posttoday

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ โรคซึมเศร้า บ่อเกิด ‘ฆ่าตัวตาย’

17 กันยายน 2559

องค์การอนามัยโลก คาดว่าในแต่ละปีจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือคิดเฉลี่ยเป็น

องค์การอนามัยโลก คาดว่าในแต่ละปีจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือคิดเฉลี่ยเป็น 1 คน ต่อทุก 40 วินาที สำหรับประเทศไทยนั้นมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายประมาณ 5,000 คนต่อปี  ซึ่งมากกว่าการฆ่ากันตายที่มีประมาณปีละ 3,000-3,800 รายต่อปี

พญ.สมรัก ชูวานิชวงศ์ นายกสมาคมสายใยครอบครัว และจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า คนไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า และไม่กล้าที่จะพบจิตแพทย์เพื่อรักษาอาการ จึงทำให้ประเทศไทยพบจำนวนผู้ที่มีแนวโน้มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเป็น 6 รายต่อหนึ่งแสนคนในรอบปีที่ผ่านมา

“การฆ่าตัวตายไม่ได้ส่งผลเสียต่อตัวผู้ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง เช่น ผู้ที่มีอาการโกรธ แล้วมักใช้อารมณ์รุนแรง หากโกรธตัวเองมากๆ ก็จะฆ่าตัวตาย แต่ถ้าโกรธผู้อื่นด้วยก็จะทำร้ายหรือฆ่าผู้อื่นแล้วจึงฆ่าตัวตายตาม โดยที่ร้ายแรงสุดคือกลุ่มคนเหล่านั้นยังคงเป็นห่วงคนในครอบครัวจึงตัดสินใจฆ่าคนในครอบครัวก่อนแล้วฆ่าตัวตายตาม เราจึงได้เห็นข่าวลักษณะนี้อยู่บ่อยครั้งในสังคม ดังนั้นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและช่วยกันสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับคุณค่าของชีวิต เปิดโอกาสให้มีการสื่อสารซึ่งกันและกัน จึงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น และกลายเป็นเกราะป้องกันการเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในอนาคตได้” พญ.สมรัก กล่าวเสริม

จากการศึกษาของกรมสุขภาพ เรื่องการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทย ปี 2556 ในประเทศไทยได้แสดงให้เห็นว่า อัตราการทำร้ายตนเองแต่ไม่เสียชีวิตพบมากสุดใน จ.ลำพูน และน้อยที่สุดในจ.ปัตตานี โดยผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าสัดส่วนการทำร้ายตนเองนั้นเป็นเพศชาย 78% มากกว่าเพศหญิง 22%

โดยที่จำนวนของผู้ที่ทำร้ายตนเองจนเสียชีวิตนั้นพบว่า ช่วงอายุที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมากที่สุด คือช่วงอายุ 40-44 ปี และในเพศชาย พบว่า ผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ในช่วงวัยระหว่าง 25-49 ปี
ขณะที่เพศหญิงอยู่ในช่วงอายุ 30-59 ปี

มากกว่า 60 - 90% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้าและสารเสพติด แต่มีเพียง 30% เท่านั้นที่ปรึกษาแพทย์ เพราะฉะนั้นหากเราสามารถค้นหากลุ่มเสี่ยงโดยการคัดกรองภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของคนในชุมชนได้ ก็จะสามารถนำมาเข้าสู่ระบบการรักษาร่วมกับการเข้าไปให้ความรู้เบื้องต้นแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นวิธีการป้องกันการฆ่าตัวตายที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง

“เป็นที่ทราบกันดีว่าในกลุ่มผู้ที่เคยพยายามฆ่าตัวตายนี้มักจะมีโอกาสการทำซ้ำสูงมาก และนำไปสู่การฆ่าตัวตายจนสำเร็จในที่สุดได้ ถ้าหากเราไม่สามารถให้การช่วยเหลือหรือนำเขาเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรักษาทางจิตเวช ก็จะก่อให้เกิดความสูญเสียมหาศาล” พญ.สมรัก กล่าว