posttoday

ภาณุเดช เกิดมะลิ ผลัดใบ-ผลักแบรนด์ ‘มูลนิธิสืบฯ’

26 กันยายน 2558

ตลอดระยะเวลาร่วม 2 ทศวรรษ บนเส้นทางนักอนุรักษ์ของบอย-ภาณุเดช เกิดมะลิ เต็มไปด้วยบททดสอบอันเข้มข้น

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน / วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร

ตลอดระยะเวลาร่วม 2 ทศวรรษ บนเส้นทางนักอนุรักษ์ของบอย-ภาณุเดช เกิดมะลิ เต็มไปด้วยบททดสอบอันเข้มข้นแม้จังหวะก้าวของชายร่างเล็กวัย 42 ปี จะไม่เป็นที่จับจ้องหรือมีสปอตไลต์สาดส่องเฉกเช่นผู้คร่ำหวอดในแวดวงสิ่งแวดล้อมรายอื่นๆ

ทว่า ด้วยความตั้งมั่นในอุดมการณ์ประกอบกับความศรัทธาต่อภารกิจที่ดำรงอยู่ ได้พิสูจน์หมดจดปราศจากข้อเคลือบแคลงใดๆ

นั่นทำให้เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงมติแต่งตั้ง “บอย-ภาณุเดช เกิดมะลิ”ให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ คนใหม่ แทนที่ ศศินเฉลิมลาภ ซึ่งขยับขึ้นเป็นประธานมูลนิธิสืบฯ

ภาณุเดช บอกกับเราว่า นี่คือการ “ผลัดใบ” ของมูลนิธิสืบฯอย่างแท้จริง

“สไตล์การทำงานของผมคงจะไม่เหมือนพี่ศศินที่บู๊และใช้ตัวของตัวเองเป็นตัวแทนของการสื่อสาร ผมคิดว่าบทบาทการแอ็กชั่นยังอยากจะให้เป็นพี่ศศินอยู่ ส่วนผมพร้อมจะอยู่เบื้องหลัง เพราะผมเหมาะกับการประสานงานมากกว่า”บอย ยอมรับด้วยท่วงท่าที่ค่อนข้างถ่อมตน

เขาบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า มีความสุข ภูมิใจ และพร้อมจะเป็นลมใต้ปีกให้อาจารย์ศศิน และมูลนิธิสืบฯ เหมือนกับที่เคยทำมาตลอด 16 ปี ในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของมูลนิธิสืบฯ

“ทิศทางของมูลนิธิสืบฯ หลังจากนี้ คือการเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ให้ทุกคนจับต้องและรู้สึกเป็นเจ้าของมูลนิธิสืบฯ ได้ร่วมกัน”

คำอธิบายเพิ่มเติมจาก “บอย” ฉายภาพความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น แน่นอนว่าสอดรับกับความเป็นจริงโดยเฉพาะพัฒนาการของสังคมและการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยจากรุ่นสู่อีกรุ่น

“ทุกวันนี้คนในมูลนิธิสืบฯ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย รุ่นแรกคือคนที่เคยทำงานอนุรักษ์ในสมัยเดียวกับคุณสืบ ร่วมรบกันมาด้วยกัน รุ่นต่อมาคือรุ่นที่ยังคาบเกี่ยวในช่วงที่คุณสืบเสียชีวิต คือยังพอทันเห็นภาพการทำงานจากข่าวต่างๆ หรือยังพอซึมซับอุดมการณ์ และรุ่นสุดท้ายคือคนรุ่นใหม่ที่หลุดออกมา”

“ปัจจุบันคนที่อยู่รุ่นนี้มีจำนวนมาก และต้องยอมรับอีกว่าขณะนี้อยู่ในยุคที่เปลี่ยนผ่านไปแล้ว คุณจะไปคาดหวังให้ทุกคนเห็นภาพคุณสืบ หรือรู้จักตัวตน รู้จักงานของคุณสืบคงไม่ได้แต่สิ่งที่เราเห็นจากการเดินรณรงค์คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ คือเด็กรุ่นใหม่ๆ มีพลัง และปรากฏการณ์เหล่านั้นสื่อให้เห็นว่าทุกคนยอมรับในความเป็นมูลนิธิสืบฯ”

“...นั่นหมายความว่าชื่อของคุณสืบมันเริ่มเลือนรางไปแล้ว คนที่จะเป็นพลังสังคมจริงๆ อาจจะเริ่มลืมเลือนตัวตนคุณสืบไปแล้ว แต่เขายังรู้จักมูลนิธิสืบฯ อยู่ รู้ว่ามูลนิธิสืบฯ เป็นหัวหอกของงานอนุรักษ์ในประเทศไทย ที่สุดแล้วเจตนารมณ์ของคุณสืบฯ ก็ยังถูกสานต่อ นั่นหมายความว่าหลังจากนี้แบรนด์จะต้องถูกปรับใหม่”

เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ป้ายแดง พูดชัดว่า จากนี้จะให้น้ำหนักกับสถาบันคือ “มูลนิธิสืบฯ” มากกว่าตัวบุคคลคือ “คุณสืบ นาคะเสถียร”

สำหรับบทบาทของมูลนิธิสืบฯ ภายใต้เลขาธิการที่ชื่อ “ภาณุเดช” นอกจากภารกิจเดิมทั้งการอนุรักษ์ การรณรงค์ รวมถึงการต่อต้านแล้ว จากนี้จะยืนอยู่ในฐานะ “ตัวกลาง” ที่จะร้อยขบวนของพลังต่างๆ ในสังคมเข้าด้วยกัน

“ยกตัวอย่างเช่น ผมเห็นว่าพลังนักศึกษายังมีอยู่ เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาอาจถูกเบนไปบ้าง หรือไม่มีเวทีหรือกิจกรรมที่จะให้เขาเล่น ที่ผ่านมาผมได้อะไรจากน้องเหล่านี้ เยอะมากนักศึกษามีความรู้เยอะมาก หลายๆ คนมีความรู้จากสิ่งที่เรียนมา เพียงแต่เขาไม่ค่อยได้มีโอกาสที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการทำกิจกรรม”

“... สิ่งที่เราต้องการคือความหลากหลาย ความหลากหลายจะมาช่วยเติม แต่ที่ผ่านมาไม่มีใครทำหน้าที่เกี่ยวร้อยพวกเขาให้เข้ามาช่วยกัน คือผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนต้องมาออกแอ็กชั่นนะ คือใครถนัดงานแบบไหนก็ให้มาช่วยเติมเต็มงานด้านนั้นๆ คือทุกคนทำคนละหน้าที่แต่มีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะทำให้งานรณรงค์มันครบถ้วน”

ภาพของมูลนิธิสืบฯ ในการรับรู้ของคนทั่วไปคือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (เอ็นจีโอ) ระดับแนวหน้าของประเทศไทย แต่น้อยคนจะรู้ว่าปัจจุบันมีบุคลากรเพียง 30 ชีวิตเท่านั้น และเมื่อเทียบเคียงกับภารกิจรวมถึงความคาดหวังจากสังคม เรียกได้ว่าแสนสาหัส

“มันค่อนข้างหนักเอาเรื่อง เราจึงต้องบอกกับสังคมว่าในบางประเด็นต้องขอจำกัดบทบาทเพียงเท่านี้ พูดกันตามตรงคือเราไม่สามารถจะส่งคนเข้าไปช่วยได้ทุกเรื่อง มูลนิธิสืบฯ ไม่ใช่คนที่จะมาพลิกฟ้าแล้วรักษาป่าให้ฟื้นขึ้นได้ แต่เราจะทำให้มันถูกทำลายช้าที่สุด เพื่อรอจังหวะและโอกาส”

สำหรับจังหวะและโอกาสที่ “บอย” พูดถึง เขา อธิบายว่าทุกคนรู้ว่าหากไม่รักษาธรรมชาติและทรัพยากร แน่นอนว่าวันใดวันหนึ่งก็ต้องหมดไป ดังนั้นเราต้องทำให้มันเสียไปอย่างช้าที่สุด หรือจนกว่าวันหนึ่งที่จะสามารถหาสิ่งที่สามารถปรับสมดุล หรือสามารถที่จะแก้ปัญหาฟื้นฟูดูแลทรัพยากรได้แล้ว

ภาณุเดช เกิดมะลิ ผลัดใบ-ผลักแบรนด์ ‘มูลนิธิสืบฯ’

 

“เราอยากที่จะรักษาไปให้ถึงวันนั้นให้ได้ คืออนุรักษ์เพื่อรอวันที่อาจจะเกิดอะไรบางอย่างขึ้น”

ในปี 2558 พันธกิจของมูลนิธิสืบฯ ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างไปจากปีก่อนๆ เท่าใดนัก ทุกวันนี้มีอยู่ 6 เรื่องสำคัญ ลูกหม้อมูลนิธิสืบฯ รายนี้ จำแนกให้ฟังว่า พันธกิจแรกคือ การสื่อสารด้านงานอนุรักษ์ เน้นการนำเรื่องราวในป่ามาประชาสัมพันธ์ให้คนในสังคมได้รับรู้ ซึ่งปัจจุบันที่ทำอยู่คือสื่อออนไลน์ การจัดกิจกรรม หรือการจัดเวที

