรู้สึกได้ว่าเขาใส่ใจทำงานในเล่มนี้มากที่สุดเท่าที่ผมเคยทำงานร่วมกันมา ซึ่งไม่เอาภาษาของเขามาเป็นเกณฑ์ เนื่องจากภาษาในหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาพูด เขาพยายามรักษารสของภาษาพูดบางจังหวะเอาไว้ นี่คือส่วนของงานบรรณาธิการ ส่วนเรื่องของงานออกแบบรูปเล่มเป็นอาชีพอยู่แล้ว ก็เลยเอาหีบห่อแบบญี่ปุ่นมาห่อหุ้มสักหน่อย เชื่อว่าทุกคนมีความสุขในการทำงานหนังสือเล่มนี้”