posttoday

โรงเรียนเอกชน : โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยกำลังชกมวยข้ามรุ่นหรือเปล่า

20 กันยายน 2559

โดย ธีระ ภู่ตระกูล CFP®

โดย ธีระ ภู่ตระกูล CFP®

ตอนนี้เป็นช่วงปลายเดือนกันยายน และการปิดเทอมภาคฤดูร้อนถือว่าสิ้นสุดลงแล้ว หลานๆ ผมก็ได้เดินทางกลับไปโรงเรียนประจำของเขาที่อังกฤษเรียบร้อยแล้ว ลูกชายของผมเอง ก็ยังอายุน้อยไปที่จะถูกส่งไปให้อยู่ห่างไกลจากผม เพราะฉะนั้น สิ่งที่ทำได้คือ ส่งเขาไปโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ

ในอดีตและปัจจุบัน การศึกษาในต่างประเทศจะเป็นสัญญลักษณ์ทางสังคมของครอบครัว ปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐอเมริกาหรืออังกฤษจะเป็นกุญแจสำคัญในการได้รับการสัมภาษณ์เข้างาน เนื่องจากจะถือว่าคนที่ได้รับปริญญาดังกล่าวเป็นบุคคลที่เก่งและมีระดับ

อย่างไรก็ตามโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยชื่อดัง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการแข่งขันมากขึ้น ถึงแม้ว่าเพียงร้อยละ 8 ของพ่อแม่ชาวอังกฤษสามารถที่จะส่งลูกของตัวเองไปโรงเรียนเอกชนได้ (ในอังกฤษ โรงเรียนเอกชนจะเรียกว่า Public School แต่ที่อื่นๆ ในโลก จะเรียกว่า Private/Independent Schools) แต่ความต้องการจากนักเรียนต่างชาติก็เพิ่มขึ้นมาเป็นระยะ

สัญญลักษณ์ทางสังคมล่าสุดของครอบครัวที่มีฐานะ ไม่ใช่แค่มีบ้านใหญ่และหรูแค่ไหน หรือมีเรือยอชท์หรือไม่ แต่กลายเป็นส่งลูกเข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัย IVY LEAGUE อันไหน และในอีกด้านของโลก นโยบายของรัฐบาลจีนที่ให้มีลูกหนึ่งคนต่อครอบครัว ทำให้เกิดปัญหาใหม่ เพราะบางครอบครัวก็ยอมลูกทุกอย่าง และเมื่อจีนเริ่มร่ำรวยมากขึ้น เห็นได้จากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกที่อลังการณ์ ครอบครัวที่มีฐานะเลือกที่จะไม่ส่งลูกไปเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงปักกิ่งหรือนครเซี่ยงไฮ้ แต่เลือกที่จะส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

ผลคือ ความต้องการที่จะเข้าเรียนที่โรงเรียนประจำเหล่านี้ของชาวต่างชาติ มีมากกว่าจำนวนที่นั่งในโรงเรียนประจำที่สามารถจะรองรับได้ โดยอัตราการรับเข้าของบางโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากๆ บางแห่ง จะอยู่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

ความโชคดีของผมคือ โรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ได้พัฒนามาไกลมากจากจุดของการเป็นโรงเรียนทดลองของอังกฤษในต่างประเทศ ลองดูตัวอย่างจากลูกชายของผม ซึ่งปัจจุบันเรียนอยู่ปีที่ 3 ที่ Harrow International School Bangkok โรงเรียนนี้ถือเป็นโรงเรียนในรุ่นที่สองแล้ว มีประวัติความเป็นมาเกือบ 20 ปี โดยในปัจจุบัน มีทั้งลูกชายและลูกสาวของศิษย์เก่าก็เป็นนักเรียนอยู่ด้วย นอกจากนี้ หากมองด้านวิชาการ ก็เหมือนราวกับว่าลูกจะปราดเปรื่องกว่าพ่อ

เมื่อปีที่แล้ว มากกว่าครึ่งหนึ่งของ A Level และมากกว่า 2 ใน 3 ของ IGCSE ทั้งหมด ที่นักเรียน Harrow International School เข้าร่วมนั่งสอบด้วย จะได้คะแนะ A* หรือ A ซึ่งก็สามารถนำไปเทียบกับโรงเรียนที่ดีที่สุดในอังกฤษได้อย่างสบาย

ผมเชื่อว่า เมื่อผู้บริหารของ Harrow on the Hill ที่กรุงลอนดอน ได้เริ่มการขยายสาขาเมื่อ 20 ปีก่อน พวกเขาคงไม่สามารถนึกได้ว่า การร่วมมือดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้มากเท่านี้ ปัจจุบัน นักเรียนชายของ Harrow ที่กรุงลอนดอน จะต้องแข่งขันกับนักเรียนหัวกระทิของสาขาโรงเรียนที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ เมืองฮ่องกง กรุงปักกิ่ง และนครเซี่ยงไฮ้

เราต้องยอมรับว่า Harrow International School ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีประวัติหรูเท่ากับ Harrow on the Hill ที่กรุงลอนดอน ซึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระราชินี Elizabeth ที่หนึ่ง ให้ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1572 และเป็นโรงเรียนที่สามารถผลิตนายกรัฐมนตรีอังกฤษถึง 7 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย แต่ที่น่าแปลกใจคือ โรงเรียนในกรุงเทพฯ มองดูเหมือนเป็นอังกฤษมากกว่าที่อังกฤษอีก เป็นอะไรที่น่ารักมากเมื่อเห็นนักเรียนใส่หมวกสาน หรือ boaters และเสื้อนอกที่มีตราสิงโตติดอยู่บนกระเป๋าเสื้อ ในอากาศที่ร้อนระอุของกรุงเทพฯ

ในเวลาเดียวกัน หลานสาวผมได้เริ่มใน Lower Sixth Form ที่ Cheltenham Ladies College (CLC) ที่อังกฤษ ด้วยคะแนน 9 A* และ 1 A ใน IGCSEs สิ่งที่กำลังมีการถกเถียงกันที่บ้านเราคือ หลานสาวคนนี้ได้คะแนนยอดเยี่ยมขนาดนี้ จากความอดทนและความพยายามของตัวเธอเอง หรือจากการที่ได้รับการอบรมสั่งสอนที่ดีจาก CLC หรือจากทั้งคู่

นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ที่มีลูกที่กำลังจะไปศึกษาระดับมัธยมต้องไตร่ตรองให้ดี โดยต้องเลือกระหว่างการส่งลูกหลานของคุณไปเรียนในต่างประเทศตั้งแต่อายุยังน้อย หรือให้เรียนในโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ แล้วค่อยส่งไปเรียนต่อเมื่อโตแล้ว

นอกจากนี้ อย่าลืมคำนึงถึงประเด็นค่าใช้จ่าย การศึกษาที่ดีไม่ได้มีราคาถูก ถึงแม้ในมาตรฐานของโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยก็ตาม ครูที่มีมาตรฐานก็จะต้องถูกดึงตัวมาจากต่างประเทศ และสถานศึกษาด้านกีฬา อาทิ ว่ายน้ำ และกอล์ฟ เป็นต้น ก็ต้องได้รับทุนสนับสนุนอย่างมากเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของโรงเรียนชั้นนำในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

นอกจากการวิเคราะห์ด้านค่าใช้จ่ายเทียบกับสิ่งตอบแทนแล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ คุณต้องสอนให้ลูกคุณเป็นคนที่ดีรอบด้าน เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่การมีคะแนนดีเป็นสิ่งจำเป็นในการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ แต่ส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ ความสัมพันธ์กับคนอื่น การมีน้ำใจนักกีฬา และการมีกิจกรรมหลังเลิกเรียน ก็มีความหมายเช่นกัน ในเรื่องจากส่วนประกอบอื่นๆ พ่อแม่มีโอกาสที่จะโน้มน้าวลูกของตัวมากที่สุด เพราะฉะนั้น การตัดสินใจที่ยากที่สุดคือ จะส่งลูกไปตอนนี้ หรือรอไปก่อน