ประการต่อมาคือ งานเชิงวิชาการ ที่จะคอยรณรงค์ เฝ้าระวัง และคัดค้าน นโยบายที่จะมีผลกระทบกับงานอนุรักษ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขื่อน ป่า เหมือง หรือสนับสนุนในพื้นที่อื่นที่ควรเก็บรักษา

พันธกิจที่สาม ได้แก่ งานชุมชนในป่า ซึ่งโครงการจอมป่าก็ได้ถูกยกให้เป็นงานยอดเยี่ยมในด้านการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาก็ทำในด้านของแนวเขตให้มีความชัดเจนเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในป่าตะวันตก หรือแม้แต่เรื่องของอาชีพที่เข้าไปหนุนเสริมให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองได้ ไม่ใช่การบังคับให้อนุรักษ์เพียงอย่างเดียว เช่นส่งเสริมการปลูกสมุนไพรอินทรีย์ส่งขาย ที่ทำให้ตัวชุมชนเองสามารถปรับวิถีชีวิตให้อยู่กับธรรมชาติได้ ไปพร้อมกับการมีผลผลิตและแหล่งรับซื้อที่ชัดเจน

สำหรับเรื่องที่สี่ คือการสนับสนุนเรื่อง ป่าชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่กันชนของป่าขนาดใหญ่ ที่ได้ดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้บริเวณโดยรอบผืนป่าตะวันตก ซึ่งต้องยอมรับว่าทางมูลนิธิสืบฯ ทำได้ในพื้นที่นี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พอจะมีกำลังและงบประมาณ

พันธกิจที่ห้า คือ กองทุนผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นงานที่สานต่อเจตนารมณ์ที่คุณสืบได้วางเอาไว้ คือการทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทั่วประเทศมีสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งก็ได้ช่วยเหลือทั้งในกรณีการบาดเจ็บรวมถึงเสียชีวิต

สุดท้ายคือ การทำให้มูลนิธิสืบฯ สามารถอยู่ได้ ในยุคที่งานพื้นที่และจำนวนเจ้าหน้าที่มากขึ้น โดยปัจจุบันทางมูลนิธิสืบฯ ยังไม่มีแหล่งทุนที่มากพอ ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วรายได้ยังคงติดลบอยู่ที่ประมาณปีละ 2 ล้านบาทแต่ยังอยู่ในประมาณการ พอที่จะลดรายจ่ายลงได้บ้าง

“แต่หากหลังจากปี 2562 ไปแล้วสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ มูลนิธิสืบฯ จะกินเงินสะสมของตัวเองไปเรื่อยๆ ซึ่งได้คำนวณไว้ว่าหลังจากปี 2562 ไปแล้วไม่เกิน 4 ปี เงินของมูลนิธิสืบฯ ก็จะหมด ดังนั้นต้องหาแนวทางการแก้ปัญหา เช่น อาจพัฒนาสินค้า หรือการระดมทุนในรูปแบบต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม จากพันธกิจทั้ง 6 ด้านของมูลนิธิสืบฯ “บอย” ยอมรับว่า คงเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายหรือสื่อสารให้กับสังคมรับทราบว่ามูลนิธิสืบฯ ทำอะไรไปแล้วหรือเกิดรูปธรรมอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งแตกต่างกับกิจกรรมรณรงค์-คัดค้าน ซึ่งจะเห็นภาพได้ชัดเจนมากกว่า

ดังนั้น สิ่งสำคัญหลังจากนี้คือการสร้างเวทีที่ให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันขยับขับเคลื่อนเรื่องของงานอนุรักษ์ ในที่นี้รวมถึงเครือข่ายเอ็นจีโอด้วยกันเองด้วย เพราะนับวันจะยิ่งอ่อนแรงลง ไม่ว่าจะด้วยสภาพของกาลเวลา เงินทุน หรือการยอมรับ รวมถึงปัญหาการเมืองที่ส่งผลเป็นอย่างมาก

“เวลาออกมาคัดค้านอะไรแล้วมักจะถูกโยงไปในเรื่องการเมืองตลอด แต่เราเองก็พยายามจะรักษาความเป็นกลางให้ได้เรามีความตั้งใจอนุรักษ์จริงไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ซึ่งสิ่งนี้จะทำให้บุคคลหรือองค์กรที่จะเข้ามาในพื้นที่กลางแห่งนี้เกิดความสบายใจว่า มูลนิธิสืบฯ ไม่ได้มีอะไรแอบแฝง”

บอย วิพากษ์ว่า หลายปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเกิดจากการที่เราคุยกันคนละภาษา เขายกตัวอย่างปัญหาเรื่อง “คนอยู่กับป่า”ซึ่งมีหลายมิติที่แตกต่างกัน นักสังคมวิทยาก็จะมองว่าชาวบ้านอยู่มาดั้งเดิม สามารถอ้างอิงได้จากวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามที่ส่งต่อกันมา นั่นทำให้พื้นที่ป่าโดยรอบไม่ได้ถูกทำลาย

ในขณะเดียวกัน นักอนุรักษ์ก็จะมองว่า ป่าผืนเดียวกันนั้นควรเป็นพื้นที่ที่สัตว์ป่าจะอยู่ ก็คิดเพียงแต่ว่าจะทำอย่างไรให้คนออกไปเพื่อให้กลายเป็นพื้นที่ของสัตว์อย่างแท้จริง ส่วนภาครัฐก็จะมองปัญหาอีกแบบหนึ่ง คือมองว่าชาวบ้านไม่เคยเป็นมิตรกับป่า ชาวบ้านเป็นผู้บุกรุก จึงใช้มาตรการแก้ปัญหาอีกรูปแบบหนึ่ง

“สิ่งที่ผมบอกว่าอยากจะให้เราพูดภาษาเดียวกันก็คือว่าถ้าเรามองว่า หนึ่ง มีคนอยู่จริง คือที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยยอมรับเพราะกฎหมายบอกว่าไม่มี ถ้ามีแสดงว่าทำงานบกพร่อง สอง พื้นที่โดยรอบก็มีสัตว์ป่าอยู่จริง ดังนั้นจะทำอย่างไรเราถึงจะจัดการทั้งหมดที่มันเป็นระบบนิเวศเดียวกัน เพียงแต่รูปแบบของการจัดการอาจต่างกันในแต่ละเรื่อง”

“...คุณจะคาดหวังอะไรที่ไม่น่าเป็นไปได้ ต้องอพยพชาวบ้านทั้งหมดออกเพื่อให้เป็นป่า 100% ถามว่าจะเอาเขาไปอยู่ที่ไหน เอาไปแล้วจะเกิดอะไรกับเขา เอางบประมาณที่ไหนผมว่าในสังคมทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าใครจะทำอะไรก็ได้ทั้งหมดคุณจะจัดการสิ่งที่อยู่ตรงนี้อย่างไรมากกว่า”

“...เพราะฉะนั้นก็จะต้องเห็นด้วยกันก่อนว่ามันมีอะไรบ้างแล้วค่อยมาคิดในแต่ละเรื่อง เราต้องแก้ปัญหาบนข้อเท็จจริงบนสภาพความเป็นจริง แน่นอนว่าขณะนี้มูลนิธิสืบฯ อาจต้องสู้ทุกระดับ เราเห็นว่ามันสามารถทำได้จริง แต่ก็ต้องมีพวกเราทุกคนช่วยเหลือด้วย”

บอย บอกกับเราอีกว่า มูลนิธิสืบฯ ทำงานอยู่กับปัญหา ต้องทำงานท่ามกลางความขัดแย้ง ฉะนั้นเราจะต้องอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ให้ได้ คือไม่มีวันใดที่ไม่มีปัญหา เพราะหากมีวันที่ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นจริงก็ไม่จำเป็นต้องมีมูลนิธิสืบฯ อีกต่อไปก็ได้ นั่นหมายความว่ากลไกทางสังคมทุกระบบสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่แล้ว ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงจะดีใจมาก

“หลังจากนี้ สิ่งที่ผมอยากทำต่อก็คือการสร้างคน น้องทุกคนต้องพัฒนาศักยภาพและพร้อมที่จะเข้ามาทำหน้าที่อย่างที่เราทำ และในเวลาหนึ่งที่เหมาะสมก็คงจะเปิดโอกาสให้คนอื่นก้าวเข้ามาแทนที่ คือมูลนิธิสืบฯ อยู่ในยุคสมัยด้วย หมายความว่าภารกิจในแต่ละช่วงจะมีความแตกต่างกันวันหนึ่งอาจจะต้องการใครเข้ามาทำอะไรสักอย่างอย่างเข้มข้นจริงจัง”

“...วันหนึ่งผมอาจต้องกลับไปดูแลครอบครัว หรือทำอะไรอย่างอื่นซึ่งก็ยังตอบไม่ได้ แต่ในขณะนี้เรากำลังมีความสุขกับมัน ผมชอบป่า มันไม่ฝืน แต่ก็ต้องหาจุดสมดุลตรงนี้ด้วยเหมือนกัน แต่ยืนยันว่าจะยังคงอยู่ในเส้นทางอนุรักษ์สายนี้ต่อไปอย่างแน่นอน